
ซอมเมอลิเยร์ (sommelier) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ ปฏิบัติหน้าที่ตามร้านอาหารหรือโรงแรมระดับ fine dining โดยซอมเมอลิเยร์มีหน้าที่แนะนำไวน์เพื่อให้เหมาะกับอาหารที่ลูกค้าต้องการและสร้างยอดขายไวน์ จึงต้องรู้ข้อมูลเชิงลึก ตั้งแต่ประเภทเครื่องดื่ม วัตถุดิบ แหล่งกำเนิด ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษา นอกจากนั้น ต้องมีทักษะการเสิร์ฟ และการรินไวน์ด้วย
นับเป็นอาชีพที่น่าสนใจเพราะได้รับค่าตอบแทนสูง ประมาณ 50,000-100,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถ ซึ่งการจะเป็นซอมเมอลิเยร์จะต้องสอบวัดระดับตามมาตรฐานสากล จากสถาบันที่ออกใบรับรองได้และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
อย่างเช่น Court of Master Sommeliers (CMS) จากการสอบ 3 ส่วนคือ ประสาทสัมผัสทางจมูกและลิ้น (blind tasting) ทฤษฎี และการบริการ โดยการรับรองมี 4 ระดับ ได้แก่ หนึ่ง introductory สอง certified สาม advanced สี่ master
ล่าสุด Asia Wine Institute (AWI) สถาบันไวน์แห่งเอเชีย ที่มุ่งเน้นด้านเทรนนิ่งและจัดกิจกรรมซอมเมอลิเยร์ ร่วมกับ SJM Resorts, S.A. (SJM) ผู้ประกอบการรีสอร์ตครบวงจรในมาเก๊า จัด Court of Master Sommeliers Accreditation Macau ซึ่งเป็นการเปิดหลักสูตรครั้งแรกในมาเก๊า พร้อมกับจัดการแข่งขัน SJM Asia Top Sommelier Summit 2023 ที่โรงแรม Grand Lisboa Macau
ตลอดระยะเวลา 3 วัน มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น Asia Wines & Spirits Awards (AWSA) พิธีมอบรางวัลรายการไวน์แห่งปีของจีน, การแข่งขัน China Sommelier ครั้งที่ 15 ซึ่งเป็นการแข่งขันซอมเมอลิเยร์ของจีนที่ดำเนินมายาวนานที่สุด โดยครั้งนี้ถือเป็นการจัดที่มาเก๊าครั้งแรก
นอกจากนี้ มีพิธีมอบรางวัล China Wine List of the Year Awards 2023 เชิดชูรายชื่อไวน์และเครื่องดื่มที่ดีที่สุดของร้านอาหารที่ดีที่สุดของจีน และงานคาร์นิวัลรวมไวน์ที่ได้รับรางวัลมากกว่า 130 รายการจากโรงบ่มไวน์ 32 แห่งในจีนด้วย

“ทอมมี่ แลม” ผู้ก่อตั้งและประธาน Asia Wine Institute (AWI) กล่าวว่า AWI เปิดหลักสูตร Court of Master Sommeliers (CMS) ครั้งแรกในสิงคโปร์ เมื่อปี 2008 และได้จัดเทรนนิ่งและจัดสอบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยขยายไปยังฮ่องกง มาเก๊า เซี่ยงไฮ้ มาเลเซีย ไทย และไต้หวัน
สำหรับซัมมิตครั้งนี้มีซอมเมอลิเยร์มากกว่า 200 คน, กรรมการที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติกว่า 28 คน, ตัวแทนรัฐบาล, ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารและไวน์, SOMM100 ซึ่งเป็นซอมเมอลิเยร์ระดับบัณฑิตศึกษา 100 คนของจีน, รวมถึงมีประธานจาก 10 สมาคมซอมเมอลิเยร์ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และกัมพูชา เข้าร่วมงาน
ขณะที่โปรแกรม Court of Master Sommeliers Accreditation Macau มีผู้สมัคร 62 คนเข้าร่วม ถือเป็นจำนวนที่สูงมากในเอเชีย และเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในมาเก๊า ส่วนการแข่งขัน China Sommelier ครั้งที่ 15 รอบ semi-final ได้ “เฮนรี่ หวู่” ครองตำแหน่งแชมป์

