9 พรรคเห็นพ้อง หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ จ้างงาน-เงินบำนาญถ้วนหน้า

เวที Policy Dialogue ครั้งที่ 2

สช.ชักชวน IHPP คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 2 เชิญผู้แทน 9 พรรคการเมืองเสนอนโยบายหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 2 เรื่อง “ตอบโจทย์ประชาชน : พรรคการเมืองกับนโยบายสวัสดิการ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการของรัฐรองรับสังคมสูงวัยของพรรคการเมือง ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

สำหรับเวทีนี้ สช.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิดพื้นที่กลางให้ผู้แทนพรรคการเมือง จำนวน 9 พรรคการเมือง ได้เข้าร่วมนำเสนอนโยบายการสร้าง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” และการจัดหางบประมาณมาดำเนินการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันซักถาม แลกเปลี่ยน และเสนอแนะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการรองรับสังคมสูงวัย

ทั้งนี้ ผู้แทน 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล, ดร.พรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า, ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา, นายปริเยศ อังกูรกิตติ พรรคไทยสร้างไทย, ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม พรรคประชาธิปัตย์, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พรรคพลังประชารัฐ, ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย, นายศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ

สำหรับสาระสำคัญบนเวทีผู้แทนพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรค ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้าต่อยอดจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

และทุกพรรคมีนโยบายที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ ถือเป็นสัญญาประชาคมของพรรคการเมืองที่ให้กับประชาชนเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ และเป็นไปตามเป้าหมายของ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เรื่องหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งได้รับฉันทามติจากทุกภาคส่วนในสังคมที่เห็นร่วมกันว่าประเทศไทยมีความจำเป็น และมีความพร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม

ประกันรายได้ผู้สูงอายุ 5 เสาหลัก

ผู้แทน 9 พรรคการเมืองยังได้นำเสนอนโยบายของพรรคตัวเอง โดยพบว่ามีแนวนโยบายที่สอดคล้องกับ 5 เสาหลัก ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ไม่ว่าจะเป็น

1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร เช่น มีนโยบายขยายอายุการเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี ให้ผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพในการทำงานสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ มีการจัดฝึกอบรม reskill และ upskill เพื่อเติมองค์ความรู้และทักษะการทำงานที่เหมาะสมให้กับผู้สูงวัย เป็นต้น

2. การออมระยะยาว เช่น ให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้เกิดระบบการออมเงินอย่างถ้วนหน้า เพิ่มปริมาณการออมภาคสมัครใจ โดยยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จูงใจให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่อายุไม่มาก เพื่อได้รับเงินตอบแทนในบั้นปลายที่มากขึ้น รวมไปถึงการทำพันธบัตรป่าไม้ โดยนำพื้นที่มาปลูกไม้ยืนต้นและนำต้นไม้ไปขายเป็นพันธบัตรกับนักลงทุนในต่างประเทศได้ ตลอดจนแนวคิดการขายคาร์บอนเครดิตในแรงงานภาคการเกษตร เป็นต้น

3. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ เช่น นโยบายเงินบำนาญผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท และเพิ่มขึ้นตามระดับอายุตามภาระการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น นโยบายการให้เงินผ่าน digital wallet สำหรับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้รับ 10,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายร้านค้าใกล้บ้านภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ

การจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัยให้บ้านละ 5 หมื่นบาท รวมถึงการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านหรือธนาคารชุมชน ด้วยเงินหมุนเวียนแห่งละ 2 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขในการนำเงินไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น

4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และ long-term care เช่น ปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน โดยแยกระบบดูแลสุขภาพออกจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แห่งเดียว

การตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยให้คนละ 9,000 บาทต่อเดือน ยกระดับการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหัวใจหลัก การให้กรมธรรม์ประกันชีวิตจำนวน 1 แสนบาทกับผู้สูงวัยทุกคน พร้อมเป็นแหล่งเงินที่สามารถกู้ยืมมาใช้ในระหว่างดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น

5. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เช่น นโยบายการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในทุกหมู่บ้าน โดยมีเงินอุดหนุนปีละ 3 หมื่นบาท วางเป้าหมายสร้างอาสาสมัครบริบาลในท้องถิ่น รวม 1 แสนอัตรา เพื่อมาช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น

