RESPAWSIBILITY เปลี่ยนมุมมอง ลดหมาแมวจรจัด

นอกจากแนวคิดการผลิตอาหารสัตว์ Formulated with Care ที่เน้นใส่ใจผู้บริโภค ใส่ใจสัตว์เลี้ยงแล้ว “บริษัท เกรทเทสท์เพ็ทแคร์ จำกัด” ผู้ผลิตอาหารสัตว์คุณภาพภายใต้แบรนด์ “อาหารสุนัขเกรทไททัน” และ “อาหารแมวลินคอล์” ยังมีแนวคิด Always There for Great Friends ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม และซัพพลายเชนทั้งระบบพิสูจน์ได้จากกระบวนการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงเทียบเท่ากับอาหารคน ตรงตามหลักโภชนาการ เน้นความสดและสะอาด ผ่านขั้นตอนการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้

ขณะเดียวกันยังมุ่งสร้างจิตสำนึกและสร้างความตระหนักให้กับสังคม ด้วยการปรับทัศนคติและพฤติกรรมของคนเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ เพื่อช่วยลดปัญหาสุนัขและแมวจรจัด รวมถึงปัญหาการทารุณสัตว์

เพราะถ้าเราเลี้ยงสุนัขและแมวให้ดี ไม่ทิ้งให้เป็นภาระ ไม่ทำความรำคาญให้สังคม คนที่ไม่ได้เลี้ยงก็จะมีทัศนคติที่ดีขึ้น อยู่ร่วมกันได้แบบเข้าใจกัน จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “RESPAWSIBILITY รักจริงไม่ทิ้งกัน”

“ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ” ประธานที่ปรึกษา บริษัท เกรทเทสท์เพ็ทแคร์ จำกัด กล่าวว่า กิจกรรม RESPAWSIBILITY รักจริงไม่ทิ้งกัน เป็นแคมเปญที่บริษัทต้องการให้คนเลี้ยงสัตว์ รักจริง เลี้ยงเหมือนกับการเป็นสมาชิกครอบครัวที่เราต้องดูแลทั้งชีวิต ไม่ทอดทิ้งให้เป็นภาระกับสังคม โดยเฉพาะการทอดทิ้งสุนัข ให้เป็นสุนัขจรจัด

เราจึงมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้เลี้ยงสัตว์ นอกจากการกินอาหารที่ดีแล้ว นิสัยการเลี้ยง การเอาใจใส่ก็ถือเป็นส่วนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่าปัญหาหมาแมวจรจัดที่เกิดขึ้นมาจาก 3 เรื่อง คือ ความไม่พร้อมในการเลี้ยง เพราะส่วนใหญ่จะเห็นเป็นความน่ารัก เทรนด์การเลี้ยงสัตว์ เลยซื้อมาเลี้ยงบ้าง ทั้งที่ยังไม่มีความรู้ว่าจะดูแลอย่างไร พันธุ์แบบนี้มีลักษณะนิสัยอย่างไร ชอบอะไรกินอะไร เหมาะสมกับสภาพครอบครัว สภาพที่อยู่อาศัยหรือไม่และเมื่อนำสัตว์มาเลี้ยงแล้วถือเป็นหนึ่งชีวิตที่ต้องดูแลไปอีกอย่างน้อย 7-10 ปี และมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่าตรวจสุขภาพ ค่าวัคซีน และอื่น ๆ อีกมาย รวมถึงเมื่อสัตว์เลี้ยงเกิดความเครียด กัดทำลายข้าวของ หรือทำร้ายคนในครอบครัว หรือผู้อื่น ปัญหาของรักชั่ววูบ ที่จะตามมา คือ สัตว์เลี้ยงไม่ได้รับการดูแลที่ดี เกิดการผสมพันธุ์จนมีลูกหลายตัว หรือปล่อยให้เป็นโรคตายบ้าง หรือในที่สุดก็ถูกนำไปปล่อยทิ้งเป็นหมาแมวจรจัด กลายเป็นปัญหาของสังคมที่ตามมา และนี่ถือว่าเป็นปัญหาหลักก็ว่าได้

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของความกลัว โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์กับเด็ก และผู้สูงอายุ ทั้งกลัวแพ้ขน กลัวความสกปรก กลัวสัตว์ทำร้ายลูก ซึ่งในความเป็นจริง เราสามารถฝึกวินัยให้กับสัตว์ได้ และเมื่อมีความกลัวเหล่านี้อยู่ หลาย ๆ คนก็เลือกนำสัตว์ไปปล่อย หรือประกาศหาบ้านใหม่ให้สุนัขหรือแมว

