เครือข่าย SUN Thailand ชูมหา”ลัยสีเขียวสู่ความยั่งยืน

จากแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development-SD) โดยคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และพัฒนาที่นิยามไว้ในเอกสารรายงานที่ชื่อว่า “อนาคตของเรา” ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอต่อสหประชาชาติ ในปี 1987 ที่ระบุว่า…การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นต่อไป

เพราะขณะนั้น ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา ต่างตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาที่มุ่งเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว ส่งผลทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และเกินขีดจำกัด ในขณะเดียวกัน ประชากรในประเทศที่ยากจนยังมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เหมาะกับการดำรงชีวิตได้

จนกระทั่งการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 70 ในปี 2015 ชาติสมาชิก 193 ประเทศได้ใช้เวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนในการรับรอง “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” รวมถึง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) 17 เป้าหมาย” โดยจะเป็นทิศทางของการพัฒนาโลกต่อไปอีก 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2016-2030

โดยแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน จะให้ความสำคัญกับการบูรณาการระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศจะนำไปเป็นกรอบหรือทิศทางของการพัฒนาประเทศ ทั้งแง่การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษย์ โดยสิ่งเหล่านี้ส่งผลดีต่อคนในรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคตต่อไป

ไม่เพียงแต่ภาครัฐบาล ภาคเอกชนเท่านั้น ที่จะให้ความสำคัญ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในขณะที่ “สถาบันการศึกษา” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษา และวิจัยเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปถ่ายทอด และประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิด “เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน” หรือ “SUN Thailand (Sustainable University Network of Thailand)” เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงาน ทั้งยังเป็นการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนอันจะเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และสร้างความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศให้สอดคล้องเชื่อมโยงต่อบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติต่อไป

ล่าสุด “มหาวิทยาลัยมหิดล” และ “SUN Thailand” ร่วมกันจัดงาน “From Green To Sustainable University” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ โดยมีตัวแทนจาก 24 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยมาร่วมงาน

ภายในงานมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประสบการณ์จากเกาหลีใต้สู่แนวทางเริ่มต้นสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว” โดย “ศ.แท ยุนปาร์ค” จากมหาวิทยาลัยยอนเซ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งด้านกายภาพ และการเรียนการสอน จนติดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในเอเชีย

“ศ.แท ยุน ปาร์ค” กล่าวในเบื้องต้นว่า การดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยยอนเซจะเน้นการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ทั้งลดพื้นที่จอดรถ ลดขยะจากอาหาร และจัดระเบียบการใช้พลังงาน ตลอดจนทำให้กระบวนการในการปฏิบัติงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ทั้งการใช้พลังงานทดแทน หรือการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่

“ที่สำคัญ เรามีหลักสูตร และการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งการพัฒนาวิชาที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสีเขียว การดำเนินโครงการ และกิจกรรมในหอพักที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมงานวิจัย และกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โครงการแข่งขันการประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกัน เรายังมีการรวมตัวของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมการเป็นมหา”ลัยสีเขียว”

“ซึ่งมีการจัดตั้งสมาคมเกาหลีเพื่อการเริ่มต้นเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Korean Association for Green Campus Initiative : KAGCI) ในการส่งเสริมการศึกษา และวิจัยอย่างยั่งยืน ทั้งยังริเริ่มการรักษาสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานด้วย”

นอกจากนั้น “ศ.แท ยุน ปาร์ค” ยังสนับสนุนวัฒนธรรมการอนุรักษ์พลังงานผ่านการร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยของเกาหลีจะต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพื่อลดการเพิ่มปริมาณของก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้น ส่วนหน้าที่ของ KAGCI จะดูแลบริหารจัดการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ภายในมหาวิทยาลัย (green management in the university) ทั้งการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยสีเขียว การจัดตั้งคณะกรรมการในแต่ละมหาวิทยาลัยสมาชิกเพื่อทำงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสนับสนุนการจัดจำหน่ายวัสดุผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยสีเขียวเพื่อนำรายได้มาใช้ในการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ”

“ที่สำคัญ ยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (environment-friendly campus) ด้วยการสร้างรายการสิ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก การออกแบบอาคาร สถาปัตยกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีโครงการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน”

“ศ.แท ยุน ปาร์ค” กล่าวเพิ่มเติมว่า KAGCI ยังสร้างความยั่งยืนผ่านโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและการวิจัย (sustainable education and research infrastructure) ด้วยการจัดทำนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสีเขียวมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และจัดค่ายอบรมผู้นำสีเขียว

“ตลอดจนการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น (activities with local communities) ทั้งการทำโครงการร่วมมือกันภายในโรงเรียน การสร้างความร่วมมือในชุมชน การจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“ดังนั้น หากมองทิศทางต่อไปในอนาคตของมหาวิทยาลัยยอนเซในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เรามองถึงความสำคัญเชิงมิติต่าง ๆ ทั้งการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้พลังงานทดแทนต่าง ๆ การมุ่งให้เกิดบริโภคอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา และที่สำคัญคือ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยสีเขียวให้กับประเทศในอาเซียน”

ขณะที่ “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รักษาการในตำแหน่งรองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอดีตประธานเครือข่าย SUN Thailand ได้แลกเปลี่ยนความรู้ในการดำเนินการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยว่า คำว่ายั่งยืน (sustainable) นั้นเกี่ยวข้องกับคำว่า green และ people ในการร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

“ต้องเข้าใจว่ามนุษย์เรามีโลกเป็นบ้านหลังเดียวเท่านั้น ฉะนั้น จึงต้องตระหนัก และคำนึงว่าเราจะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ต่อในบ้านหลังเดิมต่อไปได้ โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งถือว่าเป็น climate crisis อยู่ในขณะนี้”

“การสร้างความยั่งยืน มธ.พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหมู่นักศึกษาเป็นอันดับแรก เพื่อให้ตระหนักถึงสถานการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการส่งเสริมองค์ความรู้ที่มีคุณภาพ และมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกด้านความยั่งยืนให้แก่นักศึกษา ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของสถาบันการศึกษา ในการศึกษา และวิจัย เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเข้าใจ เพื่อตระหนักถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ”

“เห็นได้จากการที่ มธ.ลงทุนเรื่อง solar rooftop บนอาคารเรียน โดยมีเอกชนภายนอกเข้ามาดำเนินการ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 10% รวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้กับรถ EV ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบในหมู่นักศึกษา โดยมีการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด การรณรงค์ให้นักศึกษาใช้กระบอกน้ำ และการเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้ถุงพลาสติก”

ไม่เพียงเท่านี้ “ผศ.ดร.ปริญญา” ยังกล่าวย้ำว่า การดำเนินการที่จะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนได้ สิ่งสำคัญคือการเริ่มต้นจากการทำสิ่งเล็ก ๆ ให้ประสบความสำเร็จก่อน ซึ่งคนจะเห็นเป็นตัวอย่าง และอย่าเริ่มต้นด้วยการทำเรื่องใหญ่ ๆตรงนี้เอง จะทำให้มหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง