“เอออน” หาสุดยอดนายจ้าง ดันองค์กรเติบโตก้าวกระโดด

โครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นของเอออนเป็นโครงการที่ถูกออกแบบเพื่อเพิ่มความผูกพันระหว่างพนักงาน ประสิทธิภาพของผู้นำ ภาพลักษณ์องค์กร และวัฒนธรรมในองค์กร เพื่อขับเคลื่อนผลการดำเนินงานให้สูงขึ้น โดยโครงการนี้เป็นโครงการสำรวจนายจ้างที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ของ โครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นประเทศไทย

ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการจากหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริการทางการเงิน อาหารและเครื่องดื่ม การบริการ เภสัชกรรม และอื่น ๆ กว่าพันองค์กร

“ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอออน ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำรายชื่อองค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นนั้นดำเนินงานกับ 14 ตลาดในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ตะวันออกกลาง นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ซึ่งแต่ละปีรางวัลระดับภูมิภาคจะถูกมอบให้กับองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น 3 รางวัลขึ้นไปในแต่ละประเทศของภูมิภาคนั้น ๆ

“ผลสำรวจจากโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นในปี 2560 และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นในปีที่ผ่านมามี 4 มิติหลักที่โดดเด่นกว่าองค์กรทั่วไป คือ ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของนายจ้าง ประสิทธิภาพของผู้นำ และวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์”

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า องค์กรที่ได้เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นจะมีประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยรวมสูงกว่าองค์กรทั่วไปถึงร้อยละ 15 และถ้ามองมิติของการเติบโตของผลประกอบการในภาพรวมก็จะมีอัตราการเติบโตของยอดขายที่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยเฉลี่ย หรือมีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำกว่าองค์กรทั่วไปถึงร้อยละ 26

“องค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นมีการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่พนักงานในมิติต่าง ๆ ในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เด่นกว่าองค์กรทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการผลการปฏิบัติงาน โอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ การเรียนรู้และพัฒนา รวมถึงความน่าสนใจงานที่ได้รับมอบหมาย”

“แพรวพัชร เปรมศิรินิรันดร์” ผู้จัดการโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่น ประจำปี 2561 อธิบายถึงรายละเอียดโครงการว่า การประเมินสุดยอดนายจ้างดีเด่นเป็นเครื่องมือที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญจากเอออน ซึ่งการประเมินถูกแบ่งเป็น 3 ชั้นในระยะเวลา 12 เดือน ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 สำรวจความคิดเห็นของพนักงาน ใช้เวลา 15 นาทีต่อพนักงานแต่ละคน ชั้นที่ 2 people practices สำรวจกับหัวหน้าฝ่ายเอชอาร์เกี่ยวกับระบบการจัดการภายในองค์กร ใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง และชั้นที่ 3 สอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

“การเข้าร่วมโครงการทำให้องค์กรได้เปรียบเทียบ people practices กับองค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นในประเทศไทย เพื่อได้ข้อมูล insights และกรณีศึกษาที่ดีที่สุด ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ในเรื่องทรัพยากรบุคคลและกลยุทธ์ทางธุรกิจ ทั้งยังเป็นการเปรียบเทียบตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานขององค์กรตัวเอง กับองค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่น (benchmarking) และพัฒนาองค์กรให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่ดึงดูดให้ทุกคนอยากร่วมงานด้วย”

“ตอนนี้โครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นประเทศไทยอยู่ในช่วงของการรับสมัคร และจะปิดรับสมัครในวันสุดท้ายของเดือน เม.ย. 2561 ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลจะดำเนินการจนถึงวันสุดท้ายของเดือน พ.ค. 2561 ซึ่งปีนี้อาจมีการเพิ่มรางวัลใหม่ ๆ เช่น รางวัลองค์กรภาครัฐ หรือองค์กรมหาชน ซึ่งต้องดูสัดส่วนประเภทองค์กรที่เข้ามาสมัครก่อน อย่างปีที่แล้วเรามีการเพิ่มรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยสำหรับองค์กรขนาดเล็ก-ขนาดกลางด้วย”

“รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” รองผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในยุคเศรษฐกิจพลิกผันเป็นเรื่องท้าทายต่อการไปสู่เป้าหมายการเป็นสุดยอดนายจ้าง โดยแนวโน้มของเอชอาร์ในยุคเศรษฐกิจพลิกผันจะพบกับสถานการณ์ที่ 1 ใน 3 ของประชากรโลกใช้ virtual reality (VR) and artificial intelligence (AI) ในการทำงาน เพราะเชื่อว่าจะสามารถช่วยพัฒนาผลิตผลของงานได้ ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรยุคใหม่ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยียุคดิจิทัลมาพัฒนางานบริหารบุคคลด้วย

“นายจ้างและนักบริหารบุคคลยุคเศรษฐกิจพลิกผันทุกสายงานต้องทำหน้าที่เป็น HR manager ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องการบริหารคนเป็นเรื่องของฝ่ายเอชอาร์อย่างเดียว นอกจากนั้น ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกน้อง (employee centric) และบริหารงานโดยมีกลยุทธ์ในด้านการใช้ข้อมูลที่ชัดเจน (data-driven) และใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างสูงที่สุด เพื่อสามารถตอบคำถาม และแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรให้แก่ธุรกิจ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบจะแสดงตัวเลขความเสี่ยงด้านกำลังคนขององค์กรทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพอย่างชัดเจน”

“รศ.ดร.ศิริยุพา” กล่าวอีกว่า remote employment จะกลายเป็นแพลตฟอร์มการทำงานหลักของคนยุคใหม่ และพนักงานที่มีรูปแบบการทำงานแบบนั่งโต๊ะประจำในออฟฟิศจะกลายเป็นคนส่วนน้อยไปโดยปริยาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มองหาองค์กรที่มีสำนักงานแบบ smart office หรือออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับการปรับภูมิทัศน์ให้เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ของพนักงานมากขึ้น

“ผู้บริหารองค์กรต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนกลยุทธ์ และการดำเนินงานต่าง ๆ ให้ทันกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเรื่องไลฟ์สไตล์ ค่านิยม และความคาดหวังของพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อน”

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการเอออน สุดยอดนายจ้างดีเด่น นอกจากจะเป็นโอกาสในการเป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรผลักดันตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในเรื่องประสิทธิภาพการบริหารองค์กร และเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดึงดูดให้ทุกคนอยากร่วมงานอีกด้วย