“SDGs” ลดเหลื่อมล้ำ สะพานเชื่อม “สังคม-ธุรกิจ” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในงานสัมมนาเพื่อสังคม “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้าน ถึงกระดานหุ้นโลก” โดย “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” 1 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา

“ดร.ปรเมธี วิมลศิริ” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “SDGs สะพานเชื่อม ลดเหลื่อมล้ำประเทศไทย” ในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ควบ “ตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” จึง “คลุกวงใน” การจัดทำพิมพ์เขียวประเทศใน 20 ปีข้างหน้า

และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เพื่อขับเคลื่อนการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติด้วย

SDGs 17 เป้าหมาย 241 ตัวชี้วัด

“ดร.ปรเมธี” เริ่มต้นขยายความเป้าหมายของ SDGs ว่า สำหรับประเทศไทยถือเป็น “พันธกิจระดับโลก” ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย (Goals) 169 เป้าประสงค์ (Targets) และ 241 ตัวชี้วัด (Indicators) ครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติ และบนเวทีโลก ประเทศไทยต้องอธิบายให้ประเทศต่าง ๆ เห็นภาพว่า ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สอดคล้องกับ SDGs อย่างไร ดังนั้น SDGs และยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นกรอบและเป้าหมายของการขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้เป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิรูป 11 ด้าน และแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตอบสนองเป้าหมายและสอดคล้องกับ SDGs โดยมีคณะกรรมการ กพย.ระดับชาติ ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ส่องทางเอกชนต่อยอดธุรกิจ

“ดร.ปรเมธี” กล่าวว่า เป็นโอกาสของบริษัทชั้นนำที่จะร่วมเดินทางเพื่อเป้าหมาย SDGs ร่วมมือช่วยเหลือสังคมและต่อยอดธุรกิจ ซึ่งความท้าทายของการทำยุทธศาสตร์ชาติ และ SDGs เพื่อพัฒนาประเทศที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่นี้ ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาสนับสนุนหรือนำไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจได้

“การพัฒนาที่ยั่งยืน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเศรษฐกิจไปไม่ได้ การพัฒนาสังคมก็เป็นไปได้ยาก”

โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 8 การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจ้างงานเต็มอัตรา และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนเชื่อมกับเป้าหมายอื่น และเป้าหมายที่ 9 โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเป้าหมายที่ 11 เรื่องการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย

อีก 20 ปี พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

“หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่ค่อยโต คนค่อนข้างหมดหวัง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ร้อยละ 3 เป็น new normal ไม่มีใครลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในประเทศ มีแต่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เชื่อว่าในปี 2561 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 ฉะนั้น เรื่องความยั่งยืนถ้าทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อเนื่อง เป็นไปได้ที่ในระยะ 20 ปีประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง”

ความท้าทายของไทยที่สำคัญยังอยู่ที่เป้าหมายที่ 1 คือลดความยากจนในทุกมิติร่วมกับเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ

“การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีรายได้สูงอย่างเดียวไม่เพียงพอ สังคมต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพด้วย ถือเป็นประเด็นท้าทายมากยิ่งกว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ”

สำหรับเป้าหมายที่ 1 เรื่องการลดความยากจน ประเทศไทยมีเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,600 กว่าบาทต่อเดือนต่อครอบครัว หรือมีคนจนประมาณ 5 ล้านคนยิ่งกว่านั้นคนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนขึ้นไปไม่มาก หรือร้อยละ 20 หรือมีรายได้ 3,000 กว่าบาทต่อเดือน จึงยังมีความเสี่ยงของการเป็น “คนยากจน” อยู่ จึงอาจกลายเป็นคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 1 เท่า

“ความยากจนยังเป็นจุดอ่อน ถ้าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องดูแลทุกคน โดยเฉพาะคนที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ให้ได้รับโอกาส มีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรี และยืนได้อย่างมั่นคงด้วยตัวเอง”

โตกระจุก-คนรวยมากกว่าคนจน 20 เท่า

“ดร.ปรเมธี” กล่าวว่า เศรษฐกิจที่โตขึ้นแม้จะอยู่ในอัตราที่สูงร้อยละ 4-5 แต่ยังมีคนที่ได้ประโยชน์น้อยอยู่มาก คนกลุ่มล่างร้อยละ 40 ของรายได้มีอยู่มากกว่า 20 ล้านคน และยิ่งลงลึกไปในระดับล่างลงไปอีก หรือในกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนพิการ เศรษฐกิจโตแค่ไหนก็ไม่ได้ประโยชน์

“ถ้าในอีก 20 ปี ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความหมายแท้จริง ควรดูแลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแลคนเหล่านี้ไปพร้อมกัน เป้าหมาย SDGs เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจนทุกมิติ จึงเป็นความท้าทายที่ใหญ่”

ความเหลื่อมล้ำในมิติของประเทศไทยเรื่องรายได้พบว่ามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 เป็นผู้มีรายได้สูง หรือมากกว่า 20 เท่าของผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนเป้าหมายที่ 4 เรื่องการศึกษาก็ยังมีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน คนที่เข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้จะเป็นผู้ที่มีรายได้สูง

ดูแล “คน” ตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่แรกเกิด

นอกจากการผลักดันเศรษฐกิจแล้ว ในเรื่องของสังคมก็มีหลายเรื่องที่เป็นนวัตกรรม และมีทิศทางเพื่อช่วยลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่งนโยบายของรัฐบาลด้านสังคม การดูแลคนตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่เด็กแรกเกิด คาบเกี่ยวกับเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาด้วย ตัวเลขชี้วัดทางการศึกษาบ่งชี้ว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวฐานะดี มักได้รับการศึกษาที่ดี ตรงกันข้ามกับเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน โดยเฉพาะช่วงอายุ 0-3 ปี

รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนเงินอุดหนุนให้เด็กแรกเกิดในครอบครัวที่มีรายได้น้อย เดือนละ 600 บาท และส่งผลไปถึงความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การดูแลเด็กแรกเกิดของรัฐบาลนี้ใน 3 ปีที่ผ่านมา มีครอบครัวที่เข้ารับเบี้ยสนับสนุนเด็กแรกเกิดแล้วจำนวน 4 แสนคน

เตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

เรื่องระบบการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีกองทุนเสมอภาคด้านการศึกษา เป็นอีกเครื่องมือเพื่อสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาและพัฒนาระบบโรงเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบ

เมื่อคนโตขึ้นเข้าสู่ช่วงอายุวัยทำงานและอนาคตเป็นผู้สูงอายุ เป็นความท้าทายเช่นกัน เพราะในอนาคตอันใกล้ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในอีก 20 ปีจะเพิ่มเป็น 30% ต่อประชากร จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี มีความมั่นคงในบั้นปลาย มีการออมเพียงพอ และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

“รัฐบาลสนับสนุนเบี้ยผู้สูงอายุและมีการสนับสนุนเรื่องการออมโดยกองทุนการออมแห่งชาติ และการดูแลสุขภาพ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ แต่ปัจจุบันมีผู้มาสมัครเข้ากองทุนเพียง 5 แสนคน”

อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขกำลังเริ่ม “ทีมหมอครอบครัว” สำหรับผู้มีรายได้น้อยในชนบททั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในอนาคต

“รัฐบาลพยายามเติมเต็มตลอดช่วงชีวิต แต่ไม่ง่าย ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ ฝังรากลึกในสังคมมีหลายมิติทับถม”

เทคโนโลยี สร้างความเปลี่ยนแปลง-ลดเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายยังมีความหวัง เช่น การนำเทคโนโลยีมาสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคมเป็นโอกาสทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น ระบบบริจาคออนไลน์ หรือการที่โทรศัพท์เชื่อมกับบัญชีพื้นฐานของประชาชนกับบิ๊กดาต้า ทั้งยังมีความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งด้วยกลไกประชารัฐ, วิสาหกิจเพื่อสังคม และจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทั้งหมดช่วยพัฒนาประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามกรอบเป้าหมายของ SDGs ได้