ปีแห่งความท้าทาย HR (จบ)

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ดร.จิราพร พฤกษานุกุล บริษัท อินดิโก คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด

สำหรับบทบาทของ HR ในส่วนนี้จะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นที่ปรึกษาให้ผู้บริหารและหัวหน้างานแทน (อ่านตอนแรกได้ที่นี่ >>ปีแห่งความท้าทาย HR (1) )

3.อาจกล่าวได้ว่า ปี 2561 เป็นปีของการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับกับรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยี ระบบอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติ

โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย มีธุรกิจเกิดใหม่จำนวนไม่น้อยที่เติบโตขึ้น มีธุรกิจแบบดั่งเดิม หรืองานบางอย่างหมดความจำเป็น หรือปรับเปลี่ยนบทบาทไป อาทิ การเติบโตของธุรกิจและการซื้อขายผ่านออนไลน์อย่างรวดเร็วในรอบ 2 ปีมานี้

จนทำให้ซูเปอร์สโตร์หลัก ๆ ของบ้านเราต้องปรับรูปแบบการขายสินค้าโดยเพิ่มช่องทางออนไลน์เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ การเติบโตของการค้าออนไลน์ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตตามไปด้วย เกิดผู้ทำธุรกิจจัดส่งสินค้าขึ้นมาหลายเจ้า ที่ทำการไปรษณีย์กลายเป็นศูนย์จัดส่งสินค้า

ในอีกมุมหนึ่งอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ทั้งสื่อ และผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่างผู้ผลิตกระดาษ และอื่น ๆ จะกลับอยู่ในสถานการณ์ที่ถดถอย และมองหาแนวทางเพื่ออยู่รอด เพราะผู้บริโภค เสพสื่อและรับข่าวสารจากออนไลน์

เมื่อหน้าบ้านเปลี่ยน หลังบ้านก็ต้องเปลี่ยน หากรูปแบบธุรกิจ (business model) เปลี่ยนรูปแบบและหน้าที่การทำงานของคนในองค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย บางตำแหน่งงานอาจต้องลดบทบาทลง หรือถูกยุบ บางสายงานต้องเพิ่มเสริมเข้ามาแทนที่ ทักษะความรู้ความสามารถอัตรากำลังคนต้องปรับตาม กระทบกันเป็นลูกโซ่ ให้สอดรับกับรูปแบบของธุรกิจ

นอกจากนี้ นัก HR ยังต้องการจัดวางแผนกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งระบบ และวิธีการทำงาน ในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับคนแต่ละเจเนอเรชั่นในที่ทำงาน เช่น งานแบบไหนที่สามารถยืดหยุ่นการทำงานให้เข้างานสาย หรือสามารถทำจากที่บ้านได้บ้าง เป็นต้น

4.ในปีนี้จะเห็นรูปแบบการพัฒนากระบวนการทำงาน และขั้นตอนการทำงานขององค์กร ที่มุ่งสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) สัมผัสว่านี่คือองค์กรยุคใหม่ โดยจะเน้นระบบและรูปแบบการทำงานที่กระชับ ไม่ซับซ้อน เข้าถึงง่าย มุ่งให้เกิดประสิทธิภาพการทำงาน และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีเป็นสำคัญ เช่น จำนวนแบบฟอร์มเอกสารก็ลดลง การประชุมต่าง ๆ จะมีรูปแบบง่าย ๆ เน้นไปที่การปฏิบัติงาน ที่เห็นบ่อย ๆ คือหลังจบประชุมก็นำสิ่งที่หารือไปปฏิบัติได้ทันที

ตลอดจนตัวชี้วัดการดำเนินงาน หรือ KPI จากเดิมที่เคยตั้งไว้หลายข้อจะลดลงเหลือเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจสำคัญของงานหลักเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น โดยเฉพาะขั้นตอนที่เกี่ยวกับการบริการลูกค้า จากที่ลูกค้าจะต้องกรอกข้อมูลยาว ๆ จำนวนมาก หรือข้อมูลที่ซ้ำซ้อนเหมือนกันทุกครั้ง จะเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่นลูกค้าเพียงแค่แจ้งหมายเลข ID หรือรหัส หรือชื่อข้อมูลเฉพาะองค์กร ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ที่เหลือจะดูจากฐานข้อมูลลูกค้า ซึ่งภาพขององค์กรยุคใหม่จะผูกติดกับเทคโนโลยี ดังนั้น หน้าที่ของ HR คือการทำระบบการดำเนินงานที่ช่วยลดขั้นตอนดังกล่าว

5.เราจะเห็นภาพองค์กรภาครัฐ และองค์กรในกำกับของรัฐ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการจัดการองค์กรรัฐสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานการให้บริการประชาชน ความโปร่งใสในการทำงาน เครื่องมือในการบริหารจัดการที่หน่วยงานรัฐให้ความสนใจ และนำมาใช้จะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยปรับกระบวนการในการทำงาน อาทิ KPI, competency ตลอดจนโปรแกรมการพัฒนาเจ้าหน้าที่และพนักงานของหน่วยงาน

กล่าวโดยสรุป ในปี 2561 จะเป็นอีกปีที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องเผชิญกับคลื่นแห่งความท้าทาย ทั้งเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ การปรับบทบาทให้เป็นคู่หูทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม การปรับเปลี่ยนระบบหลังบ้าน และวางแผนความพร้อมเรื่องคนให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และการพัฒนาระบบต่าง ๆ ในองค์กรเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดที่ HR ต้องรับมือในปีนี้คือการทำให้เกิดขึ้นจริง และเป็นรูปธรรม