เรื่องสุดท้าย คือ การเลี้ยงแบบปล่อย โดยไม่ทำอะไรเลย ไม่รักษา ไม่ดูแล ไม่ทำหมัน ปล่อยข้างถนน ตรงนี้กลายจะเป็นปัญหาแมวจรจัด หมาจรจัดในอีกทางหนึ่ง เพราะจากสถิติ สุนัขหนึ่งตัวเจริญพันธุ์เป็นระยะเวลา 10 ปี และมีลูกได้ปีละ 12 ตัว ฉะนั้นถ้าไม่ดูแล ไม่มีการควบคุมประชากร ตลอดช่วงอายุของมันจะมีลูกได้ถึง 120 ตัว

“ธนพิศาล” กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจประชากรสุนัข และแมว ของกรมปศุสัตว์ ในปี 2559 ระบุว่า จำนวนสุนัขทั้งหมดในประเทศไทยมีอยู่ 6.7 ล้านตัว และเป็นสุนัขจรจัดราว 7.5 แสนตัว ในขณะที่จำนวนแมวมีอยู่ 3 ล้านตัว และเป็นแมวจรจัดประมาณ 4.8 แสนตัว

แนวทางในการจะร่วมแก้ไขและดูแลปัญหาในสังคมไทยเรื่องหมา-แมวจรจัดได้นั้น เรื่องการทำหมันและการร่วมบริจาคอาหาร ถือเป็นการแก้ไขปลายเหตุ จึงต้องหยุดปัญหาเหล่านี้จากต้นเหตุ โดยกระตุ้นจิตสำนึกและความตระหนักให้กับคนในสังคม

โดยในกิจกรรมรักจริงไม่ทิ้งกัน เราจะเน้นการทำกิจกรรมสื่อสาร และกิจกรรมกับชุมชนคนรักสัตว์ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดี ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจในแต่ละประเด็นไปตลอดทั้งปี 2561 ตลอดทั้ง 4 ไตรมาส โดยไตรมาสที่ 1 เป็นการเน้นการดูแลสุขภาพให้ดี healthy paws จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่ารักษาได้มาก

ไตรมาสต่อมาจะเน้นเรื่องการเลี้ยงอย่างไรไม่ให้เสียหมา เสียแมว เลี้ยงให้เป็น เข้าใจพฤติกรรม ฝึกสัตว์ให้เป็น เพื่อไม่ให้สัตว์มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายข้าวของ ไตรมาสที่ 3 จะเป็นเรื่อง happy family คนอยู่ดี หมาอยู่สุข ซึ่งจะเป็นการสื่อสารทำความเข้าใจกับเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะกลัว และเข้าใจผิดทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ การเลี้ยงเด็ก และผู้สูงอายุ ที่อยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยง

และไตรมาสสุดท้ายรักจริง ไม่ทิ้งกัน หมาหมู่หยุดหมาจร จะเป็นการรวมพลคนรักหมา ทำกิจกรรมเลี้ยงสัตว์ให้รับผิดชอบ เช่น การจูงหมาในที่สาธารณะ ต้องทำอย่างไร รวมถึงการดูแลและกำจัดมูลของสัตว์ไม่ให้เลอะเทอะในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงจะมีการร่วมกันจัดกิจกรรมให้กับหมาจรจัด โดยหน่วยงานและมูลนิธิช่วยเหลือสัตว์จรจัดอีกด้วย

“ธนพิศาล” บอกว่า เป้าหมายคือต้องการสร้างความตระหนักให้กับสังคม แม้ว่าจะเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ขับเคลื่อนไปทีละนิด แต่เชื่อว่าสังคมจะค่อย ๆ ซึมซับ เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนทัศนคติในเลี้ยง และการอยู่ร่วมกันในสังคม

กิจกรรม RESPAWSIBILITY จึงมุ่งไปที่การเลี้ยงให้ดี เลี้ยงให้เป็น เลี้ยงแล้วต้องรับผิดชอบ อยู่ร่วมกันได้ ในแบบที่ไม่สร้างความเครียดให้กับทั้งคนและสัตว์เลี้ยง เพราะถ้าผู้เลี้ยงสัตว์ และสังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ปัญหาสัตว์จรจัดที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมจะหายไปในที่สุด