มูลนิธิเอสซีจี สร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ ยกระดับศักยภาพต้นกล้าชุมชนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีการสร้างใด จะยั่งยืนไปกว่าการสร้างคน “มูลนิธิเอสซีจี” จึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดทั้งด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการต้นกล้าชุมชน

เพื่อมุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแล และพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิเอสซีจีได้สนับสนุนเบี้ยยังชีพ และค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ให้แก่ต้นกล้าเป็นระยะเวลา 3 ปี และเชิญเครือข่ายนักพัฒนารุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงาน

และในปัจจุบันมีต้นกล้าชุมชนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมูลนิธิได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพต้นกล้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาถ่ายทอดความรู้ให้กับต้นกล้า และจัดกิจกรรมศึกษาการทำงานชุมชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมประสบการณ์ พร้อมสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน

ล่าสุด มูลนิธิได้นำต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 และพี่เลี้ยง รวม 44 คน ลงพื้นที่ชุมชนศึกษาพื้นที่ จ.ลำปาง, ลำพูน และเชียงใหม่ ร่วมกับ “Tadashi Uchida” President of International OVOP Exchange Committee และทีมงานจากประเทศญี่ปุ่น ในการร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยต้นกล้าและพี่เลี้ยง รวมถึงชุมชนต่างได้รับคำแนะนำ และแนวทางทางการแก้ไขปัญหา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก “Tadashi Uchida” ที่สามารถนำไปปรับใช้ ด้วยการนำเสนอจุดแข็งของสินค้าผ่านการเล่าเรื่องที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างจุดเด่น อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และยังเป็นโอกาสที่ต้นกล้าได้เชื่อมโยงเครือข่าย และเสริมสร้างการทำงานภาคสังคมที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ต้นกล้าชุมชนยังได้ศึกษาดูงานจากชุมชนบ้านใต้ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และชุมชนโหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงเยี่ยมชมตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ณ ลานพุทธามหาชัย อ.แม่ทา จ.ลำพูน ที่เริ่มต้นขึ้นจากแรงผลักดันของ “พฤติพร จินา” ต้นกล้าชุมชนหญิงรุ่นที่ 2 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากครั้งที่มูลนิธิ พาไปเรียนรู้ที่โอย่าม่าแลนด์ ประเทศญี่ปุ่น

“สุวิมล จิวาลักษณ์” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ว่า มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่า ต้นกล้าชุมชนจะเติบโตและแข็งแรงได้นั้น ต้องได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม การจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพให้น้องๆ ต้นกล้า ทั้งการดูงานที่เมืองฮอกไกโด และเมืองโออิตะ เพื่อศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OVOP (One Village One Product) หรือโอทอป และการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อย่าง “Tadashi Uchida” และทีมงาน ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการขับเคลื่อนพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนจากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทยเพื่อให้ความรู้กับน้องๆ

ทำให้ต้นกล้าได้เปิดประสบการณ์ แนวคิด และมุมมองใหม่ๆ เพราะเราเชื่อว่าการได้สัมผัสประสบการณ์จริงย่อมมีคุณค่าและสร้างแรงแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ต้นกล้า ตลอดจนพี่เลี้ยงได้นำกลับไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของชุมชนตนเอง ถือเป็นเครื่องมือในการเสริมศักยภาพความเข้มแข็งอย่างสมดุลและยั่งยืน

ด้าน “Tadashi Uchida” President of International OVOP Exchange Committee กล่าวว่า หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) มีความใกล้เคียงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างมาก คือ เริ่มจากการทำสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ที่สามารถทำด้วยตนเอง แล้วใส่พลังความคิดสร้างสรรค์และความพยายามอย่างต่อเนื่อง ทำงานอย่างกระตือรือร้น กล้าหาญ และมุ่งมั่น

ผมเชื่อว่าน้องๆ ต้นกล้าสามารถทำได้แน่นอน ดังนั้น ภารกิจของพวกเราคือ ให้คำแนะนำ ความมั่นใจ และความหวังแก่น้องๆ ต้นกล้า พี่เลี้ยง และชุมชนที่เราไปเยี่ยมชม เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าของจิตใจมากกว่าคุณค่าของเงิน

และเมื่อพวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีความภาคภูมิใจ และมีเกียรติ ก็จะส่งผลให้ชุมชนมีเสถียรภาพและความยั่งยืน ทำให้คนหนุ่มสาวไม่อยากละทิ้งบ้านไปทำงานในเมือง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในชุมชน

ส่วน “หญิง-พฤติพร จินา” ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 เจ้าของโครงการสืบสานพันธุกรรมท้องถิ่นเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จ.ลำพูน กล่าวว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้พลังอย่างมากจากคำแนะนำของคุณอูชิดะ และพี่เลี้ยง ทุกคำติชมช่วยยืนยัน และเพิ่มความมั่นใจให้กับเราทุกคน ความทรงจำแบบนี้ให้แรงบันดาลใจมากกว่าการดูจากภาพ หรือการเล่าให้ฟัง การพาไปเจอและได้สัมผัสทำให้เราได้คิดทบทวนแล้วนำกลับไปปรับใช้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีมาก นับเป็นบันไดขั้นแรกในการต่อยอดสู่ความสำเร็จสำหรับการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์พัฒนาชุมชนต่อไป”

ขณะที่ “บรรจง นะแส” ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย นักพัฒนารุ่นพี่กล่าวเสริมว่า ครั้งนี้ พี่ว่ามีความสมบูรณ์ คือ เราได้ดูงานในพื้นที่จริง ทั้งร้านอาหาร กิ๊ฟท์ช้อป ร้านผักอินทรีย์ ทำให้น้องๆ ต้นกล้าที่ยังไม่เห็นภาพการทำงาน ยังมีความลังเล ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เธอทำได้ ฉันก็ต้องทำได้

การดูงานในพื้นที่จริง ทำให้เห็น ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ส่วนวิทยากรที่เดินทางมาจากญี่ปุ่น ช่วยให้พวกเราได้รับคำแนะนำดีๆ หลายเรื่อง อย่างเรื่องสินค้าที่ดีและมีคุณภาพต้องมีอะไรบ้าง การอธิบายเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบที่ตลาดต้องการ หลักการตลาด สิ่งที่พี่ชอบมาก คือ การตลาดที่ดีที่สุด คือ ปากต่อปาก บางทีเราละเลยไป ทำอย่างไรให้คนมาเห็นแล้วพูดถึง คิดถึง พี่ว่ากิจกรรมครั้งนี้มีประโยชน์ ถือเป็นคุณูปการแก่นักพัฒนารุ่นใหม่อย่างแท้จริง”

นับเป็นการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่เพียงต้นกล้าเหล่านี้จะมีอาชีพเป็นของตัวเอง แต่ยังสามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนในชุมชน ได้ทำงานในบ้านเกิด ส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ละทิ้งรากเหง้าและวิถีชีวิตอันงดงามของตัวเอง และต้นกล้าชุมชนจะจุดประกายให้เมล็ดพันธุ์นักพัฒนารุ่นใหม่ได้เติบโต หยั่งราก และตั้งมั่น รับใช้บ้านเกิดของตนเองต่อไป

//////////////////////////////////////////////////////////////////