มองเอกชนรายใหญ่ มุ่งธุรกิจ SE

คอลัมน์ inside out story

โดย วิทวัช เนตรแสนสัก

ต้องยอมรับว่าช่วงระยะเวลา 3-4 ปีผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า “social enterprise (SE)” อยู่เป็นประจำ หรือบางครั้งอาจมีการเรียกว่ากิจการเพื่อสังคมบ้าง วิสาหกิจเพื่อสังคมบ้าง หรือแม้กระทั่งธุรกิจเพื่อสังคม เพราะกำลังได้รับความนิยม

ทั้งจากผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงการที่ผู้บริโภคต่างเฟ้นหา เลือกซื้อสินค้าที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ ช่วยเหลือสังคม และยกระดับสังคมให้ดีขึ้น จึงทำให้แนวคิด SE มีการขยายออกไปอย่างกว้างขวางในประเทศไทย และแม้ว่าอดีตผ่านมามีทั้งบุคคลหน่วยงานองค์กร และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้ดำเนินการตามแนวทาง SE จนประสบความสำเร็จมากมายไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, มูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์และอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน ส่วนของภาครัฐก็มีการดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุน SE ทั้งการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (สกส.) รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.) ขึ้น

เพื่อสนับสนุน ประสานความร่วมมือให้เกิดกิจการเพื่อสังคม และพัฒนาเป็นเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมทั่วประเทศไทย รวมทั้งตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553-2557 อีกด้วย

ปี 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการหยิบยกรายงานการศึกษาวิจัยเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) รวมถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมการประกอบกิจการหรือการดำเนินการของภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชน สังคมสิ่งแวดล้อม ในรูปวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise)

แม้ว่าตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. …จะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง เพราะในเดือนกันยายน ปี 2560 ผ่านมาเคยมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ทว่าอาจมีข้อติดขัดบางประการ หรือมีข้อคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน

จึงทำให้ต้องมีการปรับแก้เนื้อหาสาระบางส่วนหลังจากทำประชาพิจารณ์รอบที่ 2 เสร็จ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ผ่านมาจึงมีการส่งร่าง พ.ร.บ.นี้กลับไปยัง ครม.อีกครั้ง ซึ่งจากการที่ผมพูดคุย และสอบถามกับ “ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม (สกส.) บอกว่าตอนนี้ต้องรอลุ้นว่า ครม.จะเห็นชอบหรือไม่ แต่หากดูทิศทางลมแล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นบวก เพราะกฎหมายฉบับนี้เกิดจากการผลักดันของรัฐบาลชุดนี้ และคิดว่าน่าจะมีการประกาศใช้ภายในกลางปีนี้

ถ้า พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะเป็นการปลดล็อกการทำงานที่เป็นเหมือนคอขวดให้ขยายกว้างขึ้น ทำให้การทำงานมีความลื่นไหลมากขึ้น ขับเคลื่อนได้รวดเร็ว ทั้งตัวกระบวนการทำงาน การออกใบรับรองวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ด้วย เพราะ พ.ร.บ.ตัวนี้เหมือนเป็นร่มที่คลุมเรื่องเหล่านี้อยู่

แม้ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ยังไม่ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เท่าที่ทราบตอนนี้น่าจะมีหน่วยงาน องค์กร ผู้ประกอบการต่าง ๆ ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อดำเนินกิจการเพื่อสังคมกับกระทรวงพาณิชย์ กว่า 300-400 กิจการแล้ว และอีกส่วนหนึ่งต้องรอการรับรองวิสาหกิจเพื่อสังคม จากคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.)

ถ้ามองถึงการดำเนินธุรกิจที่เป็น SE ในปัจจุบัน ที่อาจจะเป็นทั้งธุรกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจเพื่อสังคมต่าง ๆ ก็ตาม “ณัฐพงษ์” บอกว่าตอนนี้ยังถือว่าขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นทิศทาง และแนวโน้มสำคัญที่น่าจับตามอง ในช่วง 2 ปีหลังมานี้คือการเข้ามาของบริษัทเอกชนรายใหญ่ ๆ ที่มีความสนใจกับการดำเนินธุรกิจ หรือการส่งเสริม SE และยังได้ยื่นเข้ามาขอจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อดำเนินกิจการเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ปตท., บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น, บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ อาจเป็นเพราะทิศทางของโลกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า SE สามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนในระยะยาวได้มากกว่าการทำซีเอสอาร์ และการเข้ามาของบริษัทเอกชนรายใหญ่ ๆ ทั้งการส่งเสริม หรือดำเนินธุรกิจ SE นี้เอง จะทำให้เกิด impact กับสังคมสูงมาก เพราะเอกชนรายใหญ่ ๆ จะมี value chain ยาว มีเงินทุนสนับสนุน มีความเชี่ยวชาญ จนทำให้การขับเคลื่อน

เรื่องราวเหล่านี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากกว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี องค์กรชุมชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ชุมชน หน่วยงาน NGOs ซึ่งอาจจะกล่าวว่าในอัตรา 1 ต่อ 100 เลยก็เป็นได้ตัวอย่างหนึ่งของภาคเอกชนที่มีการดำเนินธุรกิจ SE คือ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ที่จัดตั้งบริษัทเพื่อสังคมในชื่อ “บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC)” ซึ่งมีการดำเนินการในรูปแบบที่ LPN เป็นผู้ลงทุน และไม่ปันผลกลับมาที่ตนเอง แต่จะปันผลกำไรกลับคืนสู่พนักงาน LPC ในรูปแบบค่าตอบแทน และสวัสดิการต่าง ๆ ที่มากกว่าบริษัททั่วไป โดยเฉพาะเงินเดือนที่สูงกว่ามาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำถึง 10%

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ LPC เกิดมาจากปัญหาการจัดจ้างแม่บ้านลงพื้นที่คอนโดมิเนียม ซึ่งในตอนแรกจำเป็นต้องอาศัยรูปแบบของบริษัททำความสะอาด แต่พบว่ามีกติกาที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลทำให้ผู้ที่เข้ามาทำงานไม่สามารถรับงานต่อเนื่องในระยะยาวได้ ตรงนี้จึงเป็นที่มาแนวคิดในการก่อตั้ง LPC

จนทำให้รูปแบบการว่าจ้างของ LPC แตกต่างออกไปจากบริษัทอื่น ๆ ที่แต่เดิมคิดค่าจ้างเป็นรายคน แต่ LPC เปลี่ยนวิธีรับงานเป็นระบบเหมา และบริหารจัดการคนให้เหมาะสมกับพื้นที่ในการทำความสะอาดแต่ละครั้ง จึงทำให้ลดจำนวนคนลง และเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานในการว่าจ้างครั้งนั้น ๆ ได้

นอกจากนี้ LPC ยังมุ่งเน้นให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการจัดให้มีระบบการศึกษานอกโรงเรียน โดยจัดครูมาสอนหนังสือ ทั้งการอ่านและการเขียนให้กับพนักงานที่ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ อีกทั้งยังมีการจัดอบรมอาชีพ เพื่อเป็นความรู้เสริมให้แก่พนักงาน อาทิ การเรียนนวดแผนไทยกับครูผู้เชี่ยวชาญ

ปัจจุบัน LPC มีพนักงานรวมทั้งหมดกว่า 1,200 คน และเพื่อให้การขยายงานบริการออกไปสู่ภายนอกมากยิ่งขึ้น LPC จึงตั้งเป้าให้การดำเนินงานบริษัทให้ได้รับมาตรฐานการบริการสากล ISO 9001 : 2015 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาส สร้างศักดิ์ศรี และสร้างความสุข ให้กับสตรีด้อยโอกาสเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป