พัฒนาชีวิตเด็กแคมป์ บริบทแห่งความท้าทายภาคอสังหาฯ

60,000 คน คือ จำนวนเด็กที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้างในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาวะพื้นฐานที่ดี และไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่พึงมี จึงทำให้ขาดโอกาสในวัยเด็ก จนส่งผลต่อชีวิตที่ดีในอนาคต

ดังนั้น เพื่อเจาะลึกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างจึงควรเข้ามามีบทบาทต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลเช่นนี้จึงทำให้ ยูนิเซฟ ประเทศไทย และมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก จัดทำงานวิจัยในหัวข้อ “สร้างสรรค์อนาคตประเทศไทย : เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง” ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเด็ก ผู้ปกครองในแคมป์ก่อสร้าง และบริษัทต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว

นิโคลา ครอสตา

“นิโคลา ครอสตา” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยเป็นผลจากการทำงานร่วมกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง รวม 38 แห่ง มีผู้มีส่วนร่วมกว่า 120 คน โดยจากการทำงานพบว่าเด็กจากแคมป์ก่อสร้างในไทยส่วนใหญ่มีพ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติ ทั้งยังต้องเจอกับความท้าทายใน 4 มิติหลัก ได้แก่ การศึกษา, สุขภาพ, สิทธิ และโครงสร้างพื้นฐาน

โดยข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัย คือ มีเด็ก 90% ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และกว่า 20% ของเด็กทั้งหมดไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือภูมิคุ้มกัน เพราะครอบครัวไม่รู้ว่าเด็กควรได้รับวัคซีนเมื่อไร หรือต้องป้องกันโรคอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีเด็กถึง 93% ต้องพบกับความรุนแรง หรือการทะเลาะเบาะแว้ง ขณะเดียวกัน 80% ของห้องน้ำในแคมป์ก่อสร้าง ไม่มีการแยกหญิง/ชายแต่อย่างใด

“ผลการวิจัยนำไปสู่การวิเคราะห์ และสรุปผลออกมาเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติ 12 ด้าน (อ่านประกอบในล้อมกรอบ) ที่บริษัทสามารถวางแผนและปฏิบัติได้ทันที เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับชีวิตของเด็ก ๆ ทั้งยังส่งผลดีต่อบริษัท และสังคมโดยรวม”

“อย่างไรก็ดี เราพบว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยบางรายมีโครงการดูแลเด็กอยู่แล้ว ทั้งด้านการศึกษา และสุขาภิบาล กระนั้น การดำเนินงานเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในทุกบริษัท ซึ่งเราต้องการให้แต่ละบริษัทมีการวางยุทธศาสตร์เรื่องการดูแลเด็กในแคมป์ก่อสร้างอย่างจริงจัง”

อภิชาติ จูตระกูล

หนึ่งในบริษัทที่ดำเนินงานเรื่องนี้ตามที่ “นิโคลา ครอสตา” กล่าวถึง คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโครงการ The Good Space หรือโครงการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สำหรับเรื่องนี้ “อภิชาติ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แสนสิริ กล่าวว่า The Good Space ดำเนินการในสถานที่ก่อสร้างของแสนสิริ เกือบ 20 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเราจัดสรรพื้นที่ว่างให้เป็นแหล่งมอบความรู้ และเสริมทักษะให้แก่เด็กที่ขาดโอกาส

“ไม่ว่าจะเป็นเด็กสัญชาติใดก็มีสิทธิ์ใช้พื้นที่ และทำกิจกรรม โดยมีกลุ่มอาสาสมัครเข้ามาช่วยฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเด็ก รวมถึงพนักงานแสนสิริ และบริษัทในเครือยังใช้เวลาว่างมาสอนหนังสือให้แก่พวกเขาด้วย เด็ก ๆ จึงมาเล่น และเรียนรู้ได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยระหว่างที่พ่อแม่กำลังทำงาน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งวิธีในการปกป้องพวกเขาจากการใช้แรงงานเด็กอีกด้วย”

“การที่เราช่วยเหลือเด็ก ทำให้เรารักษาคนของเราได้นานขึ้น เพราะเมื่อเด็กมีโซนที่ปลอดภัย ส่งผลให้พ่อแม่ทำงานง่ายกว่าเดิม ซึ่งตอนนี้บริษัทในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาของเด็กในแคมป์ก่อสร้างมากขึ้นเรื่อย ๆ”

วิศิษฎ์ เลาหพูนรังสี

ขณะที่ “วิศิษฎ์ เลาหพูนรังสี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ฉายภาพถึงสถานการณ์แรงงานว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วต้องเจอปัญหาแรงงานถูกซื้อตัวจากบริษัทอื่น โดยบริษัทต้องการให้แรงงานอยู่กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะของเขาให้มีคุณภาพในระยะยาว เพราะเป้าหมายขององค์กรคือการส่งมอบความสุขที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ลูกค้า แต่ครอบคลุมถึงทีมงานก่อสร้าง และแรงงานด้วย

“เพื่อป้องกันการดึงตัว และการขาดแคลนแรงงาน บริษัทจึงมองว่าในแคมป์ก่อสร้างต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน เช่น สนามเด็กเล่น ร้านขายของ โดยปัจจุบันอารียามีโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ ใน 6 ไซต์งานหลัก เพื่อให้เขาไม่ไปรบกวนพ่อแม่ในเวลาทำงาน เพราะเรามีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทำกิจกรรม โดยจะมีทีมงานที่เคยทำงานด้านสังคมสงเคราะห์มาก่อนเป็นผู้ดูแล ตอนนี้เราติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเติมเต็ม ทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา อย่างสถานีอนามัยก็เข้ามาดูแลสุขภาพ และครูจิตอาสาเริ่มเข้ามาสอนหนังสือ”

“ตอนนี้เรามีเด็กอยู่ประมาณ 150 คน ใน 6 แคมป์งาน ปีที่ผ่านมาเราสามารถส่งเด็กเข้าโรงเรียนได้ 20% และตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนนี้ให้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคนงานของเราไม่ได้

มีเป้าหมายเรื่องเงินเหมือนเมื่อก่อนแล้ว กลับกันคือไม่อยากให้เราย้ายเขาไปไหน เพราะอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ ส่งผลให้จำนวนคนงานของเราไม่ลดลง กระทั่งนำไปสู่การพัฒนาทักษะแรงงานต่อไป”

โธมัส ดาวิน

“โธมัส ดาวิน” ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยมีนโยบาย และกฎหมายการสนับสนุนให้เด็กทุกคนในประเทศเข้าถึงสิทธิ และบริการขั้นพื้นฐาน กระนั้น ในทางปฏิบัติยังคงมีอุปสรรคสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งด้วยจำนวนโครงการก่อสร้างของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทในอุตสาหกรรมนี้ควรตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เด็กต้องเผชิญ หรือดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม

“เราหวังว่าบริษัทอื่น ๆ จะนำแบบอย่างเข้าไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของตัวเอง ขณะเดียวกัน เราอยากให้เกิดพันธสัญญาระหว่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างว่าจะดำเนินการเรื่องการดูแลเด็กในแคมป์ก่อสร้างด้วยกัน หรือเกิดการรวมตัวกันของบริษัทในอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น”

เพราะไม่เพียงจะสร้างความยั่งยืนให้กับเด็ก หากยังส่งผลต่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย

……………..

แนวทางปฏิบัติ ดูแลเด็กในแคมป์ก่อสร้าง

ส่วนหนึ่งของงานวิจัยมีการนำเสนอข้อแนะนำ หรือกรอบแนวทางปฏิบัติ 12 ด้าน

สำหรับนำไปขยายผลสู่การช่วยเหลือเด็กที่อาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้างทั่วประเทศไทย โดยสามารถปรับให้เข้ากับที่พักคนงานแบบต่าง ๆ ตามแต่สถานการณ์

สำหรับแนวทางทั้ง 12 ด้าน อยู่ภายใต้ 4 มิติหลัก คือ 1.โครงสร้างพื้นฐาน : มีสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัยมากขึ้น, ปรับปรุงระบบการจัดการของเสียและระบบการส่งเสริมสุขอนามัย, โอกาส และพื้นที่สำหรับมีปฏิสัมพันธ์ และเล่นกับเด็กอื่น

2.สิทธิ : การให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็ก และการคุ้มครองเด็ก รวมทั้งการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ, การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเข้าถึงบริการต่าง ๆ (สุขภาพ, การศึกษา, เอกสารทางกฎหมาย), มีพัฒนาการทางสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (ป้องกันจากการถูกเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาแรงงานเด็ก)

3.สุขภาพ : การเข้าถึงวัคซีน, การเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพ, การมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพื้นฐานและการปฏิบัติ และ 4.การศึกษา : การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน, การช่วยเหลือในการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียน, การให้การสนับสนุนด้านการศึกษาเพิ่มเติมนอกระบบ ผ่านกิจกรรมการศึกษานอกระบบ