“ไทยยูเนี่ยน” ผนึกกำลังแก้ปัญหาพลาสติกในท้องทะเล

“บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” หนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผนึกกำลังกับ “โครงการ Global Ghost Gear Initiative (GGGI)” เพื่อลดปัญหาการทิ้งอุปกรณ์จับปลาในท้องทะเล (ALDFG) ทั่วโลก

โครงการ GGGI เป็นโครงการความร่วมมือที่ริเริ่มโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกในปี 2558 เพื่อแก้ปัญหาการทิ้งอุปกรณ์จับปลาที่เกิดขึ้นในระดับโลก ซึ่งจุดแข็งของ GGGI คือการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากหลายฝ่าย อาทิ อุตสาหกรรมประมง ภาคเอกชน นักวิชาการ ภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์การนอกภาครัฐ โดยผู้มีส่วนร่วมทุกหน่วยงานมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการทิ้งอุปกรณ์จับปลาทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมในโครงการ GGGI ของไทยยูเนี่ยนสะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจที่บริษัทมีต่อการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากพลาสติกในท้องทะเล ซึ่งสอดคล้องกับ SeaChange® กลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัทที่มุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก

“โจเอล บาซิอุค” เลขาธิการโครงการ Global Ghost Gear Initiative กล่าวว่า การทิ้งอุปกรณ์จับปลาเป็นหนึ่งในภัยที่คุกคามสัตว์ในทะเลของเราที่ร้ายแรงที่สุด ทำให้ปริมาณปลาลดลงและทำให้สัตว์เข้าไปติดกับอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังทำอันตรายและทำลายชีวิตของสัตว์นับล้านในแต่ละปี

“นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างไทยยูเนี่ยนมาร่วมกับองค์การนอกภาครัฐ รวมทั้งภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในการปรับปรุงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล การปกป้องสัตว์ทะเล และการดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน”

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Food and Agriculture Organization: FAO) ประเมินว่า ในแต่ละปี มีปริมาณพลาสติกเข้าสู่ทะเลราว 8 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นขยะที่มาจากในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวดพลาสติกและเศษพลาสติก

การทิ้งอุปกรณ์จับปลา และอุปกรณ์สูญหายกลางทะเล หรือที่รู้จักกันว่า “อุปกรณ์ผี” คิดเป็นอย่างน้อย 10% ของจำนวนขยะทั้งหมด และก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบนิเวศ และปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ขยะเหล่านี้เกยตื้นขึ้นมาบนชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง เป็นภัยต่อการเดินเรือ ส่งผลกระทบต่อปริมาณปลาทั่วโลก และเป็นอันตรายต่อสัตว์ในท้องทะเล อีกทั้งขยะเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้อุปกรณ์จับปลาอื่นๆ สูญหายขณะกำลังใช้งาน

“ดร. แดเรี่ยน แมคเบน” ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติสามารถนำกลับมาใช้ได้ ทั้งในรูปของกระป๋องเหล็กและอะลูมิเนียม และกล่องกระดาษ ไทยยูเนี่ยนประเมินว่า วิธีแสดงออกถึงการให้ความสำคัญในเรื่องมลพิษที่เกิดจากพลาสติกที่ดีที่สุดคือ การให้การสนับสนุนงานที่มุ่งสู่การลดปริมาณอุปกรณ์ที่ถูกทิ้งไว้ในทะเล

“งานวิจัยระบุว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของเศษขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลมีส่วนมาจากการจับปลา” ดร. แดเรี่ยน กล่าว “การลดปริมาณอุปกรณ์จับปลาที่ถูกทิ้งไว้ในทะเล เป็นกุญแจไปสู่ความมั่นใจว่าท้องทะเลจะยั่งยืนในวันนี้และสำหรับคนรุ่นใหม่ ประเด็นนี้ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก และระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล รวมถึงผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และชุมชนรอบชายฝั่ง”

ประเด็นเรื่องมลพิษจากพลาสติกในท้องทะเลยังมีผลต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 3 ประการ ที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งเน้นให้ความสำคัญ นั่นคือ การขจัดความหิวโหย การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์มหาสมุทรและการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าประเด็นนี้ไม่เป็นเพียงประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียของไทยยูเนี่ยนเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อบริษัทซึ่งมุ่งสนับสนุนในส่วนที่บริษัทสามารถผลักดันได้โดยตรง

ถึงตรงนี้ “โจเอล บาซิอุค” บอกว่า ถือว่าไทยยูเนี่ยน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และสามารถขับเคลื่อนได้ในระดับสากลซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับสูง

“เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การมีท้องทะเลที่สะอาดขึ้น ปลอดภัยขึ้น”