Thai Union ดัน SeaChange®2030 สานต่อความยั่งยืนเพื่อเราและโลก

ท้องทะเลและมหาสมุทรคือทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลกใบนี้  ซึ่งเราต่างใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอยู่ทุกลมหายใจโดยไม่รู้ตัว เพราะออกซิเจนบนโลกใบนี้เกินกว่า 50% ที่เราใช้หายใจ ถูกผลิตจากแพลงก์ตอนจำนวนมหาศาลภายใต้มหาสมุทรสีฟ้าคราม นอกจากบทบาทการเป็นลมหายใจของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารและแหล่งโปรตีนหลักของผู้คนบนโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน 

ดังนั้น การดูแลท้องทะเลและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำจึงมีความหมายมากกว่าความยั่งยืนของมหาสมุทร แต่หมายถึงความยั่งยืนของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ จุดนี้เองที่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ได้ขยับตัวครั้งสำคัญ อยากชวนชาวโลกมาร่วมกันดูแลโลกของเรา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนให้กับท้องทะเลและโลกทั้งใบภายใต้ภารกิจ ‘SeaChange®’ ด้วยอาหารทะเลที่ยั่งยืน

ธุรกิจอาหารทะเลกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของกลยุทธ์ SeaChange® ในแง่หนึ่งเป็นเพราะ ไทยยูเนี่ยน ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท้องทะเลโดยตรง หากปลา กุ้ง หรือทรัพยากรทางทะเลไม่ยั่งยืน ก็จะไม่มีวัตถุดิบอาหารทะเลที่มีคุณภาพป้อนสู่ท้องตลาด แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือ วิกฤตมหาสมุทรส่งผลกระทบต่ออีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ประชากรโลกกว่า 600 ล้านคน พึ่งพามหาสมุทรเป็นทั้งแหล่งอาหาร และใช้เป็นแหล่งประกอบอาชีพตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นเหตุให้ ไทยยูเนี่ยน ให้ความสำคัญเรื่องการปกป้องท้องทะเลตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

กลยุทธ์ SeaChange® ได้เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเลไปตลอดกาล ด้วยการดูแลคนและโลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ตั้งแต่การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับอาหารทะเล การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมมาตรฐานด้านแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและโรคระบาดโควิด-19 

แนวทางดังกล่าวยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในวงกว้างของอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งในระยะแรกนั้นบริษัทฯ ได้ขับเคลื่อนโครงงานต่างๆ ใน 4 ด้านหลัก คือ 1.แรงงานปลอดภัยและถูกกฎหมาย 2.การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบ 3.การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ และ 4.ผู้คนและชุมชน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายองค์กร “Healthy Living, Healthy Oceans”

เจาะกลยุทธ์ SeaChange® 2030 สานต่อความสำเร็จดันความยั่งยืน

หลังจากผลสำเร็จของ SeaChange® เมื่อปี 2559 ไทยยูเนี่ยนได้ต่อยอดพันธกิจความยั่งยืน ประกาศกลยุทธ์ ‘SeaChange® 2030’ ซึ่งขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม ทั้งมิติของผู้คนและโลกใบนี้ พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารทะเล ด้วยงบประมาณเทียบเท่ากำไรสุทธิของปี 2565 ของบริษัทฯ กว่า  7,200 ล้านบาท หรือกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับกำไรสุทธิที่บริษัทได้รับในปี 2565 ทุ่มให้กับการทำกลยุทธ์ความยั่งยืนไปถึงปี 2573 พร้อมตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจอาหารทะเล

นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ภูมิภาคเอเชีย และผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยหัวใจหลักของความยั่งยืนของ ไทยยูเนี่ยน ความว่า การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนมีความสำคัญต่อไทยยูเนี่ยน เป็นผลสะท้อนความสามารถ ในการเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งมีความจำเป็นต่ออนาคตของบุคลากรของเรา สังคมของเรา และโลกของเรา นอกจากนี้ ความยั่งยืนยังเป็นแนวทางที่จะทำให้เราบรรลุผลสำเร็จ ตามพันธกิจของเราในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

SeaChange® 2030 เรามองในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยความตั้งใจในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยของเสีย ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด นอกจากนั้นเรายังมองเรื่องคน สิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน รวมถึงเรื่องอาหารที่มีโภชนาการที่ดีของคน ครอบคลุมทุกมิติที่เราดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของกระบวนการผลิต ตลอดจนถึงปลายน้ำระดับผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าอาหาร และผลิตภัณฑ์ของเรามีโภชนาการที่ดี มีความปลอดภัย” 

ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ภูมิภาคเอเชีย ขยายความเพิ่มเติมว่า SeaChange® 2030 นับเป็นการต่อยอดอย่างก้าวกระโดด ที่จะช่วยฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศรวมถึงชุมชน ครอบคลุมการดำเนินงานและจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้ดียิ่งขึ้น โดยครั้งนี้ไทยยูเนี่ยนประกาศพันธกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 11 ข้อ ภายใต้ผลลัพธ์ในอนาคต เพื่อผู้คนบนโลก และเพื่อโลกของเรา 

เริ่มต้นจากภารกิจฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศ เพื่อโลกของเรา ซึ่งประกอบด้วย ภายใต้ 3 ประเด็นหลักคือเรื่องของ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Action) , เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity), และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่ง 11 พันธกิจประกอบด้วย

1.เส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42% ในขอบเขตที่ 1, 2 ภายใต้การควบคุมของเราเองอย่างเช่นเรื่องของการใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงานในโรงงานของเราเอง และขอบเขตที่ 3 คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

ยกตัวอย่างเช่นโครงการกุ้งคาร์บอนต่ำ มีการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ เพื่อนำเอาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกษตรกรประหยัดพลังงาน อาทิการติดเเผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ผลิตพลังงานหรือการส่งเสริมการผลิตอาหารกุ้งที่มีคาร์บอนต่ำเป็นต้น

2.การทำประมงอย่างรับผิดชอบ : 100% ของอาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติ จะผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ หรือมาจากโครงการปรับปรุงการประมง โดยมีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน และขยายขอบเขตการทำงานมากกว่าวัตถุดิบปลาทูน่าไปยังสัตว์น้ำอื่น ๆ

3.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ : กุ้งเพาะเลี้ยงทั้งหมด 100% ของเรา จะต้องผลิตขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสวัสดิการและสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมอาหาร โดยฟาร์มคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ จะต้องได้ใบรับรองเรื่องความยั่งยืนที่ได้รับการรองรับ

4.การฟื้นฟูระบบนิเวศ : ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญซึ่งเป็นที่ตั้งหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยน

5.เกษตรกรรมที่มีความรับผิดชอบ : 100% ของวัตถุดิบถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มจะได้รับการรับรองว่ามาจากแหล่งการผลิตที่ยั่งยืนปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนวัตถุดิบไก่จะได้รับการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ

6.กระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ : ไทยยูเนี่ยนมีการปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลักห้าแห่งทั้งในและต่างประเทศ

7.งานที่ปลอดภัย มีคุณค่า และเท่าเทียม : ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม ให้กับพนักงานทุกคนและยังขยายผลให้ครอบคลุม 

  • 50% ของผู้บริหารองค์กรเป็นผู้หญิง
  • 100% ของเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัท จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงไม่มีแรงงานทาสสมัยใหม่
  • 100% ของฟาร์มสัตว์น้ำที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัท จะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน

8.การลดขยะพลาสติกในทะเล : ไทยยูเนี่ยนจะจัดการขยะพลาสติก 1,500 ตัน ไม่ให้ปนเปื้อนสู่แม่น้ำลำคลองและทะเล มีการทำงานร่วมกับเรือประมงในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่อาจหลุดลงไปในทะเล พร้อมขับเคลื่อนการลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีในการดักจับขยะก่อนลงทะเล เป็นต้น

9.โภชนาการและสุขภาพ : 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง (เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋อง) ภายใต้แบรนด์ของบริษัทจะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และ 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวกเพื่อสุขภาพที่ดี

10.บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน : ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัท 100% จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนภายในปี 2568 และไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผลิตให้กับคู่ค้าอย่างน้อย 60% ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

11.การเป็นพลเมืองดีของสังคม : ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือและตอบแทนชุมชนในพื้นที่ที่เราดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีงานบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเวลาวิกฤตอีกด้วย

“ผมคิดว่า SeaChange®2030 จะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ผู้เล่นทั้งอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า คู่แข่ง หรือลูกค้าของเราหันมาดูแลและให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าจะช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงของไทยยูเนี่ยนต่อไป  

“สำหรับผู้บริโภคเองก็สามารถสนับสนุนโครงการนี้ได้ผ่านการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัท  ที่ให้ความสำคัญและทำงานด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง อันนี้มีความสำคัญมาก ผมเชื่อว่าเราผลักดันเรื่องนี้สุดท้ายปลายทางของสินค้าคือผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน พยายามคิดก่อนที่จะซื้อสินค้าว่าผลิตภัณฑ์มันยั่งยืนจริงๆ รึเปล่า ในฐานะผู้บริโภคเราก็เป็นเสียงสำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนได้ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ภารกิจ SeaChange® 2030 นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญไม่ใช่เพียงของไทยยูเนี่ยน แต่หมายรวมถึงเป็นภารกิจของทุกคนบนโลก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชนที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เพราะผลลัพธ์ในครั้งนี้อาจหมายถึงประชากรโลกในรุ่นต่อไป ที่จะมีท้องทะเลอันสวยงามให้เชยชม อุดมไปด้วยอาหารและอาชีพจากน้ำมือของเราทุกคนในรุ่นปัจจุบันที่ช่วยกันทำให้สำเร็จ

สามารถศึกษากลยุทธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับความยั่งยืน SeaChange® 2030 ได้ที่
www.seachangesustainability.org

#ThaiUnion #SeaChange2030 #HealthyLivingHealthyOceans #SustainableSeafood #SeaChange2030เพื่อเราเพื่อโลก