การเรียนรู้ในอนาคต

คอลัมน์ ถามมา – ตอบไป สไตล์คอนซัลต์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป

ปีนี้ดิจิทัลมาแรงจริง ๆ ตั้งแต่ต้นปีมีกระแสข่าวเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาแทนคน หุ่นยนต์มาแทนแรงงาน ล่าสุดปัญญาประดิษฐ์สามารถทำข้อสอบแพทย์ได้หลายข้อ ไม่นานคงมีหมอเป็น robot

เมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารไทยพาณิชย์ออกมาประกาศว่า แบงก์ตั้งเป้าจะลดจำนวนสาขาลงจาก 1,153 สาขา เหลือเพียง 400 สาขา เพราะเชื่อว่าคนจะมาใช้บริการน้อยลง และหันมาใช้ช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น นอกจากนั้นยังจะลดพนักงานลงครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันประมาณ 27,000 คน เหลือแค่ 15,000 คนภายใน 3 ปี

ข่าวทำนองนี้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนพอสมควร ในโซเชียลมีเดียแชร์กันสะพัดว่าต่อไปคนจะตกงานกันเป็นเบือ เพราะหุ่นยนต์และเทคโนโลยีจะมาแย่งงานไปหมด

จริงหรือ ?

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทสลิงชอท กรุ๊ป ได้นำหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ชื่อดัง (โซเฟีย) เข้ามาในเมืองไทย ผมมีโอกาสสนทนากับเธอ และ “Dr.David Hanson” หัวหน้าทีมวิศวกร และผู้ออกแบบ จึงถามตรง ๆ ว่า หุ่นยนต์จะมาแทนคนในอนาคตได้จริงไหม

คำตอบน่าสนใจ…ทั้งหุ่น และคนตอบตรงกันว่า เทคโนโลยีจะมาช่วยคนมากกว่ามาทำลายคน เพียงแต่คนต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้าใจ และใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ได้เท่านั้น

ผมมีโอกาสอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก Udemy for Business ซึ่งเป็นเว็บไซต์ด้านการเรียนรู้ออนไลน์ ที่มีผู้ใช้บริการหลายสิบล้านคนทั่วโลก สถาบันแห่งนี้ได้เก็บข้อมูล และทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้บริการ พบว่าแนวโน้มการเรียนรู้ในอนาคตเป็นดังนี้

– เทคโนโลยีจะประมวลสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แล้วแนะนำว่าคนควรต้องเรียนรู้เรื่องใด โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางครั้งทักษะที่คิดว่าจำเป็นสำหรับอนาคตก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เสมอไป เทคโนโลยีจะช่วยประมวลผลจากข้อมูลที่มากมาย และซับซ้อน แล้วจึงแนะนำเนื้อหาที่บุคลากรแต่ละคนควรต้องเรียนรู้ ยกตัวอย่าง เช่น บนเว็บไซต์ของ Udemy for Business มีผู้เข้ามาใช้บริการด้าน leadership development มากถึง 18 ล้านคน

เมื่อคนเข้ามาเลือกเรียนวิชาหนึ่ง ระบบจะประมวลผลการเรียนรู้เปรียบเทียบกับผู้เรียนคนอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบคล้ายกัน และอยู่ในบริบทขององค์กรที่มีความใกล้เคียงกัน จากนั้นจึงแนะนำเนื้อหาที่ควรศึกษาเพิ่มเติม หรือเรียนต่อเนื่อง ในทันทีที่เรียนเรื่องหนึ่งจบ

– การเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์มือถือ หรือที่เรียกกันว่า mobile learning จะครองโลกในเวลาอีกไม่นาน จากสถิติพบว่า 75% ของผู้ใช้โทรศัทพ์แบบสมาร์ทโฟน จะดูวิดีโอจากมือถือของเขา โปรแกรมใหม่ ๆ ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยให้การเรียนรู้แบบนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจาก Udemy พบว่า ผู้เรียนจำนวนมากมักดาวน์โหลดหลักสูตรต่าง ๆ ไปไว้บนมือถือของตนเอง เพื่อเรียนรู้ในระหว่างเดินทาง หรือใช้งานในสถานที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ในปี 2016-2017 ที่ผ่านมา พบว่าการดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อใช้ในการเรียนรู้เติบโตสูงถึง 286% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน การเรียนรู้แบบออนไลน์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 50% ซึ่งสูงกว่าปี 2015-2016 ที่มีการเติบโตเพียงแค่ 7% เท่านั้น

– ทักษะการทำงานที่เป็น soft skills จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมาองค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง หรือที่เรียกว่า functional & technical skills เป็นหลัก เช่น นักบัญชีต้องเรียนรู้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับบัญชีการเงิน วิศวกรในโรงงาน ต้องฝึกฝนทักษะในการควบคุมเครื่องจักร และเรียนรู้เทคนิคการวางแผนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

ในขณะที่ทักษะอื่น ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง เช่น ทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการทำงานเป็นทีม ทักษะในการบริหารจัดการคน ฯลฯ ที่เรียกว่า soft skills มักไม่ค่อยได้รับความสนใจใส่ใจมากนัก แต่โลกในอนาคตจะเปลี่ยนไปเหตุการณ์กลับตาลปัตร ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาช่วยทำงานที่เกี่ยวข้องกับ functional & technical skills ในขณะที่มนุษย์จะทำงานในส่วนที่ต้องการ soft skills มากกว่าขึ้นกว่าเดิม

– ทักษะเกี่ยวกับการคิดจะมาแทนที่ทักษะเกี่ยวกับการทำ ในอดีตพนักงานถูกคาดหวังให้ทำ (do) หัวหน้างานถูกคาดหวังให้จัดการ (manage) และผู้บริหารถูกคาดหวังให้คิด (think) แต่โลกในอนาคต ทักษะการคิด (thinking skills) จะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับบุคลากรทุกคนในองค์กร

ดังนั้น แนวโน้มการพัฒนาคนจะมุ่งไปสู่การพัฒนาทักษะการคิดหลัก ๆ 4 ประการ ได้แก่ การคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) คือความสามารถในการแยกแยะองค์ประกอบของประเด็นต่าง ๆ และหาความสัมพันธ์เชื่อมโยง การคิดเชิงสังเคราะห์ (synthesis thinking) คือความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาหลอมรวมหรือถักทอภายใต้โครงร่างใหม่ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) คือความสามารถในการพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยการตั้งคำถามที่ท้าทายหรือโต้แย้งสมมุติฐานเดิมที่มีอยู่ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) คือความสามารถในการขยายขอบเขตความคิดออกไปจากเดิม เพื่อค้นหาคำตอบหรือทางออกที่ไม่เคยมีมาก่อน

แนวโน้มเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในโลกแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าคุณ และองค์กรจะพร้อมหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงก็จะดำเนินต่อไป