เทคคอมปะนีปลดคน แล้วตลาดแรงงานไทยเป็นอย่างไร ?

ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ปลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง เกิดอะไรขึ้น และแนวโน้มตลาดแรงงานไทยเป็นอย่างไร

ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ JobsDB Thailand (จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาตลาดแรงงานไทยเติบโตขึ้นมาก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่แล้วมาจนถึงตอนนี้ และน่าจะยังเติบโตต่อไปอีก ด้วยความที่ไทยเปิดประเทศด้วย ทำให้ภาคของการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น และมีความต้องการในเรื่องการหาแรงงานจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการเองมีความมั่นใจมากขึ้นในแง่ของการทำธุรกิจ

แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ในปี 2566 ตลาดแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงยังคงคึกคัก โดยจากผลสำรวจใหม่ล่าสุดในหัวข้อ สิ่งที่ผู้สมัครอยากให้ผู้ประกอบการรู้ : อนาคตแห่งการจ้างงาน และการสรรหาที่เปลี่ยนไป” (What Job Seekers Wish Employers Knew : Unlocking the Future of Recruitment) ที่ SEEK (ซีค) บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ชั้นนำของเอเชียอย่าง JobStreet (จ๊อบสตรีท) และ JobsDB (จ๊อบส์ดีบี) ร่วมกับบริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด และ The Network (เดอะ เน็ตเวิร์ค) ในการจัดทำระบุว่า 34% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังมองหางานใหม่

ทั้งนี้ เหตุผล 3 อันดับแรกที่ทำให้ผู้สมัครงานเริ่มมองหางานใหม่คือ ต้องการมองหาตำแหน่งที่น่าสนใจกว่าหรือตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม (49%), งานที่ทำอยู่ปัจจุบันมีโอกาสในการเติบโตน้อย (30%) และเงินเดือนและสวัสดิการในปัจจุบันยังไม่น่าพอใจ (27%)

“คนต้องการความมั่นคง เพราะช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ คนมีความรู้สึกของความไม่มั่นคงในเรื่องของการทำงานอยู่พอสมควร และก็มีข่าวเรื่องของการ layoff (การเลิกจ้าง) และการปิดบริษัทอยู่พอสมควร แต่พอมาหลังโควิด-19 ซาลง ผู้หางานต้องการหาในเรื่องของความสมดุล ในแง่ work-life balance ที่อาจจะเกี่ยวข้องไปจนถึงเรื่องของการ hybrid model, การทำงานจากบ้าน (work from home) สลับกับการทำงานที่สำนักงาน (work from office)

ซึ่งเหมาะกับชีวิตในกรุงเทพฯ ที่รถติดมาก ดังนั้น ไฮบริดโมเดลจึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ทำงานในกรุงเทพฯมาก ๆ อย่างที่สองคือ career path ทุก ๆ คนที่เข้ามาทำงานก็อยากจะเห็นว่าเส้นทางการเติบโตเป็นอย่างไรบ้าง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้หางานจะพิจารณาในแง่ของการที่จะเข้ามาทำงานในบริษัท”

เทคคอมปะนีปลดคน จะเกิดขึ้นที่ไทยไหม ?

เรื่องของบริษัทเทคต่างประเทศ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา และยุโรป ปลดคนจำนวนมาก หากถามว่าจะเกิดที่ประเทศไทยหรือไม่ คงต้องตอบว่า บริษัทเหล่านี้เวลาเขา layoff เขาทำทั่วโลก จะมีผลกระทบที่ไทยคงขึ้นอยู่กับว่าตำแหน่งงานไหนที่บริษัทนั้น ๆ ไม่ต้องการมากกว่า คงไม่ได้มองว่าจะมีผลกระทบที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะกระทบกับตำแหน่งที่ไม่จำเป็น หรือในตำแหน่งงานที่อาจจะไม่ได้เป็นทิศทางของบริษัทแล้ว

สาเหตุมาจากการคาดการณ์คลาดเคลื่อนในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ๆ โดยในช่วงนั้น ทุกอย่างถูกเร่งมาเป็นออนไลน์และดิจิทัลมากขึ้น จึงมีงานอะไรหลาย ๆ อย่างที่บริษัทเทคเหล่านั้น คิดขึ้นมาเพิ่มมากขึ้น และต้องการที่จะผลักดัน เพื่อสร้าง impact หรือ result ให้ได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น จึงลงทุนหรือการขยายงานในบางส่วนมากเกินกว่าปกติ แล้วปรากฎว่า พอผ่านช่วงโควิด-19 เบาลงแล้ว ผลประกอบการที่ได้จากการลงทุนเรื่องคน อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็ทำให้ต้องเกิดการ layoff ครั้งใหญ่ขึ้น

ความภักดีต่อองค์กรไม่จำเป็นอีกต่อไป ?

เมื่อคนรุ่นใหม่ตัดสินใจลาออกจากงานเร็วขึ้น และมีกระแสว่า ความภักดี (loyalty) ต่อองค์กรไม่จำเป็นอีกต่อไป แล้วหาเป็นเช่นนี้ องค์กรต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ถึงจะดึงคนให้อยู่ได้ ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดวงพร” กล่าวว่า อันดับแรก องค์กรอาจจะต้องเข้าใจความต้องการคนรุ่นใหม่ก่อนว่าเขาต้องการอะไร รวมถึงเข้าใจพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มของ talents ซึ่งในปัจจุบันคนกลุ่มนี้พร้อมที่จะเป็น job hopper โดยไม่กลัวความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอีกต่อไป

ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่า ตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 มา องค์กรหลาย ๆ แห่งได้มีการปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการวัดผลการทำงาน โดยปรับเปลี่ยนมาเป็นการพิจารณาจากผลงานมากกว่ากระบวนการปฏิบัติงาน รวมถึง ค่านิยมเกี่ยวกับสวัสดิการบางอย่างสำหรับคนกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะคนรุ่นใหม่มีแนวคิดที่เป็น Job hopper เปลี่ยนงานบ่อย

ดังนั้น สวัสดิการบางอย่าง เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้มีความภักดีต่อองค์กร หรือ ความต้องการที่อยากได้ค่าสมาชิกฟิตเนส คลับ มากกว่าการได้สวัสดิการประกันกลุ่ม เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ องค์กรควรมีการทำการสำรวจ เรื่องผลตอบแทนของพนักงานเป็นประจำทุกปี เพื่อสำรวจว่าผลตอบแทนของเรายังสามารถสู้กับองค์กรอื่นได้ในตลาด

เนื่องด้วยสิ่งที่สำคัญที่สุดของคนกลุ่ม talent นี้ คือ มีความต้องการในการเป็นที่รู้รับและยกย่องเชิดชูสำหรับทุกความสำเร็จของตน ซึ่งองค์กรควรมีช่องทาง สำหรับในส่วนนี้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอให้ถึงสิ้นปีแล้วปรับเงินเดือน หรือจ่ายโบนัส