“AIS” ยกระดับ “บุคลากร” พัฒนาศักยภาพในระดับสากล

จากกรณีที่กระแส digital disruption เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการของลูกค้า จึงส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เฉกช่นเดียวกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ต้องปรับตัวเช่นกัน เพียงแต่เอไอเอสกลับมองว่าสิ่งสำคัญไปกว่าการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์เทรนด์ดิจิทัลในปัจจุบัน คือการเตรียมความพร้อมในเรื่องของคน เพื่อช่วยกันสร้างศักยภาพของธุรกิจให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ได้

“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรื่องของดิจิทัลดิสรัปชั่นถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในหลายองค์กร แต่ยังมีหลายองค์กรที่ไม่รู้จะปรับตัวอย่างไร

“3 ปีที่ผ่านมา เอไอเอสดำเนินการเร่งด่วนในเรื่องของกระบวนการจัดทัพคนในองค์กรใหม่ โดยมุ่งเน้นสร้างทีมงานที่สามารถทำงานเคลื่อนตัวได้รวดเร็ว ต่างจากในอดีตที่พนักงานแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ยุคนี้การรู้ด้านเดียวไม่พอ พนักงานต้องรู้นอกกรอบงานของตัวเองด้วย เพราะเอไอเอสเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีพนักงานกว่า 12,000 คน ดังนั้น การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เดินหน้าในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องเร่งทำ”

“ทั้งการพัฒนาสกิลเซตใหม่ และปรับการทำงานให้กระชับมากขึ้น เราจึงก่อตั้งเอไอเอส อะคาเดมี เพื่อทำหน้าที่เสมือนสถาบันพัฒนาศักยภาพให้พนักงานในองค์กรมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งเนื้อหาความรู้ และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทำงาน สร้างคนให้เป็นดิจิทัลเจเนอเรชั่น”

“เวลาที่เอไอเอสพูดถึงดิจิทัลเจเนอเรชั่น เราไม่ได้พูดถึงอายุของพนักงาน แต่หมายถึงเจเนอเรชั่นที่มีความผูกพันกับดิจิทัลสูงมาก ซึ่งคนเอไอเอสรุ่นใหม่คือคนที่มีความผูกพันกับดิจิทัล มีความเข้าใจว่าดิจิทัลมีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างไร และพร้อมที่จะเรียนรู้เร็ว หกล้ม และลุกขึ้นมาได้เร็ว ไม่เป็นคนที่กลัวปัญหา ได้แต่คิด แต่ไม่กล้าลงมือทำ”

“กานติมา” กล่าวต่อว่า เอไอเอส อะคาเดมี ไม่ใช่การจัดทำหลักสูตรให้คนมาเข้าห้องอบรมสัมมนาแล้วจบไป แต่เป็นการพัฒนาคนให้เขามีประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะให้พนักงานกำหนดสิ่งที่อยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยให้เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และแทรกซึมอยู่ใน DNA ของคนเอไอเอสทุกคน

“ดังเช่น หลักสูตรที่เราร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology-MIT) สหรัฐอเมริกา ในการให้ทีมงานของเราไปที่นั่น เพื่อไปหาประสบการณ์ระดับโลกว่าเขาทำงานกันอย่างไร นอกจากนั้น เรายังได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาผู้บริหาร และท็อปทาเลนต์ของเราให้มีความพร้อมมากขึ้นในบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป”

“ล่าสุดเราร่วมมือกับ SEAC จึงได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ให้เป็นองค์กรเดียวในภาคธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย ร่วมศึกษาและพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่อง digital disruption ว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคม และภาคเอกชนของประเทศอย่างไร เพื่อเร่งส่งเสริมศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับ digital disruption อย่างเป็นระบบ”

“การร่วมมือกับสถาบันเหล่านี้เป็นการย่นระยะเวลาในการพัฒนาคนของเรา และช่วยให้เอไอเอสปรับตัวได้เร็วขึ้น เพราะสถาบันเหล่านี้ต่างมีองค์ความรู้ และประสบการณ์จากทั่วโลกมากมาย”

“กานติมา” อธิบายเพิ่มเติมว่า ภายใต้เอไอเอส อะคาเดมี มีการมุ่งออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ผ่าน digital learning platform ที่ชื่อว่า AIS Digi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับชั้นเข้ามาเรียนรู้, ค้นคว้า และทำกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ ผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เป็นการทลายข้อจำกัดเรื่องเวลา และสถานที่ลงไปอย่างสิ้นเชิง

“AIS Digi จะมีกิจกรรมย่อยอยู่ 3 หมวด ได้แก่ หนึ่ง AIS Learn Di เป็นการเรียนรู้ออนไลน์นอกเวลางาน ทุกคนสามารถล็อกอินเข้ามาใช้งาน เลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจได้เอง ซึ่งในแต่ละบทเรียนจะออกแบบให้มีระบบการประเมินผลที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนความเข้าใจ สอง AIS Read Di ทำหน้าที่เป็นห้องสมุดออนไลน์ ให้พนักงานได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น พร้อมด้วยฟังก์ชั่นเลือกดูหนังสือที่น่าสนใจ และยืมหนังสือจากห้องสมุดขององค์กรได้ด้วย สาม AIS Fun Di เป็นแหล่งรวบรวมกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยกำหนดให้มีระบบการสะสมแต้ม ภายใต้เงื่อนไขการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่บริษัทกำหนด เพื่อนำมาแลกของรางวัลที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็น บัตรที่พักโรงแรม หรือตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น”

“ทั้งยังออกแบบหลักสูตร ACT (AIS creative talent) กิจกรรมสำหรับพนักงานทุกระดับให้ได้แสดงออก โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เปิดรับแรงบันดาลใจจากผู้เชี่ยวชาญในวงการต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วย”

“กานติมา” กล่าวด้วยว่า การที่องค์กรใด ๆ จะประสบความสำเร็จได้ในช่วง digital disruption องค์กรเหล่านั้นจะต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพในองค์กร ที่เอไอเอสเราจะไม่บล็อกความคิดคนรุ่นน้อง เพราะการปิดกั้นความคิดคนรุ่นใหม่จะทำให้ไม่เกิดนวัตกรรม องค์กรต้องมีพื้นที่ให้เขาเป็นตัวของตัวเอง เช่น เรื่องการแต่งตัว

ที่เราให้สิทธิ์พนักงานแต่งตัวอย่างไรก็ได้ ไม่มียูนิฟอร์ม และเราเชื่อว่าคนของเรามีความเป็นผู้ใหญ่พอที่จะรู้ว่าแต่ละสถานการณ์ควรแต่งตัวอย่างไร เราต้องปล่อยให้เขาเป็นตัวของตัวเอง องค์กรไม่ใช่แม่พิมพ์ที่จะปั๊มทุกอย่าง

“เรามีความเชื่อมั่นว่าบุคลากรของเอไอเอสมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง นิยามของคนรุ่นใหม่ของเราไม่ได้จำกัดเพียงแค่อายุ วุฒิการศึกษา หรือระยะเวลาการทำงาน แต่จะแสดงออกด้วยความคิดและการลงมือทำ ด้วยความหลากหลายของคนที่มีความรู้ มีศักยภาพจุดแข็งแตกต่างกัน หากเกิดการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน ก็เปรียบเสมือนเรือลำเล็กที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความหลากหลายทางความคิด คอยช่วยเหลือผลักดันองค์กรให้เกิดการเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”


นับเป็นแนวทางการพัฒนาบุคลากรที่ทำอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการทันโลก และความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อันเป็นฐานรากที่มั่นคงในการสร้างคนสายพันธุ์ใหม่ของเอไอเอส