“King Power” ฟื้นเวทีประชัน ดันวงดุริยางค์ไทยไกลระดับโลก

ความสามารถทางดนตรีนับเป็นอีกสิ่งพิสูจน์ความรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งแต่ละปีไทยได้ส่งหลายวงไปประกวดยังต่างประเทศ หากประเมินค่าใช้จ่ายคิดเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท กระนั้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ความเก่งกาจให้โลกได้รับรู้อย่างกว้างขวาง เห็นได้จากมีน้อยประเทศที่ส่งวงเข้ามาแข่งขันในเวทีของไทย

กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จึงร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ใน “โครงการประกวดดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย” ประจำปี 2561

“อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กล่าวว่า คิง เพาเวอร์มุ่งดำเนินโครงการเพื่อสังคมภายใต้แนวคิด KING POWER THAI POWER พลังคนไทย ส่งผ่านพลังความดีให้กับคนในสังคมทุกระดับ โดยเฉพาะ เยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นพลังสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศการดำเนินงานจะประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.กีฬา (sport power) 2.ดนตรี (music power) 3.ชุมชน (community power) 4.สุขภาพ และการศึกษา (health & education power) อันนำไปสู่การโครงการเพื่อสังคมตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน ประเทศชาติ ไปจนถึงระดับสากล

“เราเชื่อในพลังของคนไทย หากคิดจะทำอะไรจริง ๆ ย่อมทำได้ ซึ่งโครงการนี้จะโชว์ศักยภาพของคนไทยในสายอาชีพนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การมีเส้นทางอาชีพที่ดีขึ้นในอนาคต ทั้งแง่ที่ออกไปแสดงต่างประเทศ หรือชาวต่างชาติเข้ามาชมในไทย โดยตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น จากที่เราไม่เคยรู้ลึกเกี่ยวกับวงดุริยางค์ แต่นับจากนี้คนที่สนใจก็จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

“รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข” ที่ปรึกษาโครงการแข่งขันดุริยางค์เครื่องเป่าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกวดบนเวทีนานาชาติสากลนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2524 โดยโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เดินทางไปประกวดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และในปี 2528 วงโยธวาทิตวงแรกของไทยก็ไปคว้าแชมป์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์วงโยธวาทิตของไทยอยากออกไปประกวดต่างประเทศกันมากขึ้น

แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายของวงที่ออกไปประกวดยังต่างประเทศนั้นตกคนละ 1 แสนบาท หรือประมาณ 10 ล้านบาทต่อวง ซึ่งในแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 10 วงที่ไปประกวดในต่างประเทศ กลับกันแทบไม่มีวงจากต่างประเทศเข้ามาประกวดในไทย โดยสาเหตุสำคัญคือ ประเทศไทยไม่มีความน่าเชื่อถือด้านดนตรี และไม่มีงบประมาณในการจัดประกวด

“การประกวดไม่ใช่แค่ยกระดับการศึกษาดนตรีในประเทศไทย แต่ยังทำให้คนทั้งโลกรู้จักประเทศไทยด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือว่าประเทศไทยมีความเจริญ ที่วัดได้จากดนตรี กีฬา และศิลปะ รวมไปถึงยังสร้าง career path ให้นักเรียนด้านดนตรี เพราะปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติต้องจ้างครูจากตะวันตก รวมถึงประเทศไทยยังมีสถาบันการศึกษาที่สอนด้านดนตรีอยู่ 50 แห่ง และโรงเรียนที่มีวงโยธวาทิตอีกกว่า 1,800 แห่ง”

“ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ” คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาการจัดการประกวดจะใช้ชื่อว่า Thailand International Wind Ensemble Competition (TIWEC) ซึ่งจัดมาถึง 14 ครั้ง มีหลายประเทศส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน อาทิ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สำหรับปีนี้ได้ปรับชื่อมาเป็นโครงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 หรือ Thailand International Wind Symphony Competition 2018 (TIWSC 2018)

“วงที่เข้าร่วมในปีนี้มีความหลากหลาย โดยมีวงที่มาจากยุโรปเข้าร่วมประกวด 3 วง จากผู้เข้าร่วม 70 วง เรียกได้ว่าเป็นการกระตุ้นความสนใจจากระดับโลคอลสู่สากล จากเดิมที่เราต้องไปแข่งในเวทีใหญ่ ๆ ที่เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ หรือโปแลนด์ ก็ให้เวทีนี้เป็นแลนด์มาร์กที่วงจากต่างประเทศเดินทางมาแข่งบ้าง ซึ่งโครงการนี้จะเป็นแรงดึงดูดให้คนที่รักดนตรี และผู้เรียนหันมาแสดงออกทางด้านดนตรีมากขึ้น”

อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันที่ทำให้การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่าของประเทศไทยกลับมาอีกครั้ง