“เบนจามิน โธ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการฝ่ายการเงินและการพัฒนาของ SJM กล่าวว่า SJM ไม่เพียงมุ่งหวังที่จะสร้างมาตรฐานระดับสูงให้อุตสาหกรรมบริการเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างแรงบันดาลใจและฝึกฝนผู้ที่มีความสามารถด้านไวน์ด้วย นอกจากนี้ ต้องการจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมไวน์ของจีน และยกระดับภูมิทัศน์ของไวน์และอาหาร
“SJM Asia Top Sommelier Summit ถือเป็นงาน MICE ครั้งแรกสำหรับมาเก๊าที่ทำหน้าที่เป็นเวทีให้ความรู้สำหรับซอมเมอลิเยร์จากทั่วภูมิภาค และแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมไวน์เอเชีย นอกจากนั้น ผู้เยี่ยมชมก็ได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเจ้าของโรงกลั่นไวน์ที่มาร่วมงาน”

“ไบรอัน จูยัน” (MS) ประธาน The Court of Master Sommeliers Worldwide กล่าวว่า การสอบ Court of Master Sommelier ครั้งแรกจัดขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1969 โดยองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ในประเทศอังกฤษ อาชีพซอมเมอลิเยร์มีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนร้านอาหารอิสระ กลุ่มโรงแรม บาร์ คลับ และธุรกิจด้านท่องเที่ยวอื่น ๆ เป็นอาชีพที่มีเสน่ห์ และช่วยดึงรายได้เข้าประเทศ
ขณะที่ “โรแนน เซย์เบิร์น” (MS) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Court of Master Sommelier Europe และเป็นหนึ่งในซอมเมอลิเยร์ระดับมาสเตอร์ที่ปัจจุบันยังมีไม่ถึง 300 คนในโลก กล่าวว่า การเป็นซอมเมอลิเยร์ที่ดีได้ต้องรักในงานบริการ เพราะเมื่อรักในสิ่งที่ทำจะสามารถทำออกมาได้ดี
“ทักษะที่ต้องมีคือ เป็นคนช่างสงสัยเกี่ยวกับไวน์ มีทักษะการสื่อสารที่ดี มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ และสามารถทำงานเป็นทีมได้ เพราะต้องทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตไวน์ เจ้าของร้านอาหาร เชฟ และพนักงานในร้าน สิ่งสำคัญต้องรักษาประสาทสัมผัส ตา จมูก ลิ้น ให้ใช้การได้ดีอยู่เสมอ เพื่อจะได้รับรสของไวน์ได้อย่างแม่นยำ”

“นภณ ศรีวารินทร์” ประธานสมาคมผู้เชี่ยวชาญไวน์แห่งประเทศไทย (The Professional Sommelier Association of Thailand) กล่าวว่า ตนได้จัดการแข่งขันซอมเมอลิเยร์ครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2009 ซึ่งก่อนหน้านั้นมีแต่การแข่งขันที่เรียกว่า wine professional service เท่านั้น
ประเทศในเอเชียที่ให้ความสำคัญกับซอมเมอลิเยร์ และมีคนทำอาชีพนี้จำนวนมาก ได้แก่ จีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แต่การส่งเสริมอาชีพนี้ในไทยยังไม่ดีเท่ากับประเทศเหล่านั้น จึงทำให้ยังมีคนทำอาชีพนี้น้อยอยู่ อยากให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับอาชีพนี้มากขึ้น และให้การช่วยเหลือ
เพราะเป็นอาชีพที่มีเส้นทางการเรียนรู้ที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องเสียค่าเรียน ค่าสอบเพื่อประกอบอาชีพ เสียเงินซื้อไวน์มาชิมเพื่อฝึกฝน ซึ่งไวน์ในไทยมีราคาแพงกว่าในจีน มาเก๊า หรือสิงคโปร์ เพราะประเทศเขามีภาษีไวน์ถูกกว่า
และอยากให้คนไทยสนใจอาชีพซอมเมอลิเยร์ เพราะสามารถใช้วิชาความรู้ประกอบอาชีพได้หลายด้าน ทั้งในโรงแรม เรือสำราญ ร้านอาหาร หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจ และมีโอกาสทำงานต่างประเทศด้วย
นับว่าซอมเมอลิเยร์เป็นอาชีพที่น่าส่งเสริม เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะสูง และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้