รพ.พญาไท-เปาโล ค้นจุดแข็งสร้าง “คน” รับโลกเปลี่ยน

ต้องยอมรับว่าแผนกทรัพยากรบุคคล (HR-human resource) ในยุคใหม่นั้นไม่ได้ทำหน้าที่รับสมัครคนเข้าทำงาน ตรวจเวลาเข้า-ออกงาน หรือทำ pay roll ให้พนักงานในองค์กรเท่านั้น แต่ HR ยังมีหน้าที่สำคัญอื่น ๆ มากมาย เช่น พัฒนาบุคลากร และวางแผนกำลังคน เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง

HR จึงต้องเป็นหน่วยงานแรกที่พาคนไปสู่การปรับเปลี่ยน เพื่อช่วยให้บริษัทก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ได้

ซึ่งเหมือนกับ “เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล” ซึ่งเป็นหนึ่งองค์กรที่มีทีม HR เข้มแข็ง สามารถดูแลพนักงานให้ปรับตัวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี “สุภาพร บัญชาจารุรัตน์” ผู้อำนวยการสายทรัพยากรบุคคล เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ทำหน้าที่บริหารจัดการและพัฒนาบุคลากรในทุกภาคส่วน

“โลกใบนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นตอนนี้เป็นยุคดิจิทัลที่เข้ามา disrupt ภาคธุรกิจอย่างรุนแรง แต่ในส่วนของการบริหารคนของเครือ รพ.พญาไท-เปาโล มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการเปิดโลกของการเรียนรู้ของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะการพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง”

“โดยเครือ รพ.พญาไท-เปาโลเริ่มจากการให้พนักงานเรียนรู้ตัวเองก่อนว่ามีข้อเด่น ข้อด้อยอะไร จากนั้นเราจะช่วยพัฒนาข้อเด่นของพวกเขา เมื่อหลายปีก่อนเราคิดว่าต้องพัฒนาคนที่มีข้อด้อยเพื่อให้พนักงานมีความรู้ความสามารถที่ทัดเทียมกัน แต่หลังจากนั้นเราพบว่าการที่เราพัฒนาแบบนั้น ทำให้เราพบกับปัญหาการพัฒนาบุคลากรไม่ทันต่อการขยายตัวของธุรกิจ เราจึงปรับแนวคิดมาเป็นการพัฒนาบุคลากรที่จุดแข็ง ด้วยโครงการ Leadership Pipeline หรือพัฒนาคนมือขวา เพื่อให้หัวหน้างาน และผู้บริหารทุกคนมีคนมือขวา (successor) หรือคนที่มีความพร้อมในการเติบโตขึ้นมาทดแทนหัวหน้างาน และผู้บริหารในอนาคต แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะมองข้ามบุคลากรที่ด้อยกว่า”

“ทั้งนี้ โมเดลการพัฒนาการเรียนรู้ของบุคลากรของเราจะเป็นแบบ 4D hybrid learning platform ที่สะท้อนการเรียนรู้แบบครอบครัว ส่งเสริมให้บุคลากรในเครือ รพ.พญาไท-เปาโล ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงยังเป็นช่องทางส่งผ่านการเรียนรู้จากภายนอกเข้ามาสู่บุคลากรภายใน ที่ล้วนเป็นการต่อยอดความรู้ที่เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ในเวลาไม่นาน”

เพราะฉะนั้น ภายใต้ 4D hybrid learning platform จึงมีการมุ่งเน้นใน 3 มุมมอง คือ

หนึ่ง มุมมองผู้ถ่ายทอดความรู้-เนื่องจากเราส่งเสริมให้บุคลากรฝึกทักษะในการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้ เราเชื่อว่ายิ่งพวกเขาถ่ายทอดความรู้ต่อกันมากขึ้น จะยิ่งมีความชำนาญมากขึ้น

สอง มุมมองผู้เรียนรู้-พนักงานจะได้รับโอกาสต่อยอดการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น ทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์

สาม มุมมององค์กร-สร้างองค์กรให้เป็นคลังความรู้ให้สามารถกระจายความรู้ไปสู่บุคลากรอย่างทั่วถึง