แนวทางจัดหางบประมาณ

ผู้แทนพรรคการเมืองยังได้ร่วมกันให้คำตอบถึงประเด็นสำคัญอย่างเรื่องของ “แหล่งงบประมาณ” ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยมีหลายแนวทางที่สอดคล้องกัน เช่น การปรับลดงบประมาณ หรือรีดไขมันที่ไม่จำเป็น เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตัวเลขจีดีพีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 5-6%

การลดหนี้ครัวเรือน การเจรจาการค้ากับต่างประเทศเพิ่ม การผลักดัน health & wellness center เพื่อดึงดูดผู้สูงวัยจากต่างประเทศให้เข้ามารับการดูแลในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างงานได้หลายแสนตำแหน่ง ตลอดจนการนำระบบ blockchain เข้ามาปรับใช้ เพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งจะช่วยดึงงบประมาณที่สูญเสียไปได้ด้วยในตัว

ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น สวนทางวัยแรงงานลดลง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมการดูแลประชาชนทุกคนจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

“ขณะนี้ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นสวนทางกับวัยแรงงานที่ลดลง และในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งในแง่สุขภาพ เศรษฐกิจ ความมั่นคงในชีวิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบการจัดสวัสดิการเพื่อรองรับผู้สูงวัยอย่างถ้วนหน้า”

นโยบายเรื่องสวัสดิการรองรับสังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายพรรคการเมืองมีการตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก มีการเสนอนโยบายสร้างสวัสดิการความมั่นคงทางการเงินให้ผู้สูงอายุอย่างหลากหลายในระหว่างการหาเสียงที่เป็นพันธสัญญาของพรรคกับประชาชน

ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวทางสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มองว่าประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะนำไปสู่การมี “ระบบหลักประกันรายได้” ที่จะต้องดำเนินการภายใต้ 5 เสาหลัก

ทำงานทั้งชีวิต ยิ่งทำยิ่งจนลง

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสองผู้ดำเนินการบนเวที Policy Dialogue ครั้งนี้ ได้สรุปตอนท้ายว่า การสร้างระบบหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์คนกลุ่มเฉพาะเจาะจง นับเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการพูดคุยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอทางวิชาการมากมาย บนความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ว่าประเทศไทยควรจะมีอะไรบ้าง เพื่อคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงวัย

“เราต้องเข้าใจสภาพปัญหาของประเทศนี้ มีคนจำนวนมากยังต้องทำงานทั้งชีวิตโดยที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ยิ่งทำงานก็ยิ่งจนลงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงย้อนกลับไปสู่โจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้ระบบบำนาญแห่งชาติเกิดขึ้นได้จริงหรือเป็นไปได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงดีใจที่ได้เห็นแนวคิดที่สอดคล้องจากหลายพรรคการเมือง และหวังว่าจะเกิดการผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ของรัฐบาลและในสภาต่อไปอย่างจริงจัง”

คนไทยแก่ก่อนรวย

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหาร สช. กล่าวว่า หลายคนชอบเปรียบเปรยว่าประเทศไทยแก่ก่อนรวย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อน ทำให้ดูเหมือนกับไม่เคยเตรียมการอะไรไว้ หากแต่ในฐานะประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย

ขอยืนยันว่าไทยได้เตรียมการเข้าสู่สังคมสูงวัยมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่ปี 2525 ที่ไทยได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ตามมาด้วยการเกิดขึ้นหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม ในปี 2534 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในปี 2545 เกิด พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในปี 2546 ตามมาด้วยกองทุนผู้สูงอายุ และ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ตามมาในปี 2554 เป็นต้น

“ระบบกองทุน การออมต่าง ๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้ถูกผลักดันและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง จึงหวังว่าตัวแทนทั้ง 9 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมในเวทีนี้ และถือเป็นผู้กล้าหาญในการเข้ามาทำงานที่ยากยิ่ง จะสามารถฟันฝ่าให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงและสำเร็จได้” นพ.วิชัยกล่าว