เกษตรพอเพียง

คอลัมน์ตามรอยฟ้า

ถึงวันนี้ “สามพรานโมเดล” นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพราะนับจากการที่มูลนิธิสังคมสุขใจ มุ่งหวังให้เกษตรกรเข้าใจความหมายของคำว่า “พึ่งพาตนเอง” และปลุกความเชื่อมั่นในวิถีอินทรีย์ จนสามารถทำให้เกษตรกรอยู่อย่างพอเพียง จึงทำให้ตลาดสุขใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการได้รับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship Awards (AREA Awards) ในด้าน SMEs CSR ประจำปี 2555 จาก Enterprise Asia ที่มอบให้กับบริษัท หรือองค์กรในภูมิภาคเอเชีย ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จนก่อประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคม

“อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า โครงการสามพรานโมเดลเกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ด้วยทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยใช้ห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์มาเป็นแกนขับเคลื่อนโครงการ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการประกอบอาชีพของเกษตรกรใน จ.นครปฐม จนส่งผลดีไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ เพราะ จ.นครปฐม ถือเป็นแหล่งปลูกผักผลไม้ขนาดใหญ่ของประเทศ

“เราต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีความพอเพียง ด้วยการทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ ซึ่งคำว่าพอเพียง ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกรจะมีรายได้เพียงเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้ว หมายถึงจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยาก และเมื่อสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว สามารถพัฒนาต่อไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง และต่อสังคม”

“ดังพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ตรัสว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”

ดังนั้น สามพรานโมเดล จึงแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ

หนึ่ง สร้างความเข้าใจ

สอง สร้างแนวความคิดการพึ่งพา และร่วมมือ

สาม ศึกษาแนวทางการจัดการห่วงโซ่อุปทานการเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างการผลิต และการตลาดอย่างยั่งยืน จนทำให้เกิดภาคีพันธมิตรเข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มธุรกิจในรูปกลุ่มธุรกิจสหกรณ์เชิงคุณค่าสามพรานที่มีปณิธานเดียวกัน

นอกจากนั้น ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ยังมี “ตลาดสุขใจ” ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวข้ามวิถีชีวิตแบบพึ่งพาสารเคมี โดยหันมาทำเกษตรระบบอินทรีย์ เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่พวกเขาไม่อยากทำเกษตรอินทรีย์ แต่เป็นเพราะตลาดรองรับไม่แน่นอน และถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้ไม่อยากทำ ส่วนปัญหาของผู้บริโภคคือเคยพบแต่สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ราคาแพงกว่าสินค้าเกษตรเคมี จึงเลือกซื้อสินค้าเกษตรเคมีมากกว่า

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ตลาดสุขใจ จึงกลายเป็นตลาดที่เชื่อมตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคบนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม

โดยล่าสุด ตลาดสุขใจ เพิ่งจะคว้ารางวัลตลาดนัดน่าซื้อระดับดีมากของประเทศ ประจำปี 2558 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

“อรุษ” บอกว่า ในฐานะผู้บริหารโครงการ เรายังสามารถใช้ตลาดดังกล่าว เป็นกลไกเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค เกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเพื่อขยายผลต่อไปยังเกษตรกรที่เป็นภาคีพันธมิตรในจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคต

“หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล คือ รากฐานที่มีอยู่จะต้องแข็งแกร่ง คือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะคีย์แมนสำคัญ เช่น ผู้จัดการโครงการ หัวหน้ากลุ่มเกษตร ทายาทคนรุ่นใหม่ของเกษตรกร รวมถึงผู้บริหาร และพนักงานของโรงแรม ต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในวิถีอินทรีย์ และตระหนักในการพึ่งตนเอง”


“สามพรานโมเดล” จึงเป็นตัวเชื่อมโยงห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สู่การบริโภควิถีอินทรีย์ มีวิถีชีวิตพอเพียง อันเป็นวิถีไทยมาช้านาน จนทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร และผู้บริโภคอย่างแท้จริง