ADFEST Young Lotus ปลุกพลัง “ครีเอทีฟ” ต่อยอดธุรกิจ

มหกรรมโฆษณาเอเชีย-แปซิฟิก 2566 ครั้งที่ 26 หรือ ADFEST 2023 โดยสมาคมโฆษณาเอเชีย-แปซิฟิก นับเป็นงานอีเวนต์รายปีระดับนานาชาติ สำหรับบุคลากรธุรกิจโฆษณา โดยในปีนี้กลับมาจัดใหญ่อีกครั้ง หลังจากหยุดไปเมื่อปี 2563-2565 เพราะสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

สำหรับการจัดงานปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทยในธีม “RISE” ด้วยการสื่อถึงภาพบวกของการกลับมาของอุตสาหกรรมโฆษณา และคนทำงานโฆษณา หลังจากซบเซามาหลายปี ซึ่งปี 2566 จึงเป็นโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมที่สดใสกว่าเดิม ที่มีทั้งความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น และพลังของคนทำงาน

ทุก ๆ ปี ADFEST จะมีกิจกรรม Young Lotus Workshop ซึ่งเป็นโปรแกรมสอนงานระบบพี่เลี้ยง (mentoring) ที่ดำเนินมายาวนานในอุตสาหกรรมโฆษณา โดยแต่ละปีเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม และจัดหา mentors จากเครือข่ายเจ้าภาพ (Young Lotus Committee)

โดยผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในเวิร์กช็อปเป็นคนรุ่นใหม่ในสายงานการโฆษณาที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี แต่สำหรับปี 2566 มีการขยายอายุไม่เกิน 33 ปี เนื่องจากมีการยกเลิกจัดงานเมื่อ 3 ปีก่อนหน้า

ปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 30 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของ 15 เมืองจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ได้แก่ ไทย, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, อินเดีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, เกาหลี, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และเป็นครั้งแรกของ สปป.ลาว

“วินิจ สุรพงษ์ชัย” ประธาน ADFEST กล่าวว่า งาน ADFEST จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2541 ช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และส่งเสริมความหลากหลายของวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยปี 2566 มีผลงานโฆษณาเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 1,699 ชิ้นงาน ใน 20 ประเภท

และมีบุคลากรในสายความคิดสร้างสรรค์ สายการผลิตงานโฆษณาทุกแขนง และนักการตลาดจากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 762 คน จาก 44 เมืองในภูมิภาคต่าง ๆ

นอกจากการประกวดผลงานโฆษณาเพื่อชิงรางวัล Lotus ในประเภทต่าง ๆ เป้าหมายสูงสุดของเราคือการเป็นแหล่งการเรียนรู้ และแรงบันดาลใจสำหรับคนในสายงานครีเอทีฟ ADFEST จึงจัดเตรียมทีมผู้บรรยายเชิงลึกถึง 33 คน ที่มาจากเอเยนซี่โฆษณา ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อทุกประเภทจากทั่วโลกที่มาบรรยายมากกว่า 30 หัวข้อ เช่น เรื่องความยั่งยืน และเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความสร้างสรรค์

“สำหรับ Young Lotus Workshop เป็นหัวใจสำคัญของ ADFEST ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์ (creatives) รุ่นใหม่ สะท้อนถึงความตั้งใจของ ADFEST ในการใช้องค์ความรู้ตอบแทนอุตสาหกรรมโฆษณา และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักครีเอทีฟรุ่นต่อไป โดยผู้เข้าร่วม Young Lotus Workshop ไม่เสียค่าธรรมเนียม มีที่พัก และอาหารฟรี”

ปีนี้ Young Lotus Workshop จัดโดย Ogilvy Asia-Pacific ภายใต้เวิร์กช็อปธีม “Ogilvy X Borderless Creativity” โดยใช้เวลา 2 วันครึ่งกับกิจกรรมพูดคุย ให้คำปรึกษา และให้โจทย์ที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องลงมือสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการภายใน 24 ชั่วโมง

โดยโจทย์ปีนี้เป็นการให้คิดไอเดียโฆษณาสำหรับเครื่องดื่มท้องถิ่นของประเทศต่าง ๆ ซึ่งทีมที่เข้ารอบสุดท้ายจะนำเสนอผลงานบนเวทีต่อหน้าผู้แทนจาก ADFEST และผู้ชนะ Young Lotus และ Popular Vote จะได้รับการประกาศบนเวทีในงานมอบรางวัล

“รีด คอลลินส์” Chief Creative Officer โอกิลวี่ เอเชีย-แปซิฟิก และประธานร่วมของ Young Lotus กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน Young Lotus Workshop ดังนี้คือ

หนึ่ง เพื่อฝึกคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสู่แนวคิดที่มีประสิทธิภาพ

สอง เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นนักครีเอทีฟรุ่นใหม่ในภูมิภาค

สาม เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมโฆษณา และการสื่อสารในภูมิภาคสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

สี่ เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถ

ห้า เพื่อกระตุ้นให้ครีเอทีฟรุ่นใหม่กระชับความสัมพันธ์กับคนในอุตสาหกรรมโฆษณา

“ส่วนธีม Ogilvy X Borderless Creativity คือการนำเสนอปรัชญาความคิดสร้างสรรค์ไร้พรมแดนของโอกิลวี่ รวมถึงเปิดโอกาสให้นักครีเอทีฟได้คิดนอกกรอบ และก้าวข้ามขอบเขตโลกแห่งความเป็นจริง โดยโอกิลวี่เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายเอเยนซี่มากที่สุด และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนเก่ง ๆ ที่มีที่มาแตกต่างกัน รวมถึงมีความสามารถ และภูมิหลังที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้คือ diversity ที่ช่วยให้การทำงานดีขึ้นและสนุกสนานยิ่งขึ้น”

สำหรับผู้ชนะ Young Lotus คือ Saffanat Husain และ Kishwar Kaniz Tanzim จาก Asiatic Marketing Communications เมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ ด้วยผลงาน “It’s Time for a Face Cool Off”

ขณะที่รางวัล Popular Vote ได้แก่ Ichiyu Yasumoto และ Yutaro Takada จาก ADK Marketing Solutions Inc. เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากผลงาน “Mr Hit”

“ส่วนความคาดหวังจากนักครีเอทีฟรุ่นใหม่ที่เข้าร่วม Young Lotus ปีนี้คือ การพัฒนาตนเองเพื่อพิชิตความท้าทายในอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป โดยความท้าทายที่สำคัญของนักครีเอทีฟรุ่นเยาว์ต้องเผชิญในปัจจุบันคือ การทำทุกอย่างในเวลาที่เร่งรีบกว่านักโฆษณาในอดีต เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว การแข่งขันสูงขึ้น แรงกดดันที่มากขึ้น และเงินทุนของลูกค้าที่ให้กับงานโฆษณามีน้อยลง

ดังนั้น การที่นักครีเอทีฟจะประสบความสำเร็จในสายอาชีพจะต้องมีคุณลักษณะที่มีความกระตือรือร้นที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับอุตสาหกรรม ศึกษาเครื่องมือใหม่อยู่เสมอ และความกล้าที่จะกระโจนเข้าหาสิ่งใหม่ ๆ”

ซึ่งโควิด-19 กระทบต่อรูปแบบการผลิตผลงานโฆษณาพอสมควร ฉะนั้น จึงมีแบรนด์มากมายที่พูดถึงการมีสุขอนามัย และสุขภาพจิตที่ดี และลูกค้าก็เน้นการสื่อสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่มีรายละเอียดชัดเจน มากกว่าการแสดงความคิดสร้างสรรค์

นับว่า Young Lotus ไม่เพียงให้มุมมองของคนวงในโฆษณาที่ไร้พรมแดน หากยังทำให้บุคลากรธุรกิจโฆษณารุ่นใหม่ได้เรียนรู้เคล็ดลับและกลเม็ดที่ไม่มีอยู่ในตำราเรียนใด ๆ และจะไม่ได้รับการสอนในชั้นเรียนการโฆษณาทั่วไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์มาก จนทำให้ครีเอทีฟกลุ่มนี้โดดเด่นกว่าคนอื่นในตลาดแรงงาน