“เครือของเราต้องการคนเก่งเรื่องงาน เก่งเรื่องคน และเก่งเรื่องบริหารตนเอง เพราะถ้าเก่งงานแต่ไม่เก่งคน คุณอาจเป็นที่ชื่นชอบในความสามารถ แต่อาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง ก็จะทำงานอย่างไม่มีความสุข หรือถ้าเก่งคนแต่ไม่เก่งงาน คุณจะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อน ๆ แต่คุณไม่สามารถรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายได้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในองค์กร และถ้าพนักงานของเราสามารถบริหารเรื่องส่วนตัวของตนเองได้ คนที่มีความสุข และได้รับประโยชน์ไม่ใช่แค่องค์กร แต่คือตัวพนักงานเอง ทั้งยังส่งผลต่อการสร้างความสุขให้ลูกค้าด้วย นี่คือเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับการบริหารบุคลากรในลำดับต้น ๆ”

ส่วนมุมมองเรื่องวัฒนธรรมองค์กร “สุภาพร” บอกว่า เครือ รพ.พญาไท-เปาโลมีวัฒนธรรม we before me ที่ประกอบไปด้วย 5 we อันมีความหมายถึงพฤติกรรมที่เราอยากได้จากพนักงานในการทำงาน

we open-กล้าคิด กล้าพูด เนื่องจากเราเป็นธุรกิจสุขภาพ เมื่อมีปัญหาในการทำงาน เราต้องการให้พนักงานรายงานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ทัน และถูกจุด

we can-อดทน พนักงานต้องเชื่อมั่นว่าทำงานต่าง ๆ ลุล่วงได้

we change-ปรับตัวได้ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นก็ตาม โดยเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน เพราะการเปลี่ยนคนอื่นจะทำให้เหนื่อย และไม่มีความสุข

we serve-ใส่ใจลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว และดูแลเพื่อนร่วมงาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

we own-พนักงานต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นเจ้าบ้านต้อนรับลูกค้าที่ดี จะทำให้มีความสุขในการทำงาน

“การอยู่ร่วมกันในองค์กรต้องไม่อยู่กันด้วยกฎระเบียบเพียงอย่างเดียว ควรอยู่ด้วยกันแบบให้ความช่วยเหลือ ให้ความเข้าใจ ให้อภัย เพราะจะทำให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ และเราคิดว่าการรักษาบุคลากร ไม่ใช่แค่ให้ค่าตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว แต่ความสุขของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงดูแลพนักงานทั้งคุณภาพชีวิตการทำงาน และคุณภาพชีวิตครอบครัว”

“โดย HR ต้องมีบทบาทในการให้คำปรึกษากับพนักงาน เราจึงจัดโครงการต่าง ๆ ขึ้น เพื่อสอดแทรกความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวด้วย เช่น โครงการสอนลูกแทนคุณ (The employee kids) เพราะเราเชื่อว่าความสุขที่แท้จริงของพนักงานเริ่มต้นจากครอบครัว เราจึงสร้างแหล่งเรียนรู้ให้บุตรหลานของพนักงาน ทั้งยังเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวของพนักงานมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสามัคคีในครอบครัว”

“สุภาพร” ยังกล่าวอีกว่า ความท้าทายในการบริหารคนมีในทุกยุค ทุกสมัย สำหรับองค์กรยุคนี้ต้องบอกว่าเป็นยุคผสมของคนหลาย ๆ รุ่น ซึ่งคนที่ช่วยฝ่าย HR ในการดูแลคนในองค์กรได้มาก คือ หัวหน้างาน เราต้องให้ทักษะความรู้ที่ช่วยให้หัวหน้างานสามารถบริหารลูกน้อง และเป็นที่ไว้วางใจของลูกน้อง

“เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลเป็นธุรกิจที่มีบุคลากรทุกเจเนอเรชั่น ที่ผ่านมาเราขยายตัวทางธุรกิจ ดังนั้นเราจึงรับน้องใหม่ ๆ ที่เพิ่งจบค่อนข้างเยอะ สิ่งที่องค์กรต้องทำความเข้าใจ คือ คนรุ่นใหม่เป็นคนต้องการการยอมรับ กล้าคิด กล้าพูด กล้าที่จะบอกความต้องการของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะองค์กรจะได้แนวคิดใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการบริหารงาน แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ บางครั้งความกล้าคิด กล้าพูดกับความก้าวร้าว มันอยู่ใกล้กันนิดเดียว เราจึงต้องสื่อสารให้น้อง ๆ เข้าใจ ซึ่งน้อง ๆ รุ่นใหม่พร้อมที่จะเข้าใจอยู่แล้ว”

จึงนับเป็นองค์กรที่เน้นการสร้างสมดุลในการพัฒนาพนักงาน ทั้งด้านทักษะ และความสุขในการทำงาน เพื่อก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี