ทางเลือกบนทางร่วม

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR TALK

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ในวันที่ “ลิซ เมอร์เรย์” วัยรุ่นไร้บ้านตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตตนเอง เข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ไม่ใช่มีเพียงทัศนคติเชิงบวก ความมุ่งมั่น ความอดทน และความมีวินัยของเธอ แต่โอกาสจากโรงเรียนทางเลือก ซึ่งเรียกกันเล่น ๆ ว่าโรงเรียนล้มเหลวคือการแยกเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ได้ชื่อว่ามีความเสื่อมเสียในโรงเรียนกระแสหลักให้โอกาสและสามารถเรียนได้จนจบ ด้วยการดูแลเป็นพิเศษจากคณะครูที่สร้างต้นแบบใหม่ที่เหมาะสม

เพื่อสร้างความสำเร็จด้วยโอกาสที่ได้รับจาก Humanities Preparatory Academy ดังกล่าว และทุนการศึกษาจาก The New York Times ทำให้ “ลิซ” ก้าวเข้าสู่รั้วของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้เล่าเรื่องราวการเปลี่ยนชีวิตจากเด็กขาดโอกาสมาสู่การเป็นผู้นำทางความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก จากหนังสือที่ชื่อว่า “Breaking Night” จนนำมาสู่การสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “From Homeless to Harvard”

“ลิซ” เป็นตัวอย่างเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีอยู่ในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เธอเกิดในครอบครัวที่มีปัญหาอย่างรุนแรง พ่อแม่ติดยาเสพติดอย่างหนัก กลายเป็นคนไร้บ้านเมื่ออายุ 15 ปี อยู่รอดด้วยอาหารจากถังขยะ และการหยิบฉวยอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตบางครั้ง หน่วยงานสังคมสงเคราะห์เคยรับเธอเข้าไปดูแล และกวดขันให้เข้าไปเรียนในระบบ

แต่ด้วยกระบวนการที่ไม่เอื้อต่อเด็กที่มีปัญหา และความไม่ใส่ใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีท่าทีใช้อำนาจมากกว่าความตั้งใจจะช่วยเหลือ และโรงเรียนที่มีระบบส่งเสริมเฉพาะเด็กเรียนดีไม่มีปัญหา ทำให้ลิซถูกผลักไสออกจากระบบ

แนวคิดของการทำโรงเรียนล้มเหลวเป็นเรื่องที่น่าสนใจ การอุทิศตัวของคุณครูกลุ่มหนึ่ง และครูผู้นำทางความคิดที่กล้าท้าทายระบบด้วยความเชื่อว่าถ้าโรงเรียนกระแสหลักล้มเหลว ต้องมีบางสิ่งแตกต่าง เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ เพราะนักเรียนไม่ได้ผิดปกติ แต่ระบบต่างหากที่ผิดปกติ

มูลนิธิกระจกเงาให้ข้อมูลว่าตัวเลขเด็กหายที่ได้รับแจ้งในปี 2560 มีจำนวน 402 ราย กว่า 84% คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน อายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี นอกจากนั้น ในแต่ละปียังมีข้อมูลนักเรียนที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมตอนต้น และมัธยมตอนปลาย โดยมาจากสาเหตุต่าง ๆ กัน เช่น ความยากจน, ปัญหาการปรับตัว, ปัญหาครอบครัว, ต้องคดี ฯลฯ

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมีผลต่อคุณภาพของสังคมโดยภาพรวมทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา CSR หลายองค์กรเลือกประเด็นการศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษา พัฒนาระบบการเรียนการสอน จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียน สนับสนุนครูอัตราจ้างพิเศษ ซึ่งอยู่ในระบบการศึกษาปกติ การทำโครงการเหล่านี้จึงไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ยุ่งยาก สามารถวัดผลเชิงปริมาณได้ชัดเจน แต่ไม่มีความท้าทายในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาทางเลือก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กด้อยโอกาส เช่น ถูกกระทำทารุณกรรม, กำพร้า, ถูกทอดทิ้ง, ครอบครัว

แตกแยกและยากจน เด็กทุกคนจะมาอยู่ประจำกินนอน และบางส่วนจะได้รับโอกาสกลับเข้าไปรับการศึกษาในระบบ อย่างไรก็ตามสถาบันการศึกษาทางเลือกในลักษณะนี้ยังมีอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขเด็กที่ประสบปัญหาในสังคม

เรื่องราวของ “ลิซ เมอร์เรย์” เป็นประเด็นที่ชวนคิดว่าเด็กที่ดูเหมือนว่าไร้อนาคต เกิดมาในท่ามกลางปัญหาครอบครัวขั้นรุนแรงนั้น สามารถเปลี่ยนชีวิตตนเองจนกลายเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคมได้ จากการได้รับโอกาสที่ยังมีเหลืออยู่ด้วยการเปิดทางเลือกที่เหมาะสม อาจจะสร้างให้เกิดทางร่วมของพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่สิ่งที่ดีงามได้

หรืออย่างน้อยสังคมก็ไม่ควรต้องทอดทิ้งเด็กคนใด ด้วยสาเหตุที่พวกเขาไม่เป็นไปตามกรอบมาตรฐานในระบบการศึกษา เพราะศักยภาพของคนนั้นมีหลายด้าน และศักยภาพที่หลากหลายนั้นต่างหากที่จะสร้างสังคมที่สมบูรณ์แบบได้

“คุณทิชา ณ นคร” หรือ “ป้ามล” ของเด็ก ๆ บ้านกาญจนาภิเษก สถานที่ควบคุมเยาวชนหลังคำพิพากษา กล่าวไว้ในหนังสือเด็กน้อยโตเข้าหาแสงว่า…เด็กก็เหมือนกับต้นไม้ พวกเขาโตเข้าหาแสงเสมอ ขอให้เราแน่ใจว่าจะทำตัวเป็นแหล่งกำเนิดแสง อย่าเป็นหลุมดำก็แล้วกัน

ข้อมูลอ้างอิง : Breaking Night แปลเป็นไทยโดยปิ่นแก้ว กิตติโกวิท สำนักพิมพ์ OMG Book

https://www.thaipost.net/main/detail/883