ซีเอสอาร์ “สิงห์ เอสเตท” ชูความตระหนักรู้ด้วย “MDC”

จากปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ “S” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม

สำหรับแนวทางในการพัฒนา และเติบโตอย่างยั่งยืน (sustainable growth) จะประกอบด้วย 2 มิติหลัก ๆ คือ การลดผลกระทบ และการสร้างคุณค่า ภายใต้นโยบายการสร้างคุณค่าและรักษาสมดุล (harmonious coexistence) ซึ่งที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท มีการดำเนิน “โครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี” เพื่อป้องกัน และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “พีพีกำลังจะเปลี่ยนไป” ในปี 2559 ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิด “พีพีโมเดล” ร่วมกับ “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ในการ “ควบคุม ดูแล รักษา ฟื้นฟู” ด้วยการใช้หลักธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสิงห์ เอสเตท มีการมอบทุ่นจอดเรือที่ทะเลแหวก การสนับสนุนเรือตรวจการณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ส่วนในปี 2560 ได้จัด “โครงการโตไวไว” ซึ่งเป็นการสานต่อโครงการพีพี กำลังจะเปลี่ยนไป ในการร่วมกันสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ เพื่อลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมผลักดันการร่วมดูแลรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศ และการคืนสมดุลธรรมชาติ

ล่าสุดในปี 2561 มีการจัด “โครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน” และการปลูกปะการังด้วยวิธี coral propagation บริเวณอ่าวมาหยา

ทั้งยังมีการจัดสร้าง “ศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC)” บริเวณโรงแรมพีพีไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้แก่เยาวชน, คนในท้องถิ่น, นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ที่สำคัญ ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลแห่งนี้จะเป็นต้นแบบ และการขยายผลไปในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในประเทศไทย และทะเลทั่วโลก ที่สิงห์ เอสเตท เข้าไปลงทุนและพัฒนาธุรกิจต่อไป

“นริศ เชยกลิ่น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้สิงห์ เอสเตท จะเพิ่งก่อตั้งมาเพียงแค่ 3 ปี แต่นโยบายความยั่งยืนของบริษัทมีความชัดเจนตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังมีคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน และนโยบายในเรื่องดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สร้างคุณค่า และรักษาคุณค่า และรักษาสมดุล (harmonious coexistence) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ แต่ต้องร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับพื้นที่นั้น ๆ

“อย่างที่โรงแรมพีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท แห่งนี้ นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว เรายังดูแลชาวบ้านที่ค้าขายอยู่ที่บริเวณนี้ ทั้งการเข้าไปช่วยดูแล จัดการเพื่อให้เกิดสุขอนามัยมากขึ้น รวมถึงการจัดการดูแลเรื่องน้ำเสียที่อยู่ภายนอกจากโรงแรมเพิ่มเติมอีกด้วย ส่วนธุรกิจในด้านอสังหาริมทรัพย์ นโยบายความยั่งยืนจะมีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่แอปพลิเคชั่นอาจจะแตกต่างกันในเรื่องการใช้ เช่น การสร้างหมู่บ้าน เรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ตึกหรืออาคารสูงก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง”

“อย่างโครงการ สิงห์ คอมเพล็กซ์ ที่กำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นตึกที่ได้รับการประเมิน LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ในระดับ gold ถึงแม้ว่าจะเป็นการลงทุนที่มากกว่าปกติ แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะช่วยทำในเรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานอีกด้วย”

“ส่วนนโยบายด้านความยั่งยืนของเรา โดยเฉพาะการเป็นมิตรต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม จะอยู่ในวิธีคิดตั้งแต่เริ่มต้น และในทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าบริบททางพื้นที่ วัฒนธรรม จะมีความแตกต่างกัน”

นอกจากนี้ สิงห์ เอสเตท ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่อง life below water ที่เป็นหนึ่งใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable De-velopment Goals-SDGs) ซึ่งในเรื่องนี้ “นริศ” บอกว่า ที่ผ่านมาเราดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อป้องกัน และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทยมาอย่างต่อเนื่อง

“อย่างเช่นในปีนี้ เราทำโครงการติดตาม และฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน และการปลูกปะการังด้วยวิธี coral propagation บริเวณอ่าวมาหยา เพื่อใช้ติดตามการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ปะการังแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”


อีกทั้งยังมีการเปิดศูนย์เรียนรู้ทางทะเล MDC ที่เปิดให้ผู้สนใจภายนอกเข้ามาเพื่อศึกษา เรียนรู้ รวมถึงแขกที่มาพักที่โรงแรม ชาวบ้านในชุมชน นักเรียนในโรงเรียนที่อยู่บริเวณนี้ ซึ่งเนื้อหาที่เราจัดแสดงในวันนี้แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ ห้องปลาฉลาม, ห้องเรียนรู้เกี่ยวกับเกาะพีพี, ห้องปลาการ์ตูน และห้องออดิทอเรียม ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นโครงการที่เราพยายามสร้างการมีส่วนร่วม และถ่ายทอดแนวคิดการอนุรักษ์ เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเล และร่วมมือกันรักษาพีพี ให้เป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลก

“MDC ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งผมคิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะยังมีพื้นที่เหลืออีก และสามารถขยายเนื้อหาเพิ่มเติมได้ ซึ่งหลาย ๆ เรื่องมีความซับซ้อน และความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยงบประมาณ 10 ล้านบาท ที่เราลงทุนไปจะเป็นเรื่องของการก่อสร้าง การทำองค์ความรู้ต่าง ๆ อุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนพนักงานที่ให้บริการเป็นพนักงานโรงแรม จะช่วยสลับกันมาให้บริการ ซึ่งต้องได้รับการอบรมจากนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลก่อน ทั้งการดูแล การให้อาหาร การควบคุม”

“ไม่เพียงเท่านี้ ที่เกาะมัลดีฟ ซึ่งเป็นที่ที่เราเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม เรามีการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเล MDC เช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ แต่ลักษณะอาจจะใหญ่กว่าที่นี่ เพราะมีการเพิ่มเรื่องวัฒนธรรม และชุมชนเข้าไปด้วย ขณะที่เกาะสมุย จะมีการสร้างศูนย์แบบนี้เช่นกันอีก ซึ่งในตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยถึงแนวคิดการนำเสนอ ว่านอกจากทะเลแล้ว อาจมีการเพิ่มเรื่องการศึกษาเข้าไป เพราะเราเชื่อว่าถ้าช่วยพัฒนาคนให้มีการศึกษาที่ดี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน รวมถึงพัฒนาชุมชนไปในอีกทางหนึ่งด้วย”

ถึงตรงนี้ “นริศ” กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายต่อไปของโครงการป้องกัน และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ที่ดำเนินการมากว่า 3 ปี คงจะมีการขยายไปยังหลายพื้นที่ ทั้งยังมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติด้วย เพราะการทำเรื่องเหล่านี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และจะต้องขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะโมเดลของศูนย์ MDC เพื่อให้คนทั่วไป ทั้งไทยและเทศ เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเล

“ถ้ามีคนมาช่วยกัน ผมยินดีเปิดโอกาสเลย ไม่ได้ปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือเอกชน โดยเฉพาะแนวคิดของ MDC ซึ่งใครจะนำไปใช้ หรือไปต่อยอดได้เพราะยิ่งทำยิ่งดี ยิ่งทำยิ่งเป็นประโยชน์ โดยใน 3 ปีที่ผ่านมาเป็นความตั้งใจของเรา ถือเป็นความสำเร็จที่เริ่มต้นจากต้นกล้าเล็ก ๆ ในวันนั้น ซึ่งในวันนี้ได้ขยายออกไปหลายพื้นที่ และถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก”

จึงนับเป็นการช่วยผลักดัน และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ข้อ 14 เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร และทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้คุณค่า รวมถึงเป็นการป้องกัน และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป