กลยุทธ์ดึงทาเลนต์สากล เติบโตไว-ค่าตอบแทนสูง

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท คือ การมีบุคลากรที่มีความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถและประสบการณ์ระดับสากล ซึ่งพนักงานที่มีความสามารถระดับสากล หมายถึงบุคลากรที่กลับมาจากการศึกษาในต่างประเทศ หรือเคยทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ ทั้งที่ตั้งอยู่ที่ต่างประเทศหรือในประเทศของตน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมองค์กรที่ต้องการขยายธุรกิจในระดับนานาชาติได้

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากที่มีทักษะสากลมักหลั่งไหลออกไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ค่าตอบแทน และประสบการณ์ ทำให้บริษัทจำนวนมากต้องแข่งขันกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดังกล่าว

ด้วยเหตุผลนี้ “โรเบิร์ต วอลเทอร์ส” ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับมืออาชีพ จึงทำการสำรวจวิธีที่บริษัทจะดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถระดับสากลมาร่วมงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับองค์กรไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่ต้องการขยายบริษัทสู่ระดับสากล ในการนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ วางแผนดึงดูด และรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้

เบื้องต้น “แกริต บุคกาต” กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และเวียดนาม โรเบิร์ต วอลเทอร์ส กล่าวว่า โรเบิร์ต วอลเทอร์สก่อตั้งในปี 1985 เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการสรรหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดำรงตำแหน่งพนักงานประจำ พนักงานสัญญาจ้าง และพนักงานชั่วคราว ในทุกระดับตำแหน่ง ปัจจุบันมีสำนักงานใน 28 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานกว่า 3,800 คนทั่วโลก

“ในแต่ละปีเราจะมีการทำการสำรวจ เรียกว่า white paper ซึ่งทำเป็นประจำทุกปีในหัวข้อที่ต่างกันไป โดยปีนี้เราเลือกทำเรื่อง บริษัทจะดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถที่เหมาะสมมาร่วมงาน เพื่อขยายบริษัทสู่ระดับสากลและรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร เพราะเล็งเห็นว่าบริษัทในเอเชียกำลังเติบโตสู่ระดับสากล และภาพรวมของการทำธุรกิจทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลง”

ในการวิจัยครั้งนี้ บริษัทได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร และผู้สมัครงานกว่า 5,000 คน ที่ทำงานในบริษัทต่างชาติและเอเชีย เช่น จีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย, ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งบรรดา 5,000 คนที่ตอบแบบสอบถาม มีคนไทย 240 คน

โดยผลการสำรวจพบว่า บริษัทในเอเชียที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 70มีแผนที่จะขยายธุรกิจสู่ระดับสากลภายใน 3 ปีข้างหน้า ส่วนบริษัทในไทยร้อยละ 62.5 มีแผนที่จะขยายสู่ตลาดระดับสากลภายใน 3 ปีข้างหน้า

“บริษัทไทยกำลังขยายตัวเพื่อสร้างข้อได้เปรียบจากตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เปิดโอกาสในการทำธุรกิจมากขึ้น รวมถึงตลาดอาเซียนที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวมากขึ้นก็นับเป็นโอกาสที่น่าสนใจ แต่การถ่ายทอดความสำเร็จจากตลาดหนึ่งไปสู่อีกตลาดหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน บริษัทต้องการพนักงานที่มีความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นฮานอย ย่างกุ้ง หรือจาการ์ตา”

“บริการจากบริษัทตัวแทนด้านการจัดหางานระดับมืออาชีพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยค้นหาบุคลากรที่ธุรกิจต้องการ และให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจในแง่ของการนำจุดแข็งของบริษัทมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้กลายเป็นแรงผลักดันที่จะดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสากลและรักษาพวกเขาไว้”

ด้านมุมมองของกิจการในเอเชีย “ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน, กฎหมาย, ทรัพยากรบุคคล, การเงินและการธนาคาร และเทคโนโลยี โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ให้รายละเอียดว่า บริษัทในเอเชียกำลังจะขยายกิจการไปสู่ระดับโลก ด้วยการรวมกิจการหรือซื้อกิจการ ซึ่งร้อยละ 57 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามยืนยันว่า การจ้างบุคลากรที่มีความสามารถในระดับนานาชาติช่วยให้บริษัทเติบโตไปสู่ระดับโลก ส่วนร้อยละ 10 แจ้งว่าการจ้างบุคลากรที่มีความสามารถในระดับนานาชาติไม่สำคัญ ทั้งนี้ ร้อยละ 44 ของบริษัทในระดับเอเชียจะเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถในระดับนานาชาติในอีก 12 เดือนข้างหน้า

“การพัฒนากลยุทธ์การจัดจ้างที่ประสบความสำเร็จ นับเป็นองค์ประกอบจำเป็นอย่างหนึ่งต่อแผนการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเอเชียที่มีเป้าหมายขยายไปสู่ตลาดระดับสากล ซึ่งองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์การจัดจ้างและรักษาพนักงานที่ประสบความสำเร็จ คือ การรู้ถึงแรงผลักดัน และความคาดหวังของผู้ที่อาจมาเป็นผู้สมัคร”

ทั้งนั้นจากการสำรวจพบว่า บุคลากรทักษะนานาชาติมีความต้องการที่จะร่วมงานกับองค์กรที่มีการเติบโต และสามารถช่วยพนักงานพัฒนาในสายอาชีพ อีกทั้งยังมองถึงประเด็นการให้อัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานในตลาดแรงงาน, มีแผนการและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะขยายไปยังนานาชาติอย่างชัดเจน, มีแผนพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพแบบก้าวกระโดด, มีความเป็นเจ้าของธุรกิจ กล้าเสี่ยงและตัดสินใจ, มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารและคณะทำงาน และเปิดโอกาสให้เสนอความคิดเห็น

ในส่วนของประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ให้ความเห็นถึงประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในการจัดจ้างผู้สมัครที่มีคุณสมบัตินานาชาติ ได้แก่ การเฟ้นหาผู้สมัครมากประสบการณ์ตามที่กำหนดจากกลุ่มผู้สมัครซึ่งมีจำกัด (60%) การหาผู้สมัครที่มีลักษณะเหมาะกับวัฒนธรรมทางธุรกิจของบริษัท (60%) การหาผู้สมัครที่มีทักษะทางภาษาตามที่กำหนด (60%) และการหาผู้สมัครที่ยินดีรับเงินเดือนตามงบประมาณที่มีอยู่ (50%)

ส่วน 3 อันดับสูงสุดของช่องทางที่บริษัทใช้เพื่อหาบุคลากร คือ ว่าจ้างบริษัทจัดหางาน, ประกาศบนเว็บไซต์หางาน และจากการแนะนำจากคนที่รู้จักหรือบุคลากรในองค์กร

จากการสำรวจเดียวกันนี้ “นัฐติยา ซอล” ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด-B2B และ B2C และซัพพลายเชนและวิศวกรรม โรเบิร์ต วอลเทอร์ส กล่าวเสริมว่า มีการรวบรวมเหตุผลที่ผู้สมัครซึ่งมีทักษะนานาชาติใช้พิจารณาในการเลือกทำงานกับบริษัทในประเทศของตน โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 5,000 คน ให้เหตุผลตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้

การทำงานในประเทศบ้านเกิดจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่คุ้นเคย (62%), ผู้บริหารระดับสูงให้ความใกล้ชิดกับพนักงาน (36%), ต้องการนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศของตนเอง (33%), ความเชื่อในการเติบโตของบริษัท (25%), มีความรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจร่วม (24%), มีโอกาสในการเติบโตสูง เพราะบุคลากรที่มีทักษะนานาชาติยังมีจำนวนไม่เยอะมาก (22%)

มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกตำแหน่ง (21%), โอกาสได้ทำงานในบรษัทที่มีชื่อเสียง (17%), การไม่มีอคติเรื่องเชื้อชาติในการตัดสินใจต่าง ๆ ของบริษัท (13%) และผลที่น่าสนใจ คือ คนให้ความสำคัญต่อเรื่องค่าตอบแทนเพียง 9% เท่านั้น

“ในมุมของคนผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนไทย มีประเด็นที่เป็นเหตุผลหลักในการพิจารณาทำงาน ได้แก่ เงินเดือนและสวัสดิการที่น่าพึงพอใจ (67.44%) ความเชื่อในศักยภาพที่จะเติบโตของบริษัท (62.79%) ชื่อเสียงของบริษัท (58.14%) นอกจากนี้ คนทำงานยังมองว่าวัฒนธรรมขององค์กร และโอกาสที่จะได้ทำงานกับซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงอย่างใกล้ชิด ก็เป็นปัจจัยต้น ๆ ในการพิจารณาที่จะทำงานให้บริษัทเอเชียด้วย”

ส่วนเหตุผลหลักสามข้อแรกที่จะออกจากบริษัทเอเชีย ได้แก่ โอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพการงานไม่ชัดเจน (57.95%) มีโอกาสในการเข้ารับการฝึกอบรมด้านการทำงานและโปรแกรมพัฒนาระดับตัวบุคคลไม่เพียงพอ (56.82%) และไม่ได้รับรู้การตัดสินใจ หรือการเปลี่ยนแปลงในบริษัทอย่างชัดเจน (35.23%)


ดังนั้น บริษัทที่ต้องการสร้างองค์กรให้เติบโตสู่ระดับสากลจะต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องคน โดยการมีกลยุทธ์ดึงดูด และรักษาผู้มีความสามารถที่จำเป็นต่อบริษัทเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่องค์กรต้องเร่งดำเนินการ