บ้านสมพรรัตน์ สืบสานงานแม่-สานต่องานพ่อ หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว “ระเบิดจากข้างใน”

บ้านสมพรรัตน์ อำเภอบุญฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้าน 1 ในโครงการ “หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทาง” เป็น 1 ในเส้นทางสู่พื้นที่ “อีสานใต้” เชื่อมโยงตั้งแต่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เพื่อส่งเสริมตามนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล

บ้านสมพรรัตน์ อำเภอบุญฑริก จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านส่งเสริมโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

“มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ” พา “คณะผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบรัฐบาล” ดูงาน “หมู่บ้านต้นแบบ” ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.) สัญจร กลุ่มอีสานตอนล่าง เมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

การมาของคณะ “นักข่าวเศรษฐกิจ” ในครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี-เสมือนเป็นการ “ซ้อมใหญ่” ก่อนที่ “บ้านสมพรรัตน์” จะเปิดงาน “หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว” เพื่อ Grand Opening ในวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ภายใต้แคมเปญ “ช็อป ชม ชิม”

ชม..การแสดงพื้นบ้าน อาทิ ฟ้อนกลองยาว โดยสมาชิกในหมู่บ้านสมพรรัตน์ ก่อนที่ชาวบ้านสมพรรัตน์จะพา “ช็อป” สินค้าดี-สินค้าเด่นของบ้านสมพรรัตน์อันเลื่องชื่อติดดาวเป็น “ผลิตภัณฑ์ OTOP” คือ “ผ้าไหม” ภายใต้ “โครงการส่งเสริมศูนย์ศิลปาชีพบ้านสมพรรัตน์”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 พระราชทานเงินเป็นทุนแก่ชาวบ้านสมพรรัตน์และทรงรับไว้เป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ ภายหลังชาวบ้านสมพรรัตน์ได้ถวายผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ปัจจุบันมีสมาชิก 522 คน จากทั้งหมด 5 อำเภอ

โดยผ้าไหมลายพื้นเมืองของบ้านสมพรรัตน์ที่ได้รับความนิยม อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมลายนกยูง ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของผ้าไหม อาทิ ผ้าห่ม กระเป๋า และยังส่งออกผ้าไหมไปยังประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

จึงเป็นการสร้างอาชีพ-รายได้เฉลี่ยคน 300,000 – 500,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้สมาชิกยังได้รับการจัดสวัสดิการไม่ต้องหันไปหาการกู้เงินนอกระบบ และยังมี “ธนาคารผ้าไหม” เพื่อรับผ้าไหมของสมาชิกเพื่อจำหน่าย-เป็นหมู่บ้านเข้มแข็งจากข้างในอีกด้วย

นอกจากนี้ “นักท่องเที่ยว” ที่มีโอกาสมาเยี่ยมชมวิถีชีวิต-ของดีบ้านสมพรรัตน์แล้ว ยังจะได้รับ “ประสบการณ์”ใหม่ ๆ ผ่าน “ศูนย์การเรียนรู้หม่อนไหม”- “ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อประกอบอาชีพ

ดังนั้นกิจกรรมตามแนวโครงการพระราชดำริของบ้านสมพรรัตน์ ภายใต้กรมพัฒนาชุมชน จึงประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ “สืบสานงานแม่” คือ การทอผ้าไหม ส่วนที่ 2 คือ “สานต่องานพ่อ” ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การเพาะพันธุ์ปลา

ขณะที่กิจกรรมอื่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัส อาทิ การชมศาสนสถาน-ยอดเจดีย์วัดสมพรรัตนารามที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ของหมู่บ้าน และปิดท้ายด้วยการ “ชิม” อาหารพื้นถิ่นบนแพกลางแม่น้ำและในอนาคตยังมีแผนที่จะทำเป็น “โฮมสเตย์” เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวด้วย

นายมลชัย จันทโรธรณ์ นายอำเภอ บ้านสมพรรัตน์ บอกคอนเซ็ปต์การส่งเสริมบ้านสมพรรัตน์ให้เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ว่า ผลิตภัณฑ์คุณภาพของบ้านสมพรรัตน์ คือ ผ้าไหม ดังนั้นจึงใช้จุดเด่นนี้ส่งเสริมให้คนมาเยี่ยมชมถึงสถานที่จริงเพื่อมาจับจ่ายซื้อหา โดยมีอาหารของบ้านสมพรรัตน์ไว้ให้บริการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ช็อป ชม ชิม” ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านคิดขึ้นมาเพิ่มเติมขึ้นมา คือ การจัดให้มีการแสดงของชาวบ้านเพื่อให้เกิดความประทับใจแรก

“สำหรับผลิตที่นำมาแปรรูปจากหม่อนไหมที่บ้านสมพรรัตน์นำมาจำหน่าย-บริการทดลองให้ชิมฟรี อาทิ ต้นหม่อนสามารถนำใบมาทำเป็นใบชา เอาลูกหม่อนมาทำเป็นน้ำมัลเบอร์ลี่ แยม และข้าวเกรียบ นอกจากนี้ตัวหม่อนไหมที่สาวไหมออกมาแล้วยังสามารถนำตัวมาคั่วประทานได้อีก โดยกระบวนการทั้งหมดปราศจากสารเคมี”

“การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีมานานและแต่การเพิ่มการส่งเสริมเพื่อการท่องเที่ยวจริงจังเพิ่งเริ่มในปีนี้ ประกอบกับการได้รับงบประมาณจากโครงการไทยนิยมเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการแสดงโชว์พื้นบ้านและชิมอาหารพื้นบ้าน ถือเป็นการส่งเสริมครบวงจร ไม่ใช่มาเพื่อซื้อของกลับไปอย่างเดียวแต่อิ่มท้องกลับไปด้วย”

กลยุทธ์ คือ การชู “จุดเด่น” ของผ้าไหม ซึ่งการันตีด้วยรางวัลคุณภาพ-ผลิตภัณฑ์ OTOP ของบ้านสมพรรัตน์จึงใช้เป็นแม่เหล็ก “ดึงดูด” ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาและ “ลูกเล่น” ระหว่างทาง อาทิ การแสดง-อาหารพื้นถิ่น-อาหารกินเล่นที่แปรรูปจากต้นหม่อนและตัวหม่อนไหมทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ “อยากกลับมาอีก”

นางพรทิพย์ สมโสภา พัฒนาการอำเภอบุญฑริก กล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการนำผลผลิตไปจำหน่ายนอกพื้นที่ เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังพื้นที่หมู่บ้านเอง โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาบุคลากรตั้งแต่การไปดูงาน สร้างนักเล่าเรื่องชุมชน บริหารกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและพัฒนาเรื่องการแสดงเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม 10 ผลิตภัณฑ์ ทำอย่างไรให้เป็นของฝาก ของที่ระลึก อาหารพื้นถิ่น 1 เมนู จะต้องประกอบด้วย อาหารคาว 4 อย่าง อาหารหวาน 1อย่าง สำหรับการพัฒนาต่อไป คือ การปรับภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน โดยเพิ่มจุดเช็กอิน จุดแลนด์มาร์ค

นอกจากอำเภอบุณฑริกแล้ว อีก 3 อำเภอ ที่อยู่ภายใต้โครงการโอทอปนวัตวิถี เช่น อำเภอสว่างอารมณ์ก็มีจุดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวเชิง Avenger คือ ล่องแก่ง และดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมู่บ้านขึ้นมาโดยเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว

“สิ่งที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ คือ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกไปนอกพื้นที่ ค่าที่พัก แต่จะมีนักท่องเที่ยวมาหาถึงในหมู่บ้าน ได้จำหน่ายสินค้าและประชาสัมพันธ์สินค้า เกิดรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม”

ทั้งหมดนี้ สามารถไปสัมผัสด้วยตัวเองได้ 9 สิงหาคมนี้ เพราะ “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น”

สามารถติดต่อได้ที่ นางพรทิพย์ สมโสภา พัฒนาการอำเภอบุญฑริก เบอร์โทร 081-5847722//นายมลชัย จันทโรธรณ์ เบอร์โทร 081-8676215