
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ
ผ่านไปเกือบครึ่งปีแล้วนะคะ เราลองมาดูกันว่าแนวโน้มด้าน HR สำหรับปีนี้มีอะไรบ้าง และมีอะไรที่เรานำมาใช้แล้ว หรือถ้ายังไม่ใช้วันนี้จะได้วางแผน หรือเริ่มคิดว่าจะใช้มั้ย ใช้แค่ไหนอย่างไรดีนะค่ะ โดยแนวโน้มด้าน HR ของ SHRM (เป็นหน่วยงานด้าน HR ที่มีชื่อเสียงระดับโลก) มี 10 เรื่องดังนี้
- เปิดประวัติ “ปลื้ม สุรบถ หลีกภัย” อดีตยูทูบเบอร์ ลูกชายคนเดียวของ “ชวน”
- “ปลื้ม” ตอบแล้ว ปมถูกฟ้องทำสูญเงิน 15 ล้าน ปัดตอบกระทบ “ชวน”
- ไทยพาณิชย์ แจ้งปิดปรับปรุงระบบ “SCB EASY App” ชั่วคราว 10 มิ.ย.นี้
1.การหาคนเก่ง (talent) ที่ใช่ (find the right talent) การหาคนเก่งที่ใช่ทำได้หลายวิธี ปกติจะใช้แนวทาง
3 B ค่ะ คือ B ที่ 1 – Buy (การหาคนจากภายนอก ซึ่งมีข้อดีคือ มีทางเลือกค่อนข้างมาก แต่สำหรับตลาดแรงงานไทย ในบางงานจะมีการแย่งตัวกันสูง เช่นงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล งานกลยุทธ์ HR เป็นต้น ส่วนข้อเสียคือ การปรับเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรอาจเป็นประเด็นสำหรับการหาคนจากภายนอก)
B ที่ 2 – Build (คือการสร้างคนจากภายใน ข้อดีคือ จะฟิตกับวัฒนธรรมองค์กรอยู่แล้ว ข้อเสียคือ อาจหาคนที่มีศักยภาพภายในได้ไม่ตรงกับที่ต้องการ) สุดท้าย B ที่ 3 คือการ Borrow (คำนี้เป็นคำค่อนข้างใหม่ หมายถึงการจ้างงานชั่วคราว ไม่ว่าจะในรูปแบบการทำสัญญาจ้าง การจ้าง freelance หรือการ partner กับคู่ค้า ซึ่งข้อดีคือ ไม่ต้องมีต้นทุนตายตัว จ่ายเฉพาะเมื่อต้องการใช้งาน หรือที่เรียกว่า pay-on-demand ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ในการจ้างงาน)
2.การพัฒนา และปรับเปลี่ยนทักษะพนักงานอย่างเร่งด่วน และหนักหน่วง (upskills, reskills) ผลจากการปรับเปลี่ยนมากมายโดยเฉพาะการนำ AI มาใช้ในองค์กรมากขึ้นเรื่อย ๆ (ประมาณการว่าภายใน 20 ปีข้างหน้าจะมีงานที่หายไปมากกว่า 20% และจะมีงานเกิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยมาแทน) จึงทำให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนงาน ดูว่างานไหนใช้ AI ได้ จะได้ประหยัดต้นทุน งานไหนที่ยังจำเป็นต้องใช้คน แล้วงานที่เหลืออยู่คนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทักษะอย่างไรให้พร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงได้
ซึ่งเรากำลังพูดถึงการปรับเปลี่ยนทักษะอย่างมากนะคะ (เช่น ต้องมีทักษะ ความรู้ในเรื่องดิจิทัลทั้งหลาย ต้องเปลี่ยน mindset ให้เป็นระดับโลกให้ได้ ต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์หาทางเลือกมากกว่าหนึ่ง เป็นต้น)
จากรายงานล่าสุดของ SHRM พบว่าต่อไปการปรับเปลี่ยนทักษะพนักงานอย่างน้อย 15-20 เท่า จะเป็นเรื่องปกติสำหรับพนักงานที่เป็นมิลเลนเนียล หน้าที่งาน HR ที่จะเพิ่มความสำคัญขึ้นคือ งาน learning and development ซึ่งเป็นตัวขับหลักในเรื่องนี้นะคะ
3.การเรียนรู้ออนไลน์ (online learning) ในเมื่อมีการปรับเปลี่ยนทักษะอย่างมหาศาล การเรียนรู้ออนไลน์ จึงเป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ทำอะไร ๆ ทางออนไลน์หมดแล้ว การเรียนหนังสือออนไลน์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขาจะนิยมทำ (กว่าการเรียนในคลาส)
4.การใช้ HR chatbots บอตคือการใช้โปรแกรมอัตโนมัติสำหรับทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งย่อมาจากโรบอต (robot) แปลว่าหุ่นยนต์ โดยบอตที่เราจะพูดถึงในวันนี้ถูกออกแบบให้ทำงานในโปรแกรมเมสเซนเจอร์ โดยทำหน้าที่ตอบคำถาม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ตามที่ได้รับการตั้งโปรแกรมขึ้นมา แล้วยังมีบอตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่จำลองการสนทนากับผู้ใช้ โดยมีทั้งที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังพูดคุยกับคู่สนทนาที่เป็นมนุษย์จริง ๆ หรือให้ผู้ใช้เลือกบทสนทนาตามที่โปรแกรมกำหนดให้
การใช้ HR chatbots มักใช้สำหรับการตอบข้อมูลพนักงาน มีรายงานว่า HR ใช้เวลามากกว่า 40% ไปกับการให้ข้อมูล หรือชี้แจงกับพนักงานในเรื่องต่าง ๆ การนำ HR chatbots มาใช้จะประหยัดเวลาและต้นทุนของ HR ไปได้มาก
5.การจ้างงานแบบยืดหยุ่น (flexible work arrangement) การจ้างงานจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้เหมาะกับทุกความต้องการของพนักงาน เช่น พนักงานรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการเดินทาง ไม่ต้องการทำงานเต็มเวลา อยากมีเวลาขายของออนไลน์ด้วย หรือพนักงานที่เป็นคุณแม่ ต้องการเวลาดูแลลูก แต่ยังอยากได้เงินเดือน หรือพนักงานอาวุโสที่เกษียณอายุ แต่ที่มีความรู้ความสามารถที่องค์กรยังพัฒนา หรือหามาทดแทนไม่ได้ เป็นต้น
การจ้างงานจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับความต้องการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานแบบ part-time แบบสัญญาจ้างงาน แบบทำงานที่บ้าน แบบเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น เป็นต้น ทราบมั้ยคะว่า มีรายงานบอกว่าภายในปี 2020 พนักงานที่ไม่ทำงานประจำในสหรัฐอเมริกาจะมีมากถึง 40% ของพนักงานทั้งหมด
6.การสร้างความประทับใจให้กับพนักงาน (employee experiences) คือต่อไปเราจะไม่พูดกันแค่การสร้างความผูกพันกับพนักงานนะคะ แต่เราจะพูดกันว่าจะสร้างความประทับใจให้เกิดแก่พนักงาน ให้พนักได้รู้สึกถึงประสบการณ์ในการทำงานกับเราได้อย่างไร เหมือนการตลาดเวลาขายของเขาจะพูดว่าจะสร้าง customer expericencs อย่างไร
ในวงการ HR ก็เหมือนกันค่ะ เราควรจะทรีตพนักงานเป็นลูกค้าของเราเช่นกัน และสร้างประสบการณ์ในการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน
7.การสร้างผู้นำที่มีความเป็นสากล (global leader) ผู้นำในอนาคตต้องมีแนวคิดที่เป็นสากล หรือที่เรียกว่า globality mind-set คือสามารถนำเทรนด์ หรือความรู้ในระดับสากลมาปรับใช้กับงานที่ตัวเองต้องทำได้ นอกจากนี้ ผู้นำในอนาคตต้องมี competency หรือสมรรถนะ ให้สอดคล้องกับโลกที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น ความรู้ในเรื่องดิจิทัลต่าง ๆ การสร้างสัมพันธ์รอบด้าน (360 องศาเลย) เป็นต้น
8.ให้ความสำคัญกับชุมชน (community focus) เทรนด์ที่เกิดขึ้นคือ การที่องค์กรจะให้ความสำคัญกับชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชุมชนด้านสภาพแวดล้อม ด้านการศึกษา โลกร้อน หรืออื่น ๆ เนื่องจากองค์กรในปัจจุบันจะไม่ใช่องค์กรที่ทำธุรกิจในปัจจุบันเท่านั้น แต่จะต้องมองในเรื่องความยั่งยืนด้วย HR จึงมีหน้าที่ที่จะทำอย่างไรที่จะให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวและนำมาลิงก์กับการทำงานของพนักงานให้ได้
9.การใช้ AI ในงาน HR (AI in HR) ที่สำคัญที่สุดคือการนำ AI มาใช้เพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยให้ AI ช่วยในการประมวลผลตัวเลขออกมาเป็นผลลัพธ์เพื่อแนะนำแนวทางในการตัดสินใจของ HR ซึ่งคือการทำ HR analytic ที่กำลังเป็นเทรนด์ที่ฮิตในหมู่ HR แต่อย่าลืมนะคะว่าการที่ HR จะทำการวิเคราะห์ได้ดีต้องมีการ reskills และ upskills HR อย่างหนักหน่วงด้วยนะคะ
10.การประเมินผลพนักงานอย่างต่อเนื่อง (confinuouse performance management) การประเมินผลต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การประเมินประจำปี
หรือทุกครึ่งปี HR ต้องทำให้การประเมินผลเป็น on-going process ให้ได้ เนื่องจากพนักงานที่เป็นคนเก่งหรือ talent เขาต้องการการพัฒนา และ feedback ตลอดเวลา HR ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของหัวหน้างานในการให้ feedback การให้ coaching พนักงาน เป็นต้น
ดิฉันหวังว่าข้อมูลเทรนด์ข้างต้นคงเป็นแนวทางให้ HR ในการนำไปปรับใช้ได้ (แม้ไม่ทั้งหมด) แต่ในความเห็นส่วนตัวสำหรับเมืองไทย
เทรนด์ที่น่าสนใจคือ เรื่องการหา talent แบบ borrow โดยมีการจ่ายเฉพาะเมื่อจ้างงาน (pay-on-demand) ซึ่งการจ้างงานต้องมีความยืดหยุ่นสูง และปรับได้ตามความต้องการขององค์กร และพนักงาน
ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องนำ AI มาช่วยในการทำงานด้าน HR รวมทั้งการ reskills และ upskills พนักงานอย่างเร่งด่วน และหนักหน่วงผ่าน online training ด้วยค่ะ