เข้าถึง SE ด้วย “Doi Tung Plus”

คอลัมน์ Eco Touch

หลายคนต้องการอุดหนุนสินค้าคุณภาพดีที่มาจากธุรกิจเพื่อสังคม แต่ด้วยความที่สินค้าดังกล่าวอาจไม่ได้วางขายทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า จึงทำให้การเข้าถึงสินค้าจากธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเรื่องยากพอสมควร (ถึงแม้จะสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ แต่สินค้าบางประเภทนั้น ลูกค้าก็ต้องการสัมผัสหรือจับต้องสินค้าโดยตรง)

ปัญหานี้จะหมดไป เพราะมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยกทัพสินค้าของธุรกิจเพื่อสังคมไปจำหน่ายถึงอาคารสำนักงานต่าง ๆ ด้วยรูปแบบ mobile store ผ่านโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store

“ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เกิดจากความตั้งใจจริงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่ต้องการใช้ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของดอยตุง ช่วยเหลือธุรกิจเพื่อสังคมรายอื่น ๆ จึงออกมาเป็นรูปแบบของการฝากขายสินค้าร่วมกัน ซึ่งสินค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณภาพดี และมีผลกระทบทางสังคมที่ชัดเจน โดยต้องผ่านเกณฑ์การประเมินใน 5 ด้าน ได้แก่

1.การประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 2.ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ 3.มาตรฐานการดำเนินกิจกรรมภายในบริษัท 4.การจัดการด้านบุคลากรและองค์ความรู้ และ 5.ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ

“เราใช้เวลา 1 ปีในการสร้างเกณฑ์รับรอง มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พิจารณาจากศักยภาพในการสร้างกำไร การตลาด รวมถึงทำ stakeholders review ก่อนจัดอันดับ ranking แล้วได้ 10 ธุรกิจเพื่อสังคมกลุ่มแรกที่จะมาวางจำหน่ายสินค้าร่วมกับเรา ซึ่งดอยตุงมีนโยบายขยายตลาด หรือการจัดจำหน่ายสินค้าไปยังอาคารสำนักงานตามพื้นที่ต่าง ๆ เพราะมองว่าพนักงานมีความต้องการซื้ออยู่แล้ว หากนำสินค้าคุณภาพไปให้เขา เขาก็พร้อมที่จะเลือกซื้อ”

สำหรับธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ๑4๑ (หนึ่งสี่หนึ่ง) ผลิตภัณฑ์ของใช้และของเล่น DIY ในแนวคิด slow play, อภัยภูเบศร เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร และบริการสุขภาพโดยแพทย์แผนไทย, Kokoboard สินค้าที่ผลิตจากไม้อัดเศษวัสดุทางการเกษตร, Jasberry ผลิตภัณฑ์ข้าว และชาอินทรีย์, WANITA ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และอาหารที่มีเอกลักษณ์จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

มีวนา ผลิตภัณฑ์กาแฟอราบิก้าอินทรีย์ใต้ป่า, Socialgiver ออนไลน์แพลตฟอร์มจำหน่าย GiveCard สำหรับใช้ในร้านอาหาร และโรงแรม, Local Alike แพ็กเกจการท่องเที่ยวแบบ community-based, วิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร, Folkcharm เครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากผ้าฝ้าย

“ในการจำหน่ายสินค้าวางไว้ว่า 60% เป็นผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเพื่อสังคม อีก 40% เป็นผลิตภัณฑ์ของดอยตุง และใน 3 ปีนี้คาดว่าจะมีธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาอยู่กับโครงการนี้ 20-30 ราย โดยสินค้าต่าง ๆ จะหมุนจำหน่ายไปตามพื้นที่ ซึ่ง mobile store ของเราเป็น modular ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามพื้นที่ ถอดประกอบได้ และง่ายต่อการขนย้าย”

ตอนนี้ได้ทำความร่วมมือกับองค์กรทั้งหมด 10 แห่ง เช่น เอสซีจี, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น สำหรับวางจำหน่ายสินค้าในอาคารสำนักงานใหญ่แห่งละ 2-3 วัน และจะวนกลับไปยังพื้นที่เดิมทุก ๆ 2-3 เดือน

โดยจะเริ่มจำหน่ายสินค้าของโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ในวันที่ 23-24 ก.ค.นี้ ที่สำนักงานใหญ่ของเอสซีจีเป็นแห่งแรก