“เอไอเอส” ขยายคอลล์ เซ็นเตอร์ สร้างอาชีพแด่ผู้พิการ แห่งที่ 13 ที่ จ.นครราชสีมา

เดินหน้าสร้างอาชีพแก่ผู้พิการอย่างต่อเนื่องสำหรับโครงการ “เอไอเอส สร้างอาชีพ คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ” ล่าสุด เปิด “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการทางสายตา” ขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ณ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนับเป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ แห่งที่ 13

“วิไล เคียงประดู่” หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า นับจากปี 2550 เอไอเอสได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ” ขึ้นเป็นครั้งแรก และขยายจำนวนอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการฯ แล้ว 13 แห่ง โดยที่มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์ฯ ล่าสุด

โครงการนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวและสังคมไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” ซึ่งผู้พิการเป็นกลุ่มที่เอไอเอสให้ความสำคัญ และดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าผู้พิการมีศักยภาพไม่ต่างจากคนปกติ และมีความมุ่งมั่นในการทำงาน จนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

“พนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ ผู้พิการทางสายตา จะผ่านการฝึกอบรมและเรียนรู้การปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกับพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ทั่วไป และพร้อมให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์”

“ในระยะเริ่มต้นถือเป็นความท้าทายของน้องๆ ผู้พิการที่เพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวเอไอเอส และเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ฝึกสอนและดูแลน้องๆ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ด้วยความพยายาม ผสานกับความตั้งใจ มีสมาธิสูง จึงทำให้น้องๆ พัฒนาตัวเองได้ไว และมีความสุขที่ได้ให้บริการลูกค้าทุกรายที่โทรศัพท์เข้ามา”

“ใจพร ศรีสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ คอนแท็คเซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เอไอเอสเดินหน้าขยายศูนย์ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบโอกาสสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์ฯ ที่เปิดให้บริการแห่งนี้ มีพนักงานผู้พิการทางสายตาปฏิบัติงานอยู่จำนวน 10 คน ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ผู้พิการจากศูนย์ปฏิบัติการที่เปิดให้บริการแล้วรวม 123 คน

“เอไอเอสได้ออกแบบงานอย่างเหมาะสม เพื่อการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับความสามารถ อาทิ ผู้พิการทางสายตาและพิการทางร่างกาย จะมีหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อสอบถามความคิดเห็นของลูกค้า เกี่ยวกับการใช้งานหรือบริการต่างๆ ของเอไอเอส, ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะให้บริการด้วยภาษามือผ่านทาง Web Cam”

นอกจากนี้ เอไอเอสยังนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน อาทิ ติดตั้งโครงข่ายออนไลน์, นำเทคโนโลยีด้านโปรแกรม JAWS ในการอ่านภาษาในระบบคอมพิวเตอร์ให้เป็นเสียงอ่าน โดยใช้ควบคู่กับโปรแกรมตาทิพย์จากสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

“ดารณี ฮันสูงเนิน” ตัวแทนพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ ที่ศูนย์ปฏิบัติการ AIS Call Center ผู้พิการทางสายตา เล่าว่า ตนตัดสินใจมาทำงานกับเอไอเอส เพราะชอบการทำงานที่ได้พูดคุยอยู่แล้ว เมื่อรู้ว่าเอไอเอสกำลังเปิดรับผู้พิการทางสายตา จึงเข้ามาสมัคร

สำหรับการทำงานในแต่ละวันจะมีเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน และก่อนเริ่มทำงานจริง จะมีการอบรมการใช้โปรแกรมต่างๆ ที่ต้องใช้ รวมถึงการเทรนนิ่งสิ่งที่จะต้องแนะนำลูกค้า หรือเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ

“สิ่งที่สำคัญที่สุ คือความภูมิใจที่ตัวเองมีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ และรู้สึกโชคดีมากที่เอไอเอสเปิดโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตา อย่างน้อยเรามีงานทำ เพราะเรียนจบใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องไปทิศทางไหน ซึ่งการทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลลูกค้า ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดี และตรงกับความสามารถของเรา ดังนั้น การทำงานในแต่ละวัน จึงเต็มไปด้วยความสุข”