มิติใหม่ของผู้นำ

คอลัมน์ CSR Talk โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

ในช่วงเวลาของความหดหู่ กดดัน หลายคนมองเห็นแต่ทางตัน แต่บางคนนั้นมองเห็นทางออก

นิยามของคำว่า “ผู้นำ” จึงควรมาพร้อมกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นำทางให้กับผู้คนที่ยังมองไม่เห็นทาง ใน Workshop on Innovative Leadership and Talent Management for Public-sector Productivity ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศศรีลังกา เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีประเด็นทำให้คิดถึงผู้นำท้องถิ่นที่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยหลายประการ

นิยามสั้น ๆ ของ innovative leadership คือ “เปลี่ยนความคิดที่กว้างไกลเข้าไปในชีวิตจริง”

ด้วยการคิดและการทำที่เป็นกระบวนการนั่นคือ ขับเคลื่อน-ปรับเปลี่ยน-สร้างสรรค์-เชื่อมต่อ-กำกับ-รับข้อมูล-เกื้อกูลความรู้-นำสู่ผลประโยชน์

การเป็นผู้ขับเคลื่อนนั้นต้องเป็นคนที่มีพลัง มีความทะเยอทะยาน มีความคิดริเริ่ม และยืนหยัด ด้วยคุณสมบัตินี้จะทำให้เกิดความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เติบโตทางความคิด มีวุฒิภาวะทางสังคม มีความสามารถในการสร้างทีม กำกับทิศทางด้วยการติดตามประเมินผลเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ทำงานด้วยข้อมูลจริง และพัฒนาองค์ความรู้สมาชิกให้เติบโตไปพร้อมกัน ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องชี้ให้เห็นประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน

จากการที่ได้เข้าไปเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดการองค์ความรู้การบริหารจัดการหนี้ ซึ่งจัดโดยกลุ่มงานส่งเสริมองค์กรการเงินชุมชน สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เห็นมิติใหม่ของผู้นำฉายแสงเจิดจ้าอย่างน่าสนใจหลายคนจากโครงการบริหารจัดการหนี้

ที่มาของโครงการนี้มาจากปัญหาหนี้สินของคนในชุมชน ซึ่งมีกองทุนหลายกองทุนลงไป สิ่งที่น่าตกใจคือ สมาชิกกองทุนไม่เห็นตัวเลขหนี้ การกู้แต่ละครั้งก็เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงมีการกู้ยืมวนไปทุกกองทุนที่เข้ามา โครงการหนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการบูรณาการหนี้ให้เหลือเพียง 1 สัญญาต่อ 1 ครัวเรือน

ที่ชุมชนบ้านโป่ง หมู่ที่ 6 อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีกองทุนชุมชนเกิดขึ้นถึง 11 กลุ่ม ทั้งที่เป็นของรัฐ และจัดตั้งขึ้นเอง เกิดพฤติกรรมขาดวินัยในการใช้เงิน มีหนี้ซ้ำซ้อน เงินกองทุนที่หมุนเวียนอยู่เริ่มสูญหาย ผู้นำกลุ่มจึงนำปัญหามาวิเคราะห์ เพื่อจัดการบูรณาการหนี้ และออกแบบการชำระหนี้ตามพฤติกรรมของสมาชิกเป็นเมนูต่าง ๆ ให้เลือกตามความเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้จ่าย และการออม

โดยทีมผู้นำจะคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ส่งเสริมอาชีพให้เกิดรายได้ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการจัดการเงิน และประโยชน์ในการทำให้กองทุนชุมชนเข้มแข็ง ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีคิดที่นำไปสู่การออกแบบการจัดการหนี้ที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ๆ แต่มุ่งไปให้ความสำคัญกับสมาชิก ที่เป็นเสมือนลูกค้าคนสำคัญ โดยยึดเป้าหมายสุดท้ายคือการลดหนี้ และเสริมความสามารถในการชำระหนี้

เช่นเดียวกับหมู่บ้านชากไทย หมู่ที่ 4 ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ผู้นำได้ออกแบบการบริหารจัดการหนี้ด้วยการสร้างเมนูทางเลือกให้สมาชิกที่ประยุกต์มาจากธุรกิจประกันชีวิต และยังเปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนเมนูได้ หากไม่เหมาะสม โดยมีการถามความคิดเห็นนำมาปรับปรุงแก้ไข พูดคุยกับสมาชิกด้วยข้อมูลจริงเป็นรายคน

จะเห็นได้ว่าผู้นำเหล่านี้ไม่ใช้ผู้นำแบบเก่าที่มีลักษณะของการสั่งการอีกต่อไป แต่วางบทบาทตนเองในฐานะ servant leadership หรือผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ ซึ่งได้ใจจากสมาชิกไปเต็ม ๆ และสิ่งนั้นคือการถ่ายทอดพลังซึ่งกันและกัน

การทำงานพัฒนาชุมชน ผู้นำเป็นกลไกสำคัญ ทั้งผู้นำที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ การทำโครงการใด ๆ ในชุมชน จึงไม่ควรลืมการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้นำอย่างต่อเนื่องด้วย แต่ไม่ใช่การนำเอาหลักสูตรสำเร็จรูปแล้วเรียกผู้นำมาเข้าอบรมอย่างที่ทำกันมา

การสร้างผู้นำในมิติใหม่นี้จะต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ผู้นำเพื่อให้รู้ว่าจะเสริมจุดแข็งที่มีอยู่อย่างไร และแก้จุดอ่อนให้น้อยลงอย่างไร การเสริมศักยภาพผู้นำจึงควรได้รับการออกแบบเฉพาะ ซึ่งอาจนำรูปแบบกระบวนการของ innovative leadership มาเป็นแนวทางมิติใหม่ของผู้นำเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยก้าวข้ามทางตันในวันนี้ไปด้วยกัน

หมายเหตุ – ขอขอบคุณเนื้อหา Workshop on Innovative Leadership and Talent Management for Public-sector Productivity จาก “คุณวลีพร ธนาธิคม” วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