ขอเพียงแค่โอกาส “แมริออท” เสริมสร้างอาชีพ “ผู้พิการ”

ช่วงหลายปีผ่านมา รัฐบาลไทยมีความพยายามจะแก้ไขปัญหาผู้พิการในภาพรวม โดยมีการปรับใช้นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานผู้พิการ มีการกำหนดโควตา และสัดส่วนการจ้างงานผู้พิการที่ควรมีในองค์กรภาครัฐและเอกชน

โดยปี 2565 “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานในต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูที่ครอบคลุมหลังการระบาดของโควิด-19 เพื่อหวังว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างงานที่มีคุณค่า และมีประสิทธิภาพให้กับทุกคน รวมถึงผู้พิการด้วย

ยาคอบ เฮลเก้น

สำหรับเรื่องนี้ “ยาคอบ เฮลเก้น” รองประธานภาคพื้นประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า งานเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ และเป็นส่วนหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้พิการนั้น การได้รับสิทธิพื้นฐานอาจกลายเป็นเรื่องพิเศษ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรกว่า 1.3 ล้านล้านคน หรือราวร้อยละ 16 ของประชากรโลกอยู่ร่วมกับความพิการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ขณะที่จำนวนผู้พิการในประเทศไทยมีอยู่ราว 2 ล้านคน หรือร้อยละ 3.2 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนั้น รายงานจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ยังระบุอีกด้วยว่า เกือบร้อยละ 9 ของผู้พิการในประเทศไทยไม่มีงานทำ และมีผู้พิการจำนวนมากเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน การฝึกทักษะอาชีพ และการได้รับโอกาสการทำงานในสายงานที่เหมาะสมกับทักษะความสนใจ และความสามารถของตน

กล่าวกันว่า ความยากลำบากเหล่านี้เป็นผลมาจากทัศนคติการแบ่งแยก และการเหมารวม (stereotype) ที่ไม่เป็นจริง อันสอดคล้องกับรายงานจากคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ที่เน้นย้ำว่า…ทัศนคติเชิงลบ การเหมารวม และอคติต่าง ๆ ที่มีต่อคนพิการยังคงมีอยู่ในสังคม

ทั้งในบริบทนี้ยังทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการถูกแบ่งแยก (exclusion) ซึ่งไม่ใช่แค่การแบ่งแยกในสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่หมายถึงการถูกแบ่งแยกออกจากสังคมอีกด้วย ดังนั้น การจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม จึงต้องช่วยกันทำในส่วนที่ทำได้

“ทุกโรงแรมของเรามุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม พนักงานทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมตามศักดิ์ศรี และสามารถแสดงศักยภาพที่ตนเองมีได้ สิ่งเหล่านี้คือหัวใจของธุรกิจเรา ตั้งแต่การยึดคนเป็นศูนย์กลาง และการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเท่าเทียม”

“ยาคอบ เฮลเก้น” กล่าวด้วยว่า แมริออทเป็นนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม มีการจ้างทั้งพนักงานพิการ และไม่ได้มีความพิการในทุก ๆ ส่วนงาน โดยโรงแรมเกือบ 50 แห่งในประเทศไทย พนักงานแต่ละคนล้วนสร้างผลงานในแบบของตนเอง

ยกตัวอย่าง นายอัครเดช กะสิรักษ์ หรือคุณมัด พนักงานของภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา เมอร์ลินบีช คุณมัดแม้จะเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา แต่ก็เป็นกำลังสำคัญในทีมจัดสวนของรีสอร์ต คุณมัดช่วยเติมเต็มพลังงานดี ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกในทีม การมีคุณมัดในรีสอร์ตเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับคำชมจากผู้เข้าพักมากที่สุด

“คุณมัดเข้ามาร่วมงานกับแมริออทโดยบังเอิญในปี 2561 คุณแม่ของคุณมัดได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามกับพนักงานต้อนรับของเราว่ามีตำแหน่งงานเปิดรับสำหรับลูกชายของเธอหรือไม่ ในช่วงนั้น ทีมจัดสวนของเรากำลังต้องการพนักงานเพิ่มอยู่พอดี จึงตอบตกลงรับคุณมัดเข้ามาทดลองงาน หลังจากนั้น 5 ปี คุณมัดกลายเป็นความภาคภูมิใจของเรา

