แค่ดีคงไม่พอ… ขอแลนด์มาร์กด้วยจ้า

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ ต้องอาศัยภูมิปัญญา และทรัพยากรท้องถิ่นที่สั่งสมมาเนิ่นนาน แต่…สิ่งที่จะปล่อยให้เนิ่นนานไม่ได้เด็ดขาด คือ การตลาด และการจัดส่ง!!

โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ที่ทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ตอนแชตกันผ่านออนไลน์นี่แหละ

สินค้าที่จะขายได้ จึงไม่ใช่แค่เป็นของดั้งเดิม ดี หรือแรร์ไอเท็ม แต่ต้องทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย ทั้งช่องทางการพบเห็นสินค้า ช่องทางการซื้อ-ขาย และช่องทางการจัดส่ง เพราะนักช็อปส่วนใหญ่ใจร้อน แม้สินค้าสวย แต่หากรู้สึกว่าซื้อลำบาก ก็จากไปอย่างรวดเร็ว

เพราะรู้ว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จึงได้จับมือกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมการพัฒนาชุมชน จัดโครงการ “ไปรษณีย์ไทย…เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง”

พวกเขาเข้ามาทำอะไรบ้าง ?

ไปรษณีย์ไทยจะเป็นช่องทางการตลาด และระบบขนส่ง ส่วนมหาวิทยาลัยจะเป็นฝั่งขององค์ความรู้ด้านการออกแบบ โดยเฉพาะการออกแบบโดยคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยตีตลาดวัยรุ่นได้ไม่มากก็น้อย ส่วนกรมการพัฒนาชุมชนก็เป็นเหมือนคนในท้องที่ รู้ว่ามีของดีอะไร ควรพัฒนาสิ่งไหนบ้าง

ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแต่การทำงานออกแบบรูปลักษณ์สินค้า บรรจุภัณฑ์ ตราผลิตภัณฑ์ แต่ยังรวมไปถึงการตกแต่งภูมิทัศน์ และออกแบบภายในอาคารศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เพราะเดี๋ยวนี้คนไม่ได้มองแค่สินค้ามีที่มาจากที่ไหน แต่มองด้วยว่า ที่แห่งนั้น มีที่เที่ยว ที่กิน ที่ถ่ายรูปอะไรให้เข้าไปเช็กอินได้บ้าง

โดยโครงการดังกล่าวจะมีการนำร่องใน 6 พื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ได้แก่

1) กลุ่มชุมชนวิสาหกิจชุมชนชารางแดง เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ชารางแดง ภายใต้แบรนด์ “ชารากุล”

2) ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งจะเป็นการสร้างแบรนด์และตราสินค้า “ภูมิสิริ” ให้กับผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาชาววัง

3) กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียน จ.นครราชสีมา ด้วยการสร้างสรรค์รูปแบบ เครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียนให้มีความทันสมัย

4) กลุ่มจักสานกระจูดศุภนิมิต อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นการตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบและออกแบบตกแต่งภายในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

5) กลุ่มไข่เค็ม อสม. อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์รวมถึงการสร้างแบรนด์และตราสินค้า

6) กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอเกาะยอ จ.สงขลา จะเป็นการออกแบบและพัฒนาเครื่องแต่งกายที่ทันสมัยจากผ้าทอให้สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส

ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในกลุ่มทอผ้าเกาะยอ โดยมีผ้าทอต้นแบบ 5 กลุ่ม ที่มีเอกลักษณ์ในการออกแบบลายผ้าเฉพาะตัว ได้แก่ 1) ลายราชวัตร โดยกลุ่มราชวัตรแสงส่องหล้าที่หนึ่ง 2) ลายยอประกาย โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรทอผ้าเกาะยอ 3) ลายรสสุคนธ์ โดยกลุ่มทอผ้าร่มไทร 4) ลายชวนชม โดยกลุ่มทอผ้าป้าลิ่ม และ 5) ลายจันทร์ฉาย โดยกลุ่มทอผ้าดอกพิกุล

ที่ผ่านมา ผ้าทอเกาะยอจำหน่ายในราคาหลาละ 300 บาท นิยมนำไปประยุกต์เป็นผ้าคลุมไหล่ และตัดเย็บเป็นชุดสำหรับสวมใส่ในโอกาสสำคัญ สร้างรายได้ให้กับผู้ทอเป็นเฉลี่ย 3,000-12,000 บาทต่อเดือน

แต่ก็มีปัญหาในเรื่องช่องทางการจำหน่ายที่จำกัดอยู่ในชุมชน และนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาในช่วงเทศกาล

จากการเข้าร่วมโครงการนี้ ได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ “ยอ ทอ มือ” ตลอดจนให้ความรู้ด้านการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การขนส่งสินค้า การหุ้มห่อที่ปลอดภัย เพื่อให้กลุ่มทอผ้าเกาะยอต้นแบบ 5 กลุ่มนี้ สามารถมีช่องทางในการจำหน่ายผ้าทอพื้นเมืองเกาะยอเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันได้การส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสร้างจุดแลนด์มาร์ก เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวบนเกาะยอ ให้สามารถมาท่องเที่ยวชิก ๆ กันได้ทั้งปี โดยร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ จัดหาสถานที่วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในรูปแบบ 3 มิติ ที่ตัวเรือบนหาดทรายเทียม รวมถึงบนผนังบ้านโบราณ และร้านอาหารภายในชุมชน ตลอดจนสนับสนุนกลุ่มนักปั่นจักรยาน จ.สงขลา โดยจัดให้มีเส้นทางการท่องเที่ยวเกาะยอ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเกาะยอมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาสินค้าชุมชนนั้น หากมีการพัฒนาอย่างรอบด้านก็จะช่วยกระตุ้นให้คนในพื้นที่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นระบบ และต่อยอดไปสู่การสร้างสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น

หมายเหตุ : หากใครมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สามารถส่งข้อมูลมาได้ที่ [email protected]