“ลอรีอัล” ทรานส์ฟอร์ม HR นำ AI เสริมการรีครูตพนักงาน

ในแต่ละปีมีคนทั่วโลกราว 1.3 ล้านคน สมัครงานกับลอรีอัล กรุ๊ป โดยมีเพียง 80,000 คนที่ผ่านการรีครูตเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ ขณะที่ลอรีอัล ประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้มีผู้มาสมัครงานแล้วเกือบ 900 คน แต่บริษัทมีตำแหน่งงานรองรับได้ 34-38 คน

ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของบริษัทความงามอันดับ 1 ของโลก จึงเกิดคำถามตามมาคืออะไรเป็นแรงดึงดูด หรือจุดเด่นที่ทำให้คนอยากเข้ามาเป็นพนักงานขององค์กรแห่งนี้ ?

“เจโรม ทิกซิเย่ร์” รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล และที่ปรึกษาประธานกรรมการ ลอรีอัล กรุ๊ป ให้เหตุผลว่า ลอรีอัลมีเป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจน ทั้งคุณค่าองค์กร จรรยาบรรณ จิตวิญญาณการทำธุรกิจ รวมถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ขณะเดียวกันยังมีการวางวิสัยทัศน์ระยะยาว เพื่อให้พนักงานรู้ว่าองค์กรจะดำเนินงานไปในทิศทางใดในอนาคต

ยิ่งกว่านั้นคือด้วยความที่มีหลายแบรนด์อยู่ภายใต้ร่มของลอรีอัล จึงทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจขององค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งจากส่วนผสมเหล่านี้ส่งผลให้พนักงานมีความภูมิใจที่ได้ทำงานในแบรนด์ที่อยากทำกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีจรรยาบรรณที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ไปพร้อม ๆ กับการได้รับเงินตอบแทนที่ดี

“คนที่จะเข้ามาเป็นพนักงานของลอรีอัล เราพิจารณาจากแพสชั่นในการทำงานกับเราเป็นหลัก และดูว่าประสบการณ์ตรงกับตำแหน่งหรือไม่ กระนั้น เราก็เปิดโอกาสให้คนได้ทำงานข้ามสายด้วย อย่างคนที่จบวิศวกรรมศาสตร์สามารถมาทำงานเป็นฝ่ายการตลาดได้”

เพราะให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” ลอรีอัลจึงวางโปรแกรมการดูแลพนักงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถในการทำงานได้ มีรางวัลตอบแทนจากการทำงาน มีอำนาจการตัดสินใจในการทำงาน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท โดยมี 3 โปรแกรมหลัก คือ

หนึ่ง worldwide performance โปรแกรมที่พนักงานทุกคนทั่วโลกมีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประกอบการของบริษัท หรือกล่าวอีกทางหนึ่งว่าถ้าบริษัทได้กำไรดี พนักงานก็มีส่วนในผลกำไรนั้นด้วย

สอง Employee Share Ownership Plan (ESOP) เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยพนักงานสามารถซื้อหุ้น หรือเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ ซึ่งนอกจากเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นแล้ว บริษัทยังมีส่วนลดค่าซื้อ และแถมหุ้นให้หากซื้อจำนวนมาก รวมถึงเปิดช่องให้ซื้อหุ้นได้อย่างสะดวก

“ยกตัวอย่าง พนักงานไทยจะไปซื้อหุ้นที่ฝรั่งเศสโดยตรงคงไม่ได้ แต่เราอำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถซื้อได้ ซึ่งหลังจากเปิดตัวโปรแกรมนี้ได้ไม่นานก็มีพนักงานจำนวนมากเข้ามาซื้อหุ้น แสดงให้เห็นว่าพนักงานมองเห็นถึงการเติบโตของบริษัทเช่นกัน”

สาม โปรแกรม share & care ที่จัดสรรให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ด้านแรกคือประกันชีวิต ถ้าหากพนักงานเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต จะได้รับเงินชดเชย 24 เดือนของรายได้ ขณะที่ด้านถัดมาเป็นเรื่องสุขภาพ หากพนักงานเจ็บป่วยจะมีการจ่ายเงินให้ 75% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถัดมาคือเรื่องครอบครัว เช่น พนักงานที่ลาคลอด จะได้เงินเดือน 14 สัปดาห์ พร้อมกับมีแผนเพิ่มวันลาให้กับคุณพ่อ จากเดิมที่สามารถลาหยุดได้ 3 วัน เป็น 10 วัน

ด้านสุดท้าย คือ คุณภาพชีวิตในการทำงาน โดยเน้นความยืดหยุ่นของการทำงาน หรือเป็น work anywhere พนักงานไม่ต้องมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งจากความเอาใจใส่พนักงานผ่านแนวทางต่าง ๆ ส่งผลให้โปรแกรม share & care ได้รับรางวัลจาก International Labour Organization (ILO)

อย่างไรก็ดี จากการหมุนเร็วของเทคโนโลยี และดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทในองค์กร จึงเป็นจุดพลิกผันของการทำงานฝ่ายเอชอาร์ ลอรีอัล เพราะต้องเป็นแรงหนุนในการทำให้บริษัทปรับไปสู่ digital transformation มากขึ้น โดยลอรีอัลได้จ้างพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลกว่า 2,000 คน มาช่วยดูแลด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นด้านอีคอมเมิร์ซ การเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ และการพัฒนาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน

“เจโรม ทิกซิเย่ร์” ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ลอรีอัลได้จับมือกับสตาร์ตอัพประเทศจีน และเนเธอร์แลนด์ ในการพัฒนา AI มาใช้กับการรีครูตพนักงาน ซึ่งมีอยู่ 2 โปรเจ็กต์ คือ MYA ที่ทำหน้าที่ pre-screening โดยจะเป็นเหมือน chatbot ในการตอบคำถามสั้น ๆ โดยอัตโนมัติ เช่น ตอนนี้บริษัทมีการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใดบ้าง หรือคุณสมบัติของตำแหน่งนั้น ๆ เป็นอย่างไร

อีกโปรเจ็กต์เป็น Seedlink เปรียบได้กับ election tool ที่ช่วยคัดเลือกผู้สมัคร ทำให้คนที่เป็น recruitment ไม่จำเป็นต้องอ่าน CV (Curriculum Vitae) ทุกฉบับ เพราะระบบจะช่วยจับคู่ CV ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรให้ก่อนในเบื้องต้น

“ทั้ง 2 โปรเจ็กต์อยู่ในช่วงของการทดลองที่ประเทศจีน ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก โดยการทำระบบเหล่านี้อาจทำมาสำหรับพื้นที่หนึ่ง แต่ไม่สามารถไปใช้ในพื้นที่อื่นได้ ถึงแม้จะพูดภาษาเดียวกันก็ตาม เพราะแต่ละแห่งล้วนมีบริบทและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน”

“เจโรม ทิกซิเย่ร์” เน้นย้ำว่า ลอรีอัลนำ AI มาใช้เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงาน ไม่ได้นำมาทดแทนการจ้างงาน หรือลดบทบาทของฝ่ายเอชอาร์ ขณะเดียวกันยังมองว่าการใช้เทคโนโลยีนี้ ถือเป็นโอกาสกับพนักงาน เพราะพวกเขาสามารถนำเวลาสำหรับรีครูตคนไปใช้ในการสร้างกลยุทธ์ต่าง ๆ ขององค์กรได้มากยิ่งขึ้น