พลังคนไทย สุขา สุขใจ “คิง เพาเวอร์” มอบ “ห้องน้ำ” ให้ชุมชน

ช่วงผ่านมามักจะเห็นการโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรองอยู่เนือง ๆ โดยรัฐบาลหวังปั้น 55 เมืองรอง ให้มีนักท่องเที่ยว 4 ล้านคน/ปี เพื่อสร้างรายได้ 10% ของการท่องเที่ยวประเทศไทย วัตถุประสงค์เพื่อกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกตัวอยู่แค่เมืองหลัก ทั้งยังส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน

แต่กระนั้น การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวคงไม่สามารถทำได้ทันที เพราะทั้ง 55 จังหวัด มีอัตลักษณ์ จุดขาย และความพร้อมแตกต่างกัน ดังนั้นการจะยกระดับรายได้ จึงไม่ใช่แค่เตรียมความพร้อมแค่ด้านสถานที่ แต่จะต้องสร้างความสามารถในการจัดการตนเองจากในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย ด้วยการเริ่มต้นทำจากสิ่งง่าย ๆ เสียก่อน คือ การจัดการห้องน้ำ

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเยือนสถานที่แห่งนั้นหรือไม่ คือ ห้องน้ำ ยิ่งอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งจากเทรนด์การเที่ยวด้วยตนเอง ประกอบกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนของคณะรัฐมนตรี ทำให้กระแสการท่องเที่ยวชุมชนเพิ่มจำนวนขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมพัฒนาทุกด้านบนพื้นฐาน สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และยั่งยืน

“หลายครั้งที่ห้องน้ำกลายเป็น pain point สำคัญ ที่จะทำให้เกิดโอกาส หรือเสียโอกาส จากการท่องเที่ยว การร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ครั้งนี้ จึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านการปิดจุดอ่อนเล็ก ๆ อย่างห้องน้ำ จนสามารถส่งมอบห้องน้ำแห่งแรก ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่บริหารของภาครัฐ ที่มีความพร้อมในการดูแล เพราะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก”

“นอกจากนี้ เกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่อื่น ๆ เราพยายามส่งมอบแก่สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเมืองรอง ซึ่งยังต้องการการพัฒนาตนเองไปสู่เมืองหลัก ดังนั้น ห้องน้ำที่ส่งมอบไปยังสถานที่ถัดไป จะมีการพัฒนารูปแบบร่วมกับเอกชน และชุมชนไปเรื่อย ๆ โดยเน้นความกลมกลืนกับพื้นที่ ยึดหลักความปลอดภัย แต่ไม่ลับตา”

โจทย์ในการพิจารณามอบห้องน้ำ “วีระศักดิ์” เปิดเผยว่า จะเน้นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้หญิงไปเยือนมากเสียก่อน เนื่องจากเทรนด์การท่องเที่ยวปัจจุบัน ผู้หญิงเริ่มท่องเที่ยวด้วยตนเองมากขึ้น และจะให้ความสำคัญกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีห้องน้ำสะอาด ถัดมาคือการพิจารณาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เราต้องดูว่าห้องน้ำไม่ขัดกับภูมิทัศน์ นอกจากนั้น ผู้รับมอบต้องมีบุคลากรที่จะเข้ามาบริหารดูแลรักษาเรื่องความสะอาด โดยจะเป็นบุคลากรของรัฐ หรือคนในชุมชนก็ได้ นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องของจำนวนผู้เข้ามาเยือนต้องไม่ต่ำกว่า 500-1,000 คน/สัปดาห์

“ประเทศไทยยังไม่เคยมีการออกแบบห้องน้ำอย่างจริงจัง โครงการนี้จึงเป็นเหมือนการสร้างโครงการต้นแบบในการสร้างห้องน้ำที่เหมาะสมกับคนทุกคน นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้ของผู้มาเยือน ในอดีตนักท่องเที่ยวเคยตื่นเต้นกับชักโครก ประเทศญี่ปุ่น แต่วันนี้สายฉีดชำระเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะชาวต่างชาติบางประเทศที่ไม่นิยมใช้สายฉีดชำระ เพราะใช้กระดาษชำระแทน แต่พอเขามาเห็นสายฉีดชำระบ้านเรา จึงพากันซื้อกลับบ้านกันถ้วนทั่ว”

การท่องเที่ยวเมืองรองยังมีขั้นตอนอีกมากมายกว่าจะสามารถดันให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ดังนั้นห้องน้ำจึงเป็นกระบวนการหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนในชุมชนจะต้องเข้ามาร่วมเรียนรู้ จัดการ และดูแล จึงจะเกิดความยั่งยืนในที่สุด

“อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด “KING POWER พลังคนไทย” เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีแก่สังคม และขับเคลื่อนประเทศไทย คนไทย ให้เจริญก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเราแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านกีฬา (sport power) 2.ด้านดนตรี (music power) 3.ด้านชุมชน (community power) 4.ด้านสุขภาพ และการศึกษา (health & education power)

“ความร่วมมือกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนด้านชุมชน เนื่องจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของแหล่งท่องเที่ยว จนนำมาซึ่งการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อนำรายได้เข้ามาสู่พื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ เรายังมองว่าคนในชุมชนเองอาจเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากห้องน้ำดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ และผู้สูงอายุ”

“โดยจุดประสงค์ของโครงการคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ มอบห้องน้ำให้แก่ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว จำนวนทั้งสิ้น 10 แห่งภายในปี 2561 รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

โดยเป็นห้องน้ำที่ออกแบบให้มีรูปแบบสากล หรือ universal design เป้าหมายเพื่อขจัด pain point เรื่องห้องน้ำ และสร้างภาพจำที่ดีสู่ภาพใหญ่ พร้อมกับสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

ส่วนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้านชุมชนอื่น ๆ “อัยยวัฒน์” กล่าวว่า ที่ผ่านมาคิง เพาเวอร์ พัฒนาสินค้าโอท็อปให้สามารถไปสู่ตลาดสากลมากขึ้น โดยเข้าร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการมองหาสินค้าโอท็อปมาร่วมกันพัฒนา ทั้งในด้านมาตรฐาน รูปแบบ และปริมาณการผลิต เพื่อตอบรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าของคิง เพาเวอร์ ปัจจุบันมีสินค้าโอท็อปทั้งในกลุ่มอาหาร ผ้าพื้นเมือง สินค้าที่ระลึกต่าง ๆ วางจำหน่ายในพื้นที่ของคิง เพาเวอร์ มากกว่า 300 รายการ ทั้งยังมีการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องปีละ 10-20 ราย เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาขาย

“แต่ละปีเรามีการตั้งงบประมาณซีเอสอาร์อยู่ที่ 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแต่ละด้านงบประมาณจะไม่เท่ากัน เช่น ในกลุ่มกีฬาอาจจะใช้มากที่สุดถึง 35% รองลงมาคือ ด้านชุมชน ประมาณ 15% ส่วนที่เหลือเป็นด้านดนตรี และการศึกษาฯ แต่ทั้งนี้ เรามองว่าด้านชุมชนเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนมากขึ้น เนื่องจากที่ดิวตี้ฟรีที่สนามบิน และดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวเข้ามา และซื้อสินค้ากลับไปยังประเทศของเขา ทั้งยังเป็นจุดที่สินค้าไทยกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ยังมีโอท็อปอีกมากมายที่เราอยากเข้าไปพัฒนา แต่สิ่งสำคัญคือชุมชนต้องพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กับเราด้วย”

ขณะที่ “รณรงค์ เส็งเอี่ยม” ผู้อำนวยการองค์กรสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ผู้รับมอบห้องน้ำจากโครงการเป็นแห่งแรก กล่าวว่าสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังเป็นสวนพฤกษศาสตร์ระดับสากลแห่งแรกของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ยังเป็นสถานที่อนุรักษ์รวบรวมพรรณไม้ต่าง ๆ มากมาย

“จึงเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมในการมาพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะมีจำนวนผู้เข้าชมเฉลี่ย 1,000 คน/วัน สูงสุดคือช่วงเทศกาลประมาณ 7,000 คน/วัน จึงทำให้ห้องน้ำที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการรับมอบห้องน้ำครั้งนี้จึงเป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็ม และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือน”

“ห้องน้ำที่ได้รับจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวทุกคนอย่างเสมอภาค เพราะห้องน้ำพลังคนไทย สุขา สุขใจ เป็นการออกแบบที่เป็นสากล หรือ universal design เพื่อรองรับคนพิการ ผู้สูงอายุ ที่จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต”