SCB ดิจิทัล อะคาเดมี เดินหน้าสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

วรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ Dean of SCB Academy

ด้วยพันธกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ต้องการสร้างองค์กรให้เป็นธนาคารแห่งการเรียนรู้ และองค์กรมีความเชื่อว่าการที่จะอยู่รอดได้ในอนาคต คนในองค์กรต้องพร้อมที่จะเปิดใจ ปรับตัว และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

เหตุผลดังกล่าวทำให้ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์สร้าง “ดิจิทัล อะคาเดมี” (SCB Digital Academy) เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะพนักงานในยุคดิจิทัลให้มีความรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยยุทธศาสตร์ “กลับหัวตีลังกา” (Going Upside Down) ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และทำให้การเรียนรู้ไม่เป็นเรื่องน่าเบื่อ

“วรวัจน์ สุวคนธ์” รองผู้จัดการใหญ่ Dean of SCB Academy กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มพัฒนาดิจิทัล อะคาเดมีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยร่วมกับสตาร์ตอัพชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบใหม่ที่พนักงานสามารถเลือกเรียนได้ตามเวลาที่ต้องการ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีจุดเด่นอยู่ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI-artificial intelli-gence) บริหารจัดการแพลตฟอร์ม โดยระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลของพนักงาน แล้วแนะนำว่าต้องเรียนเรื่องอะไรบ้างที่เหมาะสมกับความชอบและหน้าที่ของพนักงานคนนั้น


สำหรับดิจิทัลอะคาเดมีแห่งนี้ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารที่เอสซีบี พาร์ค พลาซ่า ตึก East ชั้น 18-19 ถนนรัชดาภิเษก มีพื้นที่รวม 3,350 ตารางเมตร พื้นที่ดังกล่าวถูกออกแบบในดีไซน์ทันสมัย มีบรรยากาศที่สดใส ในลักษณะของสนามเด็กเล่น (playground) ตอบโจทย์พนักงานทั้ง 27,000 คน ให้ได้เรียนรู้เรื่องประโยชน์ และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบที่สนุกสนาน แบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ ด้วยคอนเซ็ปต์ 3A ได้แก่

หนึ่ง Approachable เข้าถึงได้ เป็นมิตร รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ถูกออกแบบมาด้วยรูปแบบสบาย ๆ มีทั้งโซฟา และพื้นที่ฟรีฟอร์มสำหรับ coworking space

สอง Aspirational เปิดมุมมองใหม่ เติมพลังฝัน แสงโทนเหลืองอบอุ่น เครื่องอำนวยความสะดวกพร้อมกระตุ้นให้เกิดไอเดียได้ตลอด

สาม Authentic น่าเชื่อถือ ทรงคุณค่า สีสันโทนดำตัดกับสีโอ๊ก เรียบง่าย ดูคูล แต่ทรงพลัง

โซนต่าง ๆ ถูกจัดไว้อย่างลงตัวเช่น the backyard พื้นที่ขนาดใหญ่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการเรียนรู้แค่ในห้องเรียน แต่หากต้องการมุมมองที่หลากหลาย ต้องนั่งโซน coworking space ที่เป็นโต๊ะเล็ก ๆ ใกล้ชิดกัน เพราะจะทำให้การแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆง่ายยิ่งขึ้น หรือหากต้องการทำงานเงียบ ๆ ใช้สมาธิ ก็มีพื้นที่ส่วนตัวในห้องที่เป็นสัดส่วน


“วรวัจน์” อธิบายต่อว่า องค์ความรู้ต่าง ๆ ภายใต้ดิจิทัลอะคาเดมี สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 2020 SCB Vision ที่ว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ธนาคารไทยพาณิชย์จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปสู่ Tech Bank มากขึ้น โดยนำดิจิทัลเข้ามาให้บริการทางการเงิน และใช้ดิจิทัลเข้ามาวิเคราะห์ในการทำธุรกิจในอนาคต

ทั้งยังใช้กลยุทธ์ Going Upside Down (กลับหัวตีลังกา) ที่มีแนวทางในการดำเนินงานที่สำคัญ5 เรื่อง มาเป็นกรอบในการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1.lean the bank เพิ่มประสิทธิภาพธนาคาร 2.high margin lending ปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง 3.digital acquisition การดำเนินธุรกิจในโลกดิจิทัล 4.data capabilities เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ข้อมูล และ 5.new business model ธุรกิจรูปแบบใหม่

“ทักษะที่เราต้องการให้คน SCB มีจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เพราะในการก้าวสู่ Tech Bank คนของเราต้องมีวัฒนธรรมดิจิทัลในตัว โดยเราแบ่งระดับทักษะดิจิทัลออกเป็น 5 ระดับ ระดับแรกจะเรียกว่า awareness หมายถึงคนที่รู้จักดิจิทัล แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ปฏิบัติกับงานอย่างจริงจัง ส่วนระดับสูงสุดจะเป็น expert คือเป็นผู้เชี่ยวชาญ และใช้ดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า คนของเราจะมีทักษะดิจิทัลครบทุกคนในปีหน้า”

“การที่จะทำให้คนของเราไต่ระดับไปถึง expert ต้องใช้วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เราไม่สามารถใช้รูปแบบการเรียนการสอนแค่ในห้องเรียนได้ ดังนั้นการเรียนรู้ของพนักงานจะมีตั้งแต่การระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดในห้องเรียน เรียนออนไลน์ อ่านบทความ ดูยูทูบ ดูหนังสั้น และเรียนวิชาเฉพาะที่ SCB จัดทำขึ้นมาเอง”

เริ่มตั้งแต่ digital 101 ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานเตรียมตัวพนักงานให้พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ โดยมี ecosystem platform สำหรับการเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อช่วยให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์ และนำผลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ในเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนั้นจะมีการสาธิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้พนักงานทำงานได้ถูกต้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ และทดลองใช้ได้ อย่างเต็มที่ อาทิ การชำระเงินในระบบออนไลน์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบอีเพย์เมนต์ (e-Payment) เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสด

“เราปรับปรุงข้อมูลและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในพื้นที่นี้ทุก ๆ 3 เดือน เพื่อให้พนักงานได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดตลอดเวลา และส่งเสริมนิสัยการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พนักงานของเราทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยี และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของธนาคารได้เป็นอย่างดี”

นอกจากพัฒนาพนักงานให้มีทักษะดิจิทัลแล้ว “วรวัจน์” บอกว่า การทำงานรูปแบบใหม่เป็นอีกเป้าหมายของบริษัท โดยจะปรับการทำงานเป็นรูปแบบ agile ที่เน้นสปีดในการทำงานที่รวดเร็วขึ้น เช่น ในการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ต้องรอให้เปอร์เฟ็กต์ 100% แล้วจึงค่อยปล่อยของออกมา แต่พนักงานต้องกล้าลองผิดลองถูก กล้านำเสนอความคิดออกมาอย่างรวดเร็ว

“องค์กรมีการจัดฝึกอบรมข้ามสายงาน (cross function training) เพื่อเพิ่มทักษะด้านอื่น ๆ ให้แก่พนักงาน เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นว่าการมีทักษะที่หลากหลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาองค์กร ในอนาคตพนักงานอาจมีโอกาสโยกย้ายหน้าที่ในการทำงาน การพัฒนาทักษะอื่น ๆ จะทำให้พนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีขึ้น และส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน”

“ไม่เพียงเท่านั้น พนักงานยังต้องเรียนรู้เรื่อง data ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดขององค์กร เพราะถ้าพนักงานไม่รู้จักเอาข้อมูลมาตัดสินใจในการทำงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ธนาคารก็ไปไม่รอด”

การเกิดขึ้นของ SCB DigitalAcademy จึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเป็นกลไกที่จะพัฒนาพนักงานให้ก้าวทันเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนองค์กรให้เป็นผู้นำในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