PTTEP Teenergy Camp ปลูกจิตสำนึกเยาวชนเปลี่ยนเพื่อโลก

นอกจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีภารกิจหลักในการสำรวจพัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ อีกด้านหนึ่งบริษัทยังทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โดยมีโครงการ PTTEP Teenergy Camp (ค่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม) เป็นหนึ่งในภารกิจเพื่อสังคมที่ทำเพื่อพัฒนาเยาวชน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

“ประณต ติราศัย” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกิจการองค์กรและกำกับการปฏิบัติตามนโยบาย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คำว่า Teenergy มาจากแนวคิด Teen = เยาวชน บวกกับ Energy = พลัง อันหมายถึงการสานพลังของคนรุ่นใหม่ให้มีหัวใจอนุรักษ์

“โดยเราตั้งใจทำ PTTEP Teenergy Camp ให้เป็นสถานที่เรียนรู้นอกห้องเรียนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างนักอนุรักษ์ตั้งแต่เยาว์วัย เพราะเรามองว่าการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อพวกเขาจะได้เติบโตไปพร้อมกับพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในอนาคตกลุ่มคนเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญที่นำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนา”

ปีนี้โครงการ PTTEP Teenergy Camp ดำเนินมาเป็นปีที่ 5 ซึ่งผ่านมามีกลุ่มเยาวชนผ่านโครงการไปแล้วกว่า 500 คน โดยการจัดกิจกรรมค่ายในปีที่ 3 และ 4 ทาง ปตท.สผ.ให้การสนับสนุนเยาวชนที่ผ่านกิจกรรมค่าย PTTEP Teenergy จัดทำโครงการ หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองไปแล้วกว่า 20 โครงการ

“ในปีนี้เรายังคงดำเนินการจัดกิจกรรมใน 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคกลาง, ภาคใต้, ภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยมีระยะเวลาดำเนินการจัดค่ายแต่ละครั้ง 3 วัน 2 คืน โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (อายุไม่เกิน 18 ปี) จำนวน 70 คน/ค่าย รวม 4 ค่าย ทั้งหมด 280 คน ตอนนี้เราเปิดรับสมัครน้อง ๆ ภาคใต้และภาคเหนือจนถึง 30 มิถุนายน 2561 สำหรับน้อง ๆ ภาคกลางและภาคอีสาน ต้องรอติดตามข้อมูลการรับสมัครในเร็ว ๆ นี้”

การคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ของแต่ละภูมิภาค เพื่อร่วมกันคัดเลือกเยาวชนมาเข้าร่วมกิจกรรมค่ายทั้ง 4 ภาค ด้วยการเขียนบทความเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ แนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และโครงการเพื่อสังคมที่สนใจลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

“ประณต” อธิบายต่อว่า ปีนี้มีแผนดำเนินการภายใต้แนวคิดเปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศ โดยสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาให้แก่เยาวชน เพื่อผลักดันให้พวกเขาคิดแก้ไขปัญหานั้น ๆ จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อม

“เพราะเรามีวิทยากรที่หลากหลาย ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญมาให้ความรู้ เพื่อให้พวกเขามองเห็นบริบทสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ผ่านระบบสะเต็มศึกษาและนวัตกรรม โดยการเชื่อมโยงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเป้าหมายทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมและโลกของเรา”

“ที่สำคัญ เราคิดโมเดลปลูก ปั้น เปลี่ยน เข้ามาใช้ภายในโครงการด้วย เพื่อกำหนดกรอบสาระการเรียนรู้ โดยเรื่องปลูก พวกเขาจะเรียนรู้เนื้อหา ปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จนทำให้เยาวชนเกิดความตระหนัก และทราบดีว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านั้น จนสามารถทำบางสิ่ง หรือมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นได้”

“ส่วนปั้นจะเป็นการมุ่งเน้นด้านการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ด้านความรู้และทักษะ บุคลิกภาพส่วนบุคคล ศักยภาพความเป็นผู้นำ และผู้ตาม จนนำไปสู่การทำงานระบบทีม, การพัฒนาทักษะทางสังคม, การอยู่ร่วมกัน และพัฒนาทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับเรื่องเปลี่ยน ก็จะใช้วิธีให้ช่วยกันเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ด้วยการนำโครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันสอดคล้องกับนวัตกรรมสีเขียว ตามแนวคิดหลักของค่ายไปต่อยอด พัฒนา เพื่อดำเนินการในพื้นที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ”

กิจกรรมในปีนี้ถูกจัดขึ้นใน 4 ภาค และมีกิจกรรมเพื่อสังคมแตกต่างกันออกไป สำหรับภาคใต้จะจัดขึ้นในช่วง 24-26 ส.ค. 2561 กับโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู-ปล่อยปู, ภาคเหนือ 31 ส.ค.-2 ก.ย. 2561 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และรายได้ โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง, ภาคกลาง 12-14 ต.ค. 2561 โครงการ ปตท.สผ.รักษ์มรดกไทย มรดกโลก (ธรรมชาติ) และภาคอีสาน 19-21 ต.ค. 2561 โครงการขยะสู่พลังงาน (Waste to Energy)

“ธิรดา นิลพนาพรรณ” หรือ “น้องกีกี้” ตัวแทนเยาวชน PTTEP Teenergy รุ่นที่ 3 จากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมโครงการว่า PTTEP Teenergy Camp ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียน เพราะเราได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ที่ไม่เคยได้สัมผัสจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก่อน

“ต้องบอกว่า เราได้ความรู้และแรงบันดาลใจในการทำโครงการเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะทางโครงการสอนให้เราเริ่มทำดีจากตัวเองก่อน แล้วขยายออกสู่ชุมชน รวมถึงได้เข้าร่วมเครือข่ายเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลังจากจบค่ายด้วย นอกจากนั้นยังมีค่าย Re-Union ซึ่งเป็นค่ายรวมรุ่นเพื่อให้สมาชิกโครงการทุกรุ่นได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการระดมความคิดในการร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม”

“ดิฉันได้ระดมความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มถึงปัญหาที่ได้มาจากการใช้ถุงพลาสติกห่อผลไม้ จากสวนผลไม้ ซึ่งสร้างปัญหาขยะมากมายในช่วงเก็บเกี่ยว จึงเกิดความคิดอยากจะจัดทำถุงกระดาษจากปาล์ม ด้วยการนำปาล์ม ทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนมองข้าม มาสร้างเป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้แทนพลาสติกในการห่อผลไม้ ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวผ่านการคัดเลือกให้เป็นโครงการชนะเลิศในค่าย Re-Union ทั้งยังได้รับทุนสนับสนุนจาก ปตท.สผ.ให้ดำเนินโครงการจริง โดยคาดว่าจะเริ่มวางแผนการทำงานให้สำเร็จในเร็ว ๆ นี้”

นับเป็นแนวทางที่ปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างศักยภาพความเป็นผู้นำให้พวกเขานำความรู้ที่ได้รับจากค่ายไปต่อยอด เพื่อขยายเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต