ไทยยูเนี่ยน สนับสนุนกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานอุตสาหกรรมประมงทะเลไทย

ไทยยูเนี่ยน ร่วมสนับสนุนกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฉบับใหม่ที่กำหนดให้นายจ้างที่ทำการประมงจัดให้มีอุปกรณ์ หรือระบบการสื่อสารรับส่งข้อความผ่านดาวเทียม สำหรับลูกจ้างแรงงานประมง ระหว่างที่ออกทะเลนอกน่านน้ำไทย

ตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ระบุว่า นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์หรือระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่รองรับการรับส่งข้อความได้ไม่ต่ำกว่า 1 เมกะไบต์ ต่อคนต่อเดือน เพื่อให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของลูกจ้างทั้งหมดบนเรือสามารถเข้าถึงและใช้ในการติดต่อประสานงานได้ โดยให้นายจ้าง เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกัปตัน และลูกเรือ ให้สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายในครอบครัว หรือแจ้งเรื่องราวความเดือดร้อนและร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ขณะออกเรือ

การปรับปรุงในครั้งนี้ถือเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ต้องการคุ้มครองแรงงานในภาคประมงทะเล ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ รวมถึงพัฒนาการบริหารจัดการแรงงานในงานประมงทะเลของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนในการทำงานในท้องทะเล (C188)

โดยกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ได้ออกหลังจากที่ “บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)”, “บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์” และ “Inmarset” ได้ร่วมกับกรมประมงและหน่วยงานต่างๆ เปิดตัวโครงการนำร่องการตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบดิจิทัลในปี 2560 ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน (SeaChange®)

การติดตั้งระบบสื่อสาร “Fleet One” ของ Inmarsat บนเรือประมงในประเทศไทยประสบความสำเร็จ โดยลูกเรือ กัปตัน และเจ้าของเรือ ได้เข้ารับการอบรมการใช้แอปพลิเคชันการสื่อสาร “Fish Talk” ซึ่งพัฒนาโดย Xsense ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับครอบครัว และเพื่อนได้ทั่วโลกในขณะอยู่ในทะเลได้ ทั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมประมงของไทยที่ใช้ระบบสื่อสารดังกล่าว

โครงการนำร่องจะทดสอบการเข้าถึงรูปแบบสำหรับการบันทึกข้อมูลการจับปลาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Catch Data and ซึTraceability: CDT) โดยการใช้แอปพลิเคชันอุปกรณ์เคลื่อนที่ และการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม ซึ่งจะแสดงข้อมูลการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดเส้นทาง รวมทั้งการบริหารจัดการในห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย

ระบบนี้ทำให้ซัพพลายเออร์มีความสามารถในการบันทึกการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบภายใต้การดูแลของผู้จัดการการประมง รวมทั้งสามารถบริหารความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน การแสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดเส้นทาง และการจัดการในห่วงโซ่อุปทาน โดยสามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อจัดการข้อกังวลในเรื่องการทำประมงแบบ IUU และประเด็นเรื่องแรงงานในการทำประมง อีกทั้งแรงงานประมงสามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนของพวกเขาที่อยู่ภาคพื้นดิน หรือแจ้งเรื่องร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ขณะออกเรือได้

“ดร.แดเรี่ยน แมคเบน” ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อนำความโปร่งใสอย่างเต็มรูปแบบและระบบตรวจสอบแบบดิจิทัลมาใช้ในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยโครงการนำร่องและกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฉบับใหม่นี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเดินไปอย่างถูกทิศทาง

“สำหรับในระยะยาว การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมประมงทั้งหมดมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการดูแลแรงงานได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญแก่ผู้บริโภคทั่วโลก”