ระบบนิเวศ แห่งท้องทะเล โดย วิรัสนันท์ ถึงถิ่น

ภาพ : Core Sea.com

คอลัมน์ Inside Out Story โดย วิรัสนันท์ ถึงถิ่น

 

เพราะพื้นที่กว่า 71% บนโลกเป็นมหาสมุทร ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลมีความสำคัญมากกับความเป็นอยู่ของคนและสัตว์ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าระบบนิเวศทางทะเลของไทยถูกคุกคามโดยมนุษย์ ทำให้ปะการังสูญเสียระบบการหมุนเวียนสารอาหารส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล โดยถือเป็นหน้าที่ของทุกคน และหากมีหน่วยงานที่มีความรู้เฉพาะด้านเข้ามาดำเนินงานร่วมด้วย ก็จะทำให้การแก้ปัญหาถูกจุดและรวดเร็ว

จากการไปเยือนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อไม่นานผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสพบกับ “Eike Schoenig” นักชีววิทยาทางทะเลของ Core Sea โดยเขาได้เล่าถึงบทบาทขององค์กรและการเข้ามาทำงานวิจัยด้านระบบนิเวศทางทะเลในไทยว่า Core Sea ย่อมาจาก Center for Oceanic Research and Education South East Asia ซึ่งเป็นองค์กรอาสาสมัครเอกชนนานาชาติที่เป็นเครือข่ายของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล นักวิทยาศาสตร์ นักประดาน้ำ และกลุ่มคนที่มีความหลงใหลในการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

หน่วยงาน Core Sea เป็นแหล่งรวมของคนจากหลายเชื้อชาติที่มาทำงานร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสถานีวิจัยภาคสนามตั้งอยู่ใน 2 ประเทศ คือ ไทย และอินโดนีเซีย

โดยในประเทศไทยมีฐานตั้งอยู่บนเกาะพะงัน เนื่องจากเป็นเกาะที่อยู่ตรงกลางระหว่างหมู่เกาะสมุย เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จึงเป็นโลเกชั่นที่ทำให้การเข้าถึงเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ง่าย นอกจากนั้น เกาะพะงันยังเป็นเกาะเขตร้อนที่สวยงาม ล้อมรอบด้วยแนวปะการังและป่าชายเลน รวมไปถึงมีชุมชนที่เป็นคนท้องถิ่นแท้ ๆ มากกว่าเกาะอื่นใน จ.สุราษฎร์ธานี จึงถือว่าเป็นแหล่งศึกษาวิจัยที่ครบด้าน

“Eike” บอกว่า สภาวะของมหาสมุทรในโลกปัจจุบันน่าเป็นห่วง เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์รบกวนระบบนิเวศมาหลายศตวรรษ เช่น การประมงที่ไม่เป็นธรรม การทิ้งขยะในทะเล ที่สำคัญคือเรื่องภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิในทะเลสูงขึ้นและกระแสน้ำแปรเปลี่ยน สัตว์น้ำจึงไม่สามารถรอดชีวิตได้ อีกทั้งยังส่งผลให้ปะการังฟอกขาวและตาย

ประโยชน์ของปะการังในท้องทะเลไม่ใช่มีเพียงความสวยงาม แต่มีเหตุผลอีกหลายประการที่ควรจะดูแลและรักษาปะการังไว้ เพราะปะการังช่วยป้องชายฝั่งจากคลื่นขนาดใหญ่ในทะเล เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำต่าง ๆ และเป็นอาหารของสัตว์ทะเลที่มีโปรตีนสูง

ขณะเดียวกัน เขาบอกด้วยว่าระบบนิเวศบนเกาะพะงันยังไม่ถึงจุดวิกฤต ยังมีสภาพปะการังดีกว่าเกาะอื่น ๆ โดยรอบ แต่ผลที่เห็นเชิงลบคือ ความหลากหลายของปะการังลดลง ส่วนผลกระทบใหญ่คือการก่อสร้างเชิงพาณิชย์บนบกที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ดินและทรายไหลลงไปในทะเล สร้างความเสียหายต่อปะการัง

ในส่วนของการเข้ามาทำงานของ Core Sea ในพื้นที่นั้นเป็นรูปแบบของการขยายความเข้าใจระบบนิเวศทางทะเล เพื่อช่วยสร้างพลังในการอนุรักษ์ รวมถึงการนำผลวิจัยขยายไปสู่หน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดการ ทั้งนั้น พวกเขาไม่เพียงแค่ดำเนินการวิจัยและการทดลอง แต่ยังส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางทะเลอีกด้วย

โดยเปิดรับนักศึกษาและนักวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลกเข้ามาเรียนรู้ และให้การสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์และวิจัยของนักศึกษา รวมทั้งการสอนการตรวจสอบสุขภาพของปลาและแนวปะการังในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ซึ่งเขาเชื่อว่าการส่งเสริมการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการสร้างความเข้าใจ โดยคนรุ่นใหม่จะเป็นคนสานต่องานวิจัย และแนวทางการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต

สำหรับการช่วยกันรักษาระบบนิเวศทางทะเลที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ คือ การไม่ทิ้งขยะลงทะเล และไม่เก็บปะการังที่หัก หรือเก็บขึ้นมาจากท้องทะเล เพราะในแต่ละกิ่งแต่ละก้านนั้น หมายถึงชีวิตนับร้อยพันชีวิตที่ต้องตายลง ซึ่งโครงสร้างของปะการังใช้เวลานับร้อยพันปีในการเจริญเติบโต

เมื่อพูดถึงผลของการศึกษาวิจัยของ Core Sea “Eike” บอกว่า ผลถูกขยายไปใน 2 ระดับ ระดับแรกส่งไปที่กระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลกำหนดนโยบาย อีกระดับคือ ส่งไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางทะเลในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนการกระจายผลไประดับโลกพวกเขาใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกลาง


เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเชิงกว้าง และการจัดการของ Core Sea อาจสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่มากเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยผลงานวิจัยของพวกเขาก็ช่วยชี้ปัญหาบางอย่าง เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวที่ช่วยชะลอผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเลทั้งในปัจจุบันและอนาคต