ซีเอสอาร์ “สยามคูโบต้า” ปลูกเกษตรรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยี

ด้วยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความชำนาญในด้านเกษตรกรรม และเครื่องจักรกลการเกษตร จึงทำให้ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงนำศักยภาพเหล่านั้นมาเสริมสร้างรากฐานด้านการเกษตรของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ก้าวหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

ซึ่งไม่เพียงเกษตรกรเท่านั้นที่เป็นกำลังหลักสำคัญที่ทำให้เกษตรกรรมไทยมีความก้าวหน้ายั่งยืน หากแต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ยังถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสืบสาน สานต่อ และพัฒนาเกษตรกรรมไทยให้มีความรุดหน้าเทียบกับนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ สยามคูโบต้า จึงได้จัด “โครงการค่ายยุวชนเกษตรกรสยามคูโบต้า” ขึ้นในปี 2543

เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านการเกษตร และเรียนรู้เทคโนโลยีการทำการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เยาวชน ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ และมีทัศนคติที่ดีต่อการทำการเกษตร

แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงทำให้ในปี 2555 สยามคูโบต้าจึงเปลี่ยนชื่อโครงการยุวชนเกษตรกรเป็น “โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp” เพื่อจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเปิดรับสมัครนิสิต และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม

ล่าสุด สยามคูโบต้าจัดโครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp ขึ้น ภายใต้แนวคิด “คลุก ดิน ฟิน เฟร่อ” ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี โดยมีนิสิต นักศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 100 คน

“สมศักดิ์ มาอุทธรณ์” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าโครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp ถือเป็นกิจกรรมด้านการศึกษา และเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR policy) ของบริษัท เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตร และทัศนคติที่ดีในเรื่องการทำเกษตรให้กับเยาวชนรุ่นใหม่

“เพราะเราเล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศไทย กอปรกับปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่รองรับเกษตรกรรุ่นใหม่ได้ เพราะใช้งานง่าย จึงน่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรในวัยหนุ่ม-สาวอยากกลับบ้าน เพื่อมาช่วยชุมชน และท้องถิ่นของตัวเอง”

“การจัดโครงการปีนี้มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะเราเปิดโอกาสให้น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยปีนี้มีผู้สมัครกว่า 1,200 คน แต่เราคัดเลือกให้เหลือเพียง 100 คน เพื่อร่วมกิจกรรมกับเรา เพราะกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเรียนมาโดยตรง ดังนั้น เมื่อเขาลงพื้นที่จึงน่าจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ จนอยากหันมาเป็นเกษตรกร”

“ส่วนแนวคิดคลุก ดิน ฟิน เฟร่อ เกิดจากเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของดิน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรมทุกชนิด ซึ่งน้อง ๆ เยาวชนจะได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทั้งการรู้จักดินที่เหมาะสม,การดูแล,การเตรียม และบำรุงดินอย่างถูกต้อง จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น อีกทั้งยังจะได้เรียนรู้จากปราชญ์ชุมชนในเรื่องการทำเกษตรที่ยั่งยืน พร้อม ๆกับการนำเสนอแนวคิดไอเดียใหม่ ๆ ในการต่อยอดให้ชุมชนมีความก้าวหน้า ที่สำคัญน้อง ๆ ยังได้เปิดโลกเกษตรยุค 4.0 ภายใต้แนวคิดเกษตรแม่นยำ ทั้งยังจะได้สัมผัสจริงกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ด้วย”

“สมศักดิ์”กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการจัดกิจกรรมทั้งโครงการค่ายยุวชนเกษตรกรสยามคูโบต้า และโครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp ตลอดระยะเวลาผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เริ่มโครงการ มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 7,300 คน

“ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อเรื่องการเกษตร ทั้งยังเชื่อว่าเยาวชนที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการทั้ง 2 โครงการกว่า 2,000 คน น่าจะเป็นต้นกล้าสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น สยามคูโบต้า ยังดำเนินโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า เพื่อพัฒนาพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ ผ่านกิจกรรมการเกษตรต่าง ๆ ของบริษัท”

“เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ในการสร้างชุมชนต้นแบบทางการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง จนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าให้แก่เกษตรกรในชุมชน, ชุมชนใกล้เคียง และเกษตรกรผู้สนใจต่อไป เพื่อพวกเขาจะได้เรียนรู้ ศึกษาวิธีการทำเกษตรจนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

โดยแนวทางการพัฒนาชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนประกอบด้วย

หนึ่ง ต้นน้ำ คือการพัฒนาด้านการเกษตร ด้วยการขยายแปลงนา และแหล่งน้ำ การทำแปลงทดสอบ KUBOTA (Agri) Solution โดยการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร และการใช้ร่วมกันในชุมชน(Machinery Pool)รวมถึงการปลูกพืชหลังทำนาเพื่อบำรุงดิน และสร้างรายได้เพิ่ม

สอง กลางน้ำ คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ทั้งการแปรรูป การสร้างตราสินค้าท้องถิ่น การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงการหาช่องทางใหม่ๆ ทางด้านการตลาด และการจำหน่ายสินค้า

สาม ปลายน้ำ คือการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ด้วยการบริหารจัดการกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการเงิน การทำบัญชี รวมถึงการศึกษาดูงานการทำเกษตรให้มีความเข้มแข็ง และเกี่ยวข้องกับกลุ่มต่างๆ

“ปัจจุบัน เรายกระดับชุมชนในโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าให้เป็นศูนย์เรียนรู้แล้วจำนวน 3 แห่ง คือศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าผักไหม ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ, ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าเกษตรทิพย์ ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าห้วยตาดข่า ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ก็คือศูนย์เรียนรู้ที่เราพาน้อง ๆ เยาวชนในโครงการมาเรียนรู้ครั้งนี้”

“สมศักดิ์” กล่าวต่อว่าสำหรับจุดแข็งสำคัญของศูนย์เรียนรู้ฯ ห้วยตาดข่าคือมีกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการปลูกพืช,เลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และประสิทธิภาพของการร่วมแรงร่วมใจอย่างแข็งขัน จริงจัง และต่อเนื่องของเกษตรกร

“อีกทั้งยังเป็นศูนย์ที่ทำเกษตรครบวงจร(KUBOTA “Agri” Solutions)กับพืชหลัก ๆ 3 อย่างได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง และอ้อย จนสามารถสร้างองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทั้งระบบเกษตรกรรม และถ่ายทอดไปยังกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญ ยังมีการขยายผลของโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุข ในการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบรูณ์ เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต่อไป”


จึงนับเป็นการนำศักยภาพ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านเกษตรกรรม เครื่องจักรกลการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่มีอยู่มายกระดับการเกษตรของไทยให้แข็งแกร่ง ก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน