สำรวจ 5 อันดับ”ธุรกิจ-อาชีพ”แนวโน้มเติบโตสูงสุดปี’61

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดงานของประเทศไทยปี 2018 โดยผู้ประกอบการ นายจ้าง มองว่าตลาดงานมีปัจจัยบวก เนื่องจากความต้องการพนักงานที่มีคุณภาพ มีทักษะสูง พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดงานในระดับภูมิภาค ขณะที่ฝั่งผู้หางานมีความกังวลต่อสถานการณ์จ้างงาน อันเป็นผลจากการขาดทักษะในการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะภาษา และเทคโนโลยี ยังเป็นความท้าทายของผู้หางาน

เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจเรื่องภาพรวมตลาดงาน ประจำปี 2561 (Job Market Outlook 2018) ที่ดำเนินการสำรวจช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการกว่า 700 องค์กร ครอบคลุม 20 กลุ่มธุรกิจ และมีผู้หางานกว่า 4,700 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, เวียดนาม และประเทศไทยร่วมกันตอบแบบสอบถาม

“จุลเดช มัชฉิมานนท์” ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้าองค์กร บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงผลสำรวจภาพรวมตลาดงานของไทยจากตัวแทนผู้ประกอบการกว่า 50% ของผู้ประกอบการ มองว่าแนวโน้มการจ้างงานจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายธุรกิจ โดยมี 25% จะจ้างเฉพาะตำแหน่งงานที่จำเป็นเท่านั้น

“ทั้งนี้จากผลสำรวจในส่วนของผู้ประกอบการ พบว่า 5 อันดับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงสุด ได้แก่ 1) ธุรกิจโฆษณา การตลาดและประชาสัมพันธ์ 2) ธุรกิจวิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมเครื่องกล 3) ธุรกิจไอที 4) ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม”

“ส่วน 5 ตำแหน่งงานเฉพาะด้านที่มีความต้องการสูงสุด ได้แก่ 1) พนักงานขายและพัฒนาธุรกิจ 2) วิศวกร 3) ธุรการและงานบุคคล 4) เจ้าหน้าที่ไอที และ 5) พนักงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยปัจจัยความต้องการเหล่านั้นมาจากอัตราการลาออกสูง โลกาภิวัตน์ และความต้องการด้านทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป”

“วรวุฒิ วาริการ” ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจในฝั่งผู้หางานกว่า 53% ไม่มั่นใจว่าจะหางานได้ในปีนี้ เพราะมีความท้าทายหลายปัจจัย เนื่องจากผู้หางานต้องการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ทั้งด้านการแข่งขันตามสายงานที่เข้มข้นขึ้น และทักษะด้านภาษา รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่มีความแตกต่าง และจะต้องเรียนรู้ด้านไอที และโลกดิจิทัลเพิ่มเติม

“ถึงแม้ตลาดงานจะมีตำแหน่งงานเป็นจำนวนนมาก แต่การแข่งขันกลับสูงตามไปด้วย ทั้งนี้จากผลสำรวจผู้หางานมีมุมมองว่า ธุรกิจปิโตรเลียม และธุรกิจยานยนต์ มีการเติบโตรวมถึงมีอัตราผลตอบแทนสูง อีกทั้งผลสำรวจยังระบุอีกว่า ธุรกิจขายส่ง และธุรกิจการผลิต ซึ่งเป็นธุรกิจพื้นฐานที่ขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศ มีอัตราการเติบโตของการลงประกาศงานในจำนวนที่สูง รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ของพนักงานระดับบริหารที่น่าดึงดูดใจในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้หางานปรับพฤติกรรมการหางาน ด้วยการหางานอย่างจริงจังมากขึ้น”

สำหรับตำแหน่งงานที่ผู้หางานสมัครงานสูงสุด 5 อันดับแรกผ่านเว็บไซต์จ๊อบส์ ดีบี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ได้แก่ 1) พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจ 2) วิศวกร 3) เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด 4) พนักงานธุรการ และทรัพยากรบุคคล และ 5) เจ้าหน้าที่ไอที ส่วนนายจ้างที่มีความต้องการพนักงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า และเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจ 2) วิศวกร 3) พนักงานธุรการ และทรัพยากรบุคคล 4) เจ้าหน้าที่ไอที และ 5) พนักงานบัญชี

“ขณะที่ทักษะที่แรงงานและผู้หางานไทยยังขาดอยู่มากคือ การวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก อีกทั้งต้องมีความรู้เฉพาะทางมากกว่าการรู้กว้าง รวมถึงการทำงานบนสภาวะที่มีแรงกดดัน มีความท้าทาย ตลอดจนการมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถสอนกันได้ เหมือนกับองค์ความรู้ต่าง ๆ เพราะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลในการที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน”

“แองจี้ เอส ดับเบิ้ลยู พัง” ผู้อำนวยการฝ่ายขายและปฏิบัติการระดับภูมิภาค (group regional sales & operations director) บริษัท SEEK Asia กล่าวเสริมว่า ในส่วนสถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกอบการในระดับอาเซียน และฮ่องกง ยังถือว่ามีแนวโน้มสดใส โดยจากผลสำรวจพบว่า 47% ของผู้ประกอบการมีการขยายธุรกิจ และจ้างงานเพิ่มขึ้น และอีก 27% มีการทดแทนตำแหน่งงานเท่าที่จำเป็น

“ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อภาพรวมตลาดงานในประเทศ ซึ่งจากผลสำรวจกว่า 50% ของผู้ประกอบการวางแผนขยายกิจการ และจ้างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการจ้างงานโดยตรง ทั้งอัตราการลาออกเพิ่มขึ้น โลกาภิวัตน์ และความต้องการด้านทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตลาดงานในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น”

“สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ผู้หางานที่ตอบแบบสอบถามจำนวนกว่า 53% ระบุว่า การแข่งขันจะเพิ่มสูง และจะยากขึ้น รวมถึงความไม่สมดุลระหว่างมุมมองการคาดการณ์ธุรกิจที่เติบโต และความเป็นจริงของการเติบโตตลาดงานที่สวนทางกัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการหางานที่พร้อมจะค้นหาความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดเวลา”


“อย่างไรก็ตาม องค์กรควรเสริมสร้างกลยุทธ์การสรรหา และรักษาพนักงานที่มีความสามารถ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการสร้าง และทดแทนผู้หางานที่มีความสามารถสูง ตลอดจนพัฒนาการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยในการดึงดูดผู้หางาน ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ ขณะที่ผู้หางานต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการคัดเลือกที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพ และทักษะของตนเองให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องเปิดรับข้อมูลการจ้างงานจากช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย”