กรณีศึกษา “หมู่บ้านผาปัง” ยกระดับชุมชนสู่กิจการเพื่อสังคม

ต้องยอมรับว่ามูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ต.ผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) ที่น่าสนใจของภูมิภาคแถบภาคเหนือตอนบน

เพราะหมู่บ้านผาปังเป็นตำบลเล็ก ๆ มีเพียง 5 หมู่บ้าน 462 ครัวเรือน มีประชากรรวมกันเพียง 1,098 คน ทั้งในอดีตชุมชนแห่งนี้ยังมีความแห้งแล้ง ขาดแคลนที่ดินทำกิน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่สำคัญด้วยจำนวนประชากรที่ไม่มากพอ จึงทำให้หมู่บ้านผาปังไม่สามารถยกระดับในการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้

ด้วยปัญหาเหล่านี้เองทำให้ประชากรในหมู่บ้านบางส่วนจึงอพยพออกไปหางานทำในต่างจังหวัดและมหานครกรุงเทพฯ บางส่วนย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ไปเลย

แต่กระนั้น ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีซ่อนอยู่ เพราะประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านผาปังต่างมีความเชื่อว่าการศึกษาน่าจะเปลี่ยนสถานะทางสังคมของคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในอนาคตได้ พวกเขาจึงส่งบุตรหลานออกไปเรียนยังนอกพื้นที่

บางส่วนเข้ามาเรียนในมหานครกรุงเทพฯ

และบางส่วนทยอยกลับเข้ามาทำงานในจังหวัดของตน โดยรับราชการครูบ้าง ศึกษานิเทศก์บ้าง หรือทำงานทางด้านการเกษตรต่าง ๆ บ้าง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มองเห็นปัญหาและข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด

ที่สุดจึงเกิดแนวคิดในการพึ่งพาตนเองเมื่อปี 2547

เพียงแต่ระยะเริ่มแรกอาจไม่สัมฤทธิผลเท่าใดนัก เพราะต่างเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่กระนั้น คณะกรรมการเหล่านั้นกลับไม่ย่อท้อ พูดคุย ปรึกษา หาองค์ความรู้จากภายนอกเพื่อมาประเมินกันว่าเราจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนผาปังได้อย่างไรที่สุดจึงพบคำตอบ

“รังสฤษฎ์ คุณชัยมัง” ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง จึงเล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า คณะกรรมการรุ่นแรก ๆ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ ๆ น้า ๆอา ๆ ของพวกเรา พวกเขามีความตั้งใจจริงที่จะทำให้หมู่บ้านผาปังมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่านี้

“เพียงแต่ตอนแรกเรายังขาดองค์ความรู้ ทั้งยังมองแต่ปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร จนที่สุดพวกเขามานั่งคิดกันว่า เราต้องมองจากปัจจัยภายในของตัวเองก่อนคือสภาพพื้นที่ของเรา พวกเขาถามกันดัง ๆ ว่า อะไรเป็นนางเอกของหมู่บ้าน ถามอยู่หลายครั้งจนพบว่า ไผ่เป็นนางเอกของหมู่บ้าน เมื่อคิดได้ดังนั้น เขาจึงถามต่อว่า แล้วจะให้นางเอกมาแต่งงานอยู่กินกัน จนออกลูกออกหลานกับพระเอกอย่างพวกเราได้อย่างไร”

“พวกเขาจึงเริ่มศึกษาแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านต่าง ๆ โดยนำองค์ความรู้เหล่านี้มารวมกัน จนกลายเป็นแกงโฮะ หรืออาหารพื้นบ้านของทางเหนือที่รวมเอาอาหารหลาย ๆ อย่างมารวมกัน พวกเราจึงเลือกวิธีนี้ จนที่สุด จึงออกแบบแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมา”

“ที่สำคัญ หลายคนยังเชื่อว่าไผ่สามารถแปรรูปได้ ไม่ใช่แค่นำไปประกอบอาหาร สร้างเป็นที่อยู่อาศัย หรือของใช้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งตอนนั้นผมและคนอื่น ๆ ที่ไปทำงานในต่างจังหวัดเริ่มรับรู้แล้วว่าพวกเขาจะทำอะไรกัน เพราะทุกครั้งที่เรากลับทุกปี เราพูดคุยกับพวกเขาอยู่ตลอด จนกระทั่งผมกลับมาอยู่บ้านอย่างจริง ๆ จัง ๆ ผมจึงนำความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากที่เคยเรียนมา หรือเคยไปทำงานในหลาย ๆ แห่งที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานมาปรับใช้”

ประกอบกับอีกหลาย ๆ คนเริ่มกลับมาบ้านเช่นกัน บุคลากรเหล่านี้บางคนเรียนเศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, สถาปนิก และอีกหลาย ๆ สาขาจึงมองเห็นไปทางเดียวกันว่าไผ่สามารถพัฒนาเป็นสินค้าได้หลาย ๆ อย่าง

เพียงแต่จะเริ่มตรงไหนก่อนเท่านั้นเอง

“รังสฤษฎ์” จึงค่อย ๆ ขยายองค์ความรู้ในการแปรรูปไผ่ออกเป็นสินค้าหลาย ๆ อย่าง ใบไผ่สามารถนำไปแปรรูปเป็นชาใบไผ่ได้ ลำต้น นำไปใช้ในอุตสาหกรรมประมงน้ำตื้น, ไม้จิ้มฟัน, ไม้เสียบลูกชิ้น, ปล้องไผ่นำมาเผาถ่านคุณภาพสูง, หน่อไผ่ใช้ประกอบการทำอาหารและเยื่อไผ่สามารถนำไปทำภาชนะกล่องอาหารไบโอแพ็กเพื่อทดแทนโฟมได้


“ไม่เพียงเท่านั้น ไผ่ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับพลังงานด้านต่าง ๆ อีกด้วย ในการแปรรูปเป็นถ่านบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพสูงต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อาทิ เครื่องกรองน้ำ, ไส้กรองอากาศ, ถ่านไฟฉาย, เวชสำอาง และยารักษาโรค โดยเฉพาะยารักษาโรคตอนนี้เราทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนายารักษาโรคกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อยกระดับในการพัฒนาต่อไป”

“พูดง่าย ๆ คือเราพยายามทำให้ทุกคนเชื่อว่าไผ่มีประโยชน์มากกว่าที่ทุกคนเคยเข้าใจ จนถึงตอนนี้ความเชื่อดังกล่าวเริ่มถูกขยายวงกว้างมากขึ้น เพราะอย่างที่บอก บุคคลเหล่านี้ต่างมีความรู้ในด้านต่าง ๆ เมื่อพวกเรานำองค์ความรู้มารวมกัน จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้านเริ่มเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ แต่เราไม่หยุดอยู่แค่นี้ เรามองต่อว่าการจะทำให้ชุมชนยั่งยืน จะไม่ใช่แค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่เราต้องส่งต่อความเชื่อนี้ให้เกิดการพัฒนามากกว่านี้”


“จนที่สุดจึงออกแบบชุมชนด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนตำบลผาปัง เพื่อร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมกันตัดสินใจจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชุมชนพึ่งตนเองฉบับ พ.ศ. 2547-2567 ด้วยการแบ่งการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการจัดการสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม”

จนกลายเป็นมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ต.ผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง ที่ดำเนินการอยู่บน 3 กรอบใหญ่ ๆ คือ

หนึ่ง การพัฒนาการศึกษา และวัฒนธรรมมีชีวิต

สอง การสร้างคนคุณธรรม

สาม การบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะเดียวกันมีการออกแบบพื้นที่โดยรวมของชุมชน 5 หมู่บ้านรอบ ๆ ผาปังในการพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ด้วยการยกระดับเป็นกลุ่มวิสาหกิจกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ทั้งหมด 21 กลุ่ม โดยมีมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปังเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนพึ่งตนเอง เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาดิน, น้ำ, ป่า, การเกษตร และพลังงานชุมชน

โดยมีเป้าหมายทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุน, การเพิ่มผลผลิต, การพัฒนาคุณภาพ, การตลาด และการบริหารจัดการให้ชุมชน เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมในชุมชนผาปังสามารถก้าวไปให้ถึงความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชุมชนจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


“รังสฤษฎ์” บอกเพิ่มเติมว่า เมื่อเราออกแบบได้ดั่งที่ใจเราต้องการแล้ว ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามแผนของแต่ละกลุ่ม เพราะแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกของตัวเอง ทั้งยังมีธรรมนูญกลุ่มของตัวเองด้วย ที่สำคัญ สมาชิกเหล่านี้จะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กรรมการอำนวยการ ซึ่งจะมีประชุมกันทุกเดือน และทุก ๆ ไตรมาส จนถึงสิ้นปีเราจะมาสรุปบทเรียนกัน ว่าแต่ละกลุ่มมีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไรบ้าง เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

“หรือถ้าสมาชิกคนใดต้องการซื้อหุ้นจากกลุ่มต่าง ๆ เราเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าไปถือหุ้น และพอถึงเวลาสิ้นปี เราจะปันผลกำไรจากกลุ่ม SE ต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นรายได้โดยเฉลี่ยของสมาชิกจะอยู่ที่คนละ 8 หมื่นบาท/คน/ปี โดยไม่นับรวมเงินปันผลจากหุ้นต่าง ๆ ที่เขาถือในแต่ละกลุ่มด้วย ถามว่า มากไหม ก็ไม่มากหรอก แต่เขาสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข”

“เพราะแผนต่อไปของเราคือการทำ business matching หรือการจับคู่ธุรกิจกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าภายในชุมชนของเรา ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ผาปัง ที่ตอนนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และไม่แน่อีกไม่นานสินค้านี้จะถูกขึ้นไปเป็นผลไม้แนะนำให้กับผู้โดยสารบนสายการบินไทยให้ได้รับประทานอีกด้วย นอกจากนั้น เรายังมีแผนในการจัดจับคู่ธุรกิจกับต่างประเทศด้วย”

“สิ่งสำคัญกว่านั้น ปัจจุบันมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปังยังมีความเชื่อมโยงกับองค์กรไผ่โลกและสมาคมไผ่ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ พร้อมกับแลกเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาไผ่ไปในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาที่ตอนนี้มีนักศึกษาที่เรียนเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์มาดูงานอย่างสม่ำเสมอ”

ไม่เว้นแม้แต่การวางแผนในเรื่องการออกแบบชุมชนหมู่บ้านผาปังให้เป็นแลนด์มาร์กสำหรับคนที่ชอบถ่ายรูปเซลฟี่กับอุโมงค์ป่าไผ่ การขี่จักรยานผจญภัยในป่าไผ่ เพราะ “รังสฤษฎ์” บอกว่า ในปี 2567 สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นแบมบู ปาร์ก, แบมบู ซิตี้ และแบมบู สตรีต ที่คล้าย ๆ กับประเทศจีนและญี่ปุ่นตอนนี้เขาวางแผนปลูกไผ่ตลอดสองข้างทางไว้หมดแล้ว

อีก 3-4 ปี ทุกอย่างจะเริ่มเห็น ก่อนที่จะวางแผนประชาสัมพันธ์ต่อไปในอนาคตซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นทุกคนคงจะประจักษ์ชัดกับชุมชนหมู่บ้านผาปัง ที่เมื่อก่อนแทบไม่มีใครอยากอยู่เลย แต่ตอนนี้คนหนุ่มสาวเริ่มกลับมาอยู่บ้านแล้ว

และไม่ได้กลับมาอยู่เฉย ๆ หากยังนำองค์ความรู้ทางด้านกิจการเพื่อสังคมมาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจในชุมชนของตัวเองด้วย

จนเกิดความโดดเด่นในทุกวันนี้