ทั้งประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแมริออทอย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่าหนทางสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้พิการ นั่นคือเหตุผลที่คุณมัดทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้พิการสามารถมีงานทำได้ที่แมริออท และทุกคนจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เมื่อทำงานที่นี่”

โรงแรมของแมริออททำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นที่ทำงานช่วยเหลือผู้พิการ เพื่อช่วยกันกำหนดขอบข่ายการทำงาน และลงประกาศรับสมัครงานตามช่องทางต่าง ๆ นอกจากนั้น แมริออทยังส่งเสริมให้พนักงานในบริษัทแนะนำผู้พิการที่ต้องการทำงาน เมื่อตกลงเข้าทำงานแล้ว บริษัทจะเตรียมการสนับสนุนให้เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน เพื่อให้พวกเขาที่มีความต้องการความช่วยเหลือพิเศษสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้

ที่สำคัญ การสนับสนุนยังรวมถึงการจัดทำเอกสารการฝึกอบรมโดยใช้ภาพประกอบ และสื่อเคลื่อนไหว เพื่อปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของทุกคน ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดหาเพื่อนร่วมงานมาเป็นบัดดี้ คอยช่วยเหลือ และให้คำแนะนำในการทำงานอีกด้วย

“เราจับคู่คุณมัดกับคุณหมู ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมจัดสวนของโรงแรม โดยคุณหมูปฏิบัติหน้าที่คู่ไปกับคุณมัด และได้ทดลองอธิบายงานให้กับคุณมัดเข้าใจด้วยวิธีการต่าง ๆ บางครั้งคุณหมูก็ใช้วิธีการพูดช้า ๆ หรือใช้ท่าทางประกอบ ซึ่งคุณแม่ของคุณมัดเข้ามาช่วยระหว่างการทำงานในช่วงแรก ๆ แต่คุณหมูพบว่าคุณมัดเรียนรู้งานอย่างรวดเร็ว สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมอย่างดีอีกด้วย”

“ยาคอบ เฮลเก้น” กล่าวต่อว่า แม้การจ้างงานและการฝึกอบรมพนักงานที่มีความต้องการพิเศษเป็นเรื่องสำคัญ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การทำให้มั่นใจว่าสถานที่ทำงาน และพนักงานคนอื่น ๆ ยินดีที่จะต้อนรับคนเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งอาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนสถานที่เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับทุกคน หรือการปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้น

“แมริออทมีนโยบาย The Disability : IN’s ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คำแนะนำวิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้พิการอย่างสุภาพ พนักงาน และผู้จัดการทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรมด้านการทำงานร่วมกับผู้พิการ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมพิเศษสำหรับพนักงานฝ่ายบุคคลด้านการสรรหาบุคลากรอีกด้วย

ด้วยนโยบายส่งเสริมเหล่านี้ ผู้พิการจึงทำงานได้ในทุกตำแหน่ง ตั้งแต่แผนกอาหาร แผนกทำความสะอาดไปจนถึงแผนกวิศวกรรม การเงิน และอื่น ๆ เพราะบุคลากรคือฟันเฟืองสำคัญของธุรกิจโรงแรม เราควรเป็นผู้นำในการสร้างสถานที่ทำงานที่ครอบคลุมและหลากหลาย”

ดังนั้น การรับผู้พิการเข้ามาทำงานไม่ได้เป็นเรื่องของการเพิ่มงบประมาณ หรือต้องจัดหาทรัพยากรมาเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรคนให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ความสามารถ และมีการสนับสนุนที่เหมาะสมมากกว่า วิธีการนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้าถึงกลุ่มบุคลากรมากยิ่งขึ้น ยังช่วยขยายฐานลูกค้าที่พร้อมจะเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความเข้าใจ และการยอมรับในผู้พิการในสังคมตามมาด้วย