แก้ปัญหา ต้องศึกษาเชิงระบบ

คอลัมน์ CSR Talk
โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ


ข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลที่มีตัวเลขแสดงให้เห็นว่าขณะนี้มีการปล่อยกู้ฉุกเฉินไปแล้ว 2.28 แสนราย เป็นเงิน 1.01 หมื่นล้านบาทโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในขณะที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชนเองก็มีการตั้งหน่วยงานแก้ไขปัญหาหนี้สินในความรับผิดชอบของสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน มีวัตถุประสงค์คือแก้ปัญหาหนี้สินที่มีกระจายในหลายกองรวมทั้งหนี้นอกระบบของคนจนให้มารวมอยู่ในสัญญาเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ซึ่งได้กำหนดตัวชี้วัดคือ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา 10,000 ครัวเรือนในปี 2560

ทำให้นึกถึงคำกล่าวของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ที่ว่า…เราไม่สามารถใช้วิธีคิดและการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ โดยหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป เพราะว่ามีรัฐบาลหลายสมัยมาแล้วที่ใช้วิธีหว่านเงินลงไปเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ก็ยังคงอยู่เหมือนเชื้อโรคดื้อยา

เช่นเดียวกับการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพครู” ของ “คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” (กอปศ.) การแก้ปัญหาเฉพาะจุด โดยไม่ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งระบบ ทำ
ให้คาดหวังความเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก

ถ้าพยายามหาจุดตั้งต้นของปัญหาหนี้สินคือเกิดจากรายรับไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ซึ่งต้องหาข้อมูลต่อไปว่ารายรับกับค่าใช้จ่ายนั้นมีช่องว่างแค่ไหน ทำไมรายรับจึงไม่พอกับรายจ่าย ทำอย่างไรที่จะเพิ่มรายรับให้มากขึ้น มีรายจ่ายส่วนใดบ้างที่เกินความจำเป็น ทำอย่างไรจะลดรายจ่ายลงได้บ้าง การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบจะทำให้การแก้ปัญหาง่ายขึ้น และนำไปสู่วิธีคิดแบบใหม่ได้ในที่สุด

แต่ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุ เพียงเอาเงินก้อนใหม่เข้าไปทดแทนเหมือนการใช้บัตรเครดิตใบใหม่ไปล้างหนี้ใบเก่า หนี้สินก็เพียงเปลี่ยนที่ยืนเท่านั้น แต่มันยังคงอยู่ และพองตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ

เป้าหมายความยั่งยืน 17 ประการมีส่วนในการกระตุ้นให้องค์กรธุรกิจหันมาปรับแนวทางการทำ CSR ให้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น การมองระบบของปัญหาจะช่วยให้การวางแนวทางการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายและตอบตรงโจทย์รายงานความยั่งยืนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขจัดความยากจน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่เท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในวัตถุประสงค์ของการทำ CSR ขององค์กรอยู่แล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรให้เกิดผลที่วัดได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าประเด็นใดก็ตามการมองปัญหาเชิงระบบจะทำให้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ดังเช่น การประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มเทสโก้ ธุรกิจค้าปลีกในสหราชอาณาจักรจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศลและกลุ่มชุมชนกว่า 5,000 องค์กรเพื่อนำสินค้าที่บริจาคไปประกอบเป็นอาหารให้กับผู้ยากไร้ เป็นการลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว

ในประเทศไทยเรื่องของการจัดการขยะเป็นประเด็นหลักขององค์กรที่ทำโครงการลดโลกร้อน แต่ที่ผ่านมากิจกรรมที่เห็นคือการรณรงค์ให้มีการแยกขยะ และพยายามนำเอาขยะมาใช้ประโยชน์ มากกว่าที่จะให้ความสนใจในการหาวิธีการในการลดขยะ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าการสร้างขยะของคนไทยต่อครัวเรือนในปี 2559 โดยเฉลี่ยคิดเป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน จากทั้งหมด 27.06 ล้านตัน และเกินกว่าครึ่งเป็นขยะอาหาร ซึ่งมีผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 14 เท่า

การมองปัญหาให้เห็นความเชื่อมโยงดังกล่าวจะทำให้เห็นผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้กระเทือนถึงดวงดาว” อย่างชัดเจน เพราะคนส่วนใหญ่คงไม่คิดว่าอาหารที่เหลืออยู่ในจานเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นเดินทางไปสู่การทำลายชั้นบรรยากาศของโลกได้อย่างไร

ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจหนี้สินครัวเรือนไทยปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่า หนี้สินครัวเรือนไทยสูงสุดรอบ 10 ปี 91.1% ของครัวเรือนมีหนี้สิน นอกจากนี้ ยังพบว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 79.3% เคยผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว สถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และยังนำเสนอด้วยว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องทำทั้งเรื่องค่าครองชีพ สวัสดิการประชาชน การเพิ่มรายได้ จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

นี่คือการมองการแก้ปัญหาเชิงระบบ ที่นำไปต่อยอดในการทำ CSR ได้ ด้วยการสร้างองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งมีหลายชุมชนประสบความสำเร็จและควรเรียนรู้ 

 

ที่มาของข้อมูล : https://thaipublica.org/2018/03/foodwastecrisis-tesco1 https://www.thairath.co.th/content/1097090