EEC-4.0 บูมจ้างงาน “ไมเคิล เพจ” ฟันธงปี”61 สดใส

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และมีข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแนวทาง กระบวนการ หรือขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่หากรวมถึงทรัพยากรบุคคลที่ต้องมีทักษะ ความสามารถที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

และเพื่อให้องค์กรธุรกิจสามารถปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ทันสถานการณ์ ตำแหน่งงานที่มีความเป็นมืออาชีพ มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระดับกลางจนระดับสูง ถือเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการสูงมาก เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทที่เป็น head hunter จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทของคนไทย หรือบริษัทข้ามชาติ เช่นเดียวกับ “ไมเคิล เพจ ประเทศไทย” ผู้ให้บริการสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ระดับมืออาชีพ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับกลางจนไปถึงระดับผู้นำ รวมถึงตำแหน่งงานที่มีความเฉพาะในด้านเทคนิคสำหรับทุกภาคอุตสาหกรรม อาทิ สาขาดิจิทัล วิศวกรรมและการผลิต การเงินและการบัญชี ทรัพยากรบุคคล การตลาด การจัดซื้อและซัพพลายเชน และการขาย ซึ่งเปิดสำนักงานในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

“คริสโตเฟอร์ พาลุดัน” ผู้อำนวยการ ไมเคิล เพจ ประเทศไทย บอกว่า ปัจจัยที่สำคัญที่เข้ามาเปิดให้บริการ เพราะโอกาสการจ้างงานของตลาดแรงงานไทยในระดับกลางและระดับสูงมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสนับสนุนมาจากการลงทุนทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน

“ตลาดในเมืองไทยถือว่าเติบโตได้เรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงปี 2560 ถึง 2561 ประเทศไทยกำลังมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่เน้นคุณภาพ (value economy) และเน้นการลงทุนจากต่างประเทศ (foreign direct investment : FDI) เพิ่มขึ้น ทำให้การสรรหาบุคลากรมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ มีแนวโน้มที่ดี”

“อย่างโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : ECC) ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนกว่า 43 พันล้านเหรียญ ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ ครอบคลุมทั้งการขนส่งทางรถไฟ ถนน ทางอากาศ และท่าเรือทั่วประเทศ จะนำมาซึ่งโอกาสในการจ้างงานจำนวนมาก ในหลากหลายภาคส่วน หลากหลายอุตสาหกรรม”

“รวมถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์รวมทางด้านนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ตอัพ ทั้งอีคอมเมิร์ซ ไบโอเทค ดิจิทัล การออกแบบหุ่นยนต์ (robotics) ไอโอที (IOT) และการพัฒนาซอฟต์แวร์ จะทำให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้ในปี 2017 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2018”

“การปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าแบบเดิม ๆ ไปสู่สินค้าและการบริการที่มีมูลค่าสูง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และธุรกิจสตาร์ตอัพ นอกจากทำให้เกิดการจ้างงานใหม่แล้ว การพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานไทยในระดับมืออาชีพ ให้มีความเชี่ยวชาญ มีทักษะและความสามารถก็จะเกิดขึ้นควบคู่กัน โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล ซอฟต์แวร์ประยุกต์ และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากองค์กรธุรกิจจากต่างประเทศจำนวนมากต่างให้ความสนใจ เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่น หรือเปลี่ยนจากการจ้างชาวต่างชาติมาเป็นการจ้างคนไทยแทน”

“คริสโตเฟอร์” กล่าวว่า แนวโน้มการจ้างงานที่ไมเคิล เพจ ประเทศไทย สนใจคือ การให้ความสำคัญกับบุคลากรคนไทยมากกว่าจะสรรหาบุคลากรชาวต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบุคลากรไทยได้รับบทบาทผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทข้ามชาติ

ที่น่าสังเกตคือผู้บริหารเหล่านี้มักมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ มีประสบการณ์ในการทำงานระหว่างประเทศ และเคยมีประสบการณ์ในบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลก

แม้บางกรณียังคงต้องว่าจ้างผู้บริหารชาวต่างชาติอยู่ เนื่องจากบุคลากรของไทยยังมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะ หรือขอบเขตงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ทั้งนี้ จากรายงานภาวะการจ้างงานในประเทศไทยปี 2561 โดยไมเคิล เพจ (Michael Page Thailand Employment Outlook 2018) ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของการตลาด และแนวโน้มการสรรหาบุคลากร รวมถึงตัวเลขการจ้างงานจากฐานข้อมูลของไมลเคิล เพจ ตลอดปี 2560 ซึ่งจากการวิเคราะห์ในเชิงลึก และการคาดการณ์ถึงปัจจัยสำคัญต่าง ๆ พบว่า ความต้องการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ในปี 2561 ยังเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ตำแหน่งงานในกลุ่มวิศวกรรมและการผลิต, การเงินและการบัญชี, ทรัพยากรบุคคล, การตลาด, การจัดซื้อและห่วงโซ่อุปทาน และการขาย”

สำหรับตำแหน่งงานในกลุ่มวิศวกรรมและการผลิต โดยเฉพาะผู้จัดการฝ่ายควบคุมโรงงาน, ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายซ่อมบำรุง, ผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฯลฯ มีแนวโน้มว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 16-20% เมื่อเปลี่ยนงาน และตำแหน่งงานในกลุ่มการเงินและการบัญชี โดยเฉพาะผู้จัดการฝ่ายบัญชี, ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน และหัวหน้างานควบคุมโรงงาน คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 21-25%

ด้านตำแหน่งงานในกลุ่มทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะหุ้นส่วนธุรกิจด้านทรัพยากรบุคคล, การพัฒนาองค์กรและคนเก่ง และผู้จัดการแผนกสรรหาคนเก่ง/การสรรหาบุคลากร เงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 21-25% ส่วนตำแหน่งงานในกลุ่มการตลาด โดยเฉพาะผู้จัดการแบรนด์, ผู้จัดการผลิตภัณฑ์, เจ้าหน้าที่สื่อสารการตลาด และผู้จัดการสื่อดิจิทัล คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 16-20%

ในขณะที่ตำแหน่งงานในกลุ่มการจัดซื้อและห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะผู้จัดการห่วงโซ่อุปทาน, ผู้จัดการแผนกโลจิสติกส์และแผนกคลังสินค้า และผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ คาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 16-20% และตำแหน่งงานในกลุ่มการขาย โดยเฉพาะผู้จัดการฝ่ายขาย, ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้า เงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 16-20%

ถึงตรงนี้ “คริสโตเฟอร์” บอกว่า จากแนวโน้มดังกล่าว เมื่อย้อนกลับมามองธุรกิจของไมเคิล เพจเองแล้ว เป้าหมายคือจะอยู่แบบ long term ในประเทศไทย เพื่อเป็น good market และก้าวเป็น key market ที่สำคัญของตลาดในภูมิภาคนี้ เพราะในการดำเนินงานบริษัทจะให้ความสำคัญกับคุณภาพ และบริการมากกว่ามองถึงส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) จะเห็นได้จากกระบวนการทำงานของเราสามารถคัดสรร สรรหาบุคลากรตามที่ลูกค้าต้องการได้เป็นอย่างดี และคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า การเติบโตของไมเคิล เพจ ในประเทศไทยจะอยู่ที่ 25-30%

และด้วยเหตุที่ธุรกิจของไมเคิล เพจ ก่อตั้งมามากกว่า 40 แล้ว เมื่อเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ทำให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ยุโรป หรือประเทศอื่น ๆ อย่างญี่ปุ่น สหรัฐ เยอรมนี มาใช้บริการด้วย ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจหลายประเทศในเอเชียก็สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเช่นเดียวกัน อย่างการลงทุนโดยตรงจากจีน การย้ายสำนักงาน head quarter ของบริษัทข้ามชาติจากสิงคโปร์มาตั้งในไทย เป็นต้น


ในฐานะบริษัท head hunter ระดับโลก “ไมเคิล เพจ” จึงไม่พลาดที่จะใช้โอกาสนี้ขยายฐานธุรกิจสนองความต้องการของลูกค้าที่กำลังเร่งสปีดองค์กรรองรับการปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะพลิกอนาคตประเทศไทย