“YLD” ของ “นิสสัน” บูรณาการทักษะผู้นำ+สะเต็มศึกษา

เพราะการศึกษาเป็น 1 ใน 4 นโยบายหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จึงทำให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิรักษ์ไทยจัดโครงการ “พัฒนาทักษะภาวะผู้นำเด็กและเยาวชน” (Young Leadership Development-YLD) เป็นระยะเวลา 3 ปี (2560-2562) เพื่อพัฒนาทักษะภาวะผู้นำ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม และการมีทักษะด้านสะเต็มศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์

“ปีเตอร์ แกลลี” รองประธานสายงานสื่อสารองค์กร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เนื่องจากนโยบายด้านซีเอสอาร์ของนิสสันให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน และการพัฒนาทักษะ ศักยภาพการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม รวมถึงทักษะด้านสะเต็มศึกษาอันเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปต่อยอดในการทำงาน การใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป

“จากความสำคัญดังกล่าวนิสสันจึงร่วมมือกับแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโกลบอลพาร์ตเนอร์ และมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในการริเริ่มโครงการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างศักยภาพสำหรับนักเรียนในด้านทักษะภาวะผู้นำ ทักษะวิชาชีพ และสะเต็มศึกษา จำนวน 1,200 คน ของโรงเรียนมัธยมต้น และมัธยมปลาย 8 แห่ง ในจังหวัดระยอง 4 แห่ง และพระนครศรีอยุธยา 4 แห่ง”

“โครงการนี้จะช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาผ่านสถานการณ์ในชีวิตจริง รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสะเต็มศึกษาเพื่อช่วยปรับทิศทางอาชีพในอนาคตของพวกเขาต่อไป”

“โครงการนี้เราลงทุนกว่า 7 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ในการพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน และโครงการนี้ยังเป็นกิจกรรมหลักด้านซีเอสอาร์ของนิสสัน เพราะเราอยากมีส่วนช่วยให้ประเทศมีทรัพยากรที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น มีทักษะในการทำงานที่หลากหลาย เพื่อสร้างแรงงานในอนาคตที่มีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อก้าวไปสู่สังคมที่มีฐานของเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล”

“ปีเตอร์” กล่าวอีกว่า เนื่องจากประเทศไทยกลายเป็นศูนย์การผลิตของนิสสันในเอเชียและโอเชียเนียที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีโรงงานผลิต 2 แห่ง และมีพนักงานกว่า 5,000 คน ทำให้การจัดกิจกรรมด้านซีเอสอาร์ในโครงการนี้เปิดโอกาสให้พนักงานเข้าร่วม เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานให้กับน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ

“นอกจากจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับน้อง ๆยังเป็นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะในเรื่องของการแบ่งปัน การช่วยเหลือให้กับพนักงานของเรา และการเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้งเราไม่ได้บังคับและไม่มีการกำหนดเป็นเคพีไอ แต่มีพนักงานจำนวนมากมาร่วมทำกิจกรรม รวมถึงตัวผมเองด้วย”

“สำหรับการต่อยอดโครงการ ผมมองว่ากิจกรรมนี้เป็นโครงการระยะยาว 3 ปี และในตอนนี้ผ่านมาได้ 1 ปี และถ้าถามถึงการต่อยอดผมว่า ต้องดูผลลัพธ์ที่ได้ก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีการเรียนรู้และปรับปรุงในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทักษะที่เป็นความต้องการของภาคธุรกิจ”

“ถ้าผลตรงนี้ออกมาสร้างผลกระทบเชิงบวกและสร้างทักษะให้กับน้อง ๆ เยาวชนเป็นอย่างดี ผมคิดว่าน่าจะมีการลงทุนกับโครงการนี้ต่อไปอีก เพราะจะช่วยพัฒนาและยกระดับด้านการศึกษาของไทยสู่ 4.0 พร้อมกับสร้างอนาคตเด็กไทยให้มีทักษะที่สอดรับกับความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมต่อไป”

“มิโยโกะ ทากากิ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศญี่ปุ่น กล่าวเสริมว่า สำหรับการเลือกพื้นที่การดำเนินโครงการใน 2 จังหวัด คือพระนครศรีอยุธยาและระยองนั้น เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ทำให้มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมในโครงการที่ต้องการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงทักษะด้านสะเต็มศึกษา ที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต

“โดยเด็ก ๆ และเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ทั้งการทดลอง การมีส่วนร่วม การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะด้านสะเต็มศึกษา ซึ่งจะทำให้เขาเหล่านี้เติบโตเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของไทยให้มีความก้าวหน้าต่อไปได้ ที่สำคัญต้องมองว่าเด็ก ๆ ทุกคนมีความสามารถ ทุกคนเป็นอนาคต เป็นความหวังของประเทศไทย ซึ่งแคร์ในฐานะผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ชุมชน มาอย่างยาวนานจะดึงเอาศักยภาพและความสามารถของเด็กเหล่านี้ออกมา เพื่อให้เขานำไปต่อยอดทั้งการเรียน การใช้ชีวิต และการทำงานในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อชุมชน ท้องถิ่น ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอีกทางหนึ่งด้วย”

“สุธิรัตน์ คชสวัสดิ์” เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน มูลนิธิรักษ์ไทย ในฐานะผู้ออกแบบกิจกรรมและหลักสูตรการอบรม กล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มโครงการ เราได้จัดทำแบบสอบถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งครู นักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน และตัวแทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และตัวแทนหน่วยงานราชการท้องถิ่นใน 2 จังหวัด เพื่อทำความเข้าใจ และออกแบบหลักสูตรการอบรมทักษะที่จำเป็นสำหรับทั้งครูและนักเรียน

“หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนอกจากจะพัฒนาทักษะภาวะผู้นำเด็กและเยาวชน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม และทักษะด้านสะเต็มแล้ว สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ การสร้างทักษะผู้ประกอบการ โดยนำเอาองค์ประกอบ 4 อย่างของสะเต็มศึกษา เข้ามาบูรณาการร่วมกัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์เป็นองค์ความรู้เดียว ซึ่งจะสามารถต่อยอดกับการเรียน การทำงานในอนาคตต่อไปได้”

ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันเราฝึกอบรมนักเรียนไปแล้วกว่า 700 คน จากโรงเรียนทั้ง 8 แห่ง ใน 2 จังหวัดนี้ และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเรามีการจัดอบรมเด็กอีกกว่า 300 คน เพื่อสร้างทักษะภาวะผู้นำที่ผสมผสานสะเต็มศึกษา โดยมีพนักงานนิสสันได้อาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมและแบ่งปันประสบการณ์ภาวะผู้นำอีกด้วย”