“ทุเรียนดี บนดินอัญมณี ที่ยะลา ติด tag ส่งตรงถึงจีน อินเดีย ยุโรป”

จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่ไม่สงบมากว่า 14 ปี มีเหตุการณ์ความรุนแรง 19,279 ครั้ง ทั้งคนไทยมุสลิม-ไทยพุทธ ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า 19,509 คน ทั้ง ๆ ที่เบตง-บันนังสตา อำเภอใต้สุดของประเทศไทย กลับมีผืนดินอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชเกษตร และความเจริญทางการค้า-เศรษฐกิจชายแดนเชื่อมกับมาเลเซีย กลายเป็นดินแดนมิคสัญญี

งบประมาณถูกตั้งจากรัฐสภาส่วนกลาง จาก 1.3 หมื่นล้าน ในปี 2547 เพิ่มเป็น 3 หมื่นกว่าล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ที่ถูกใช้จ่ายไปกับการแก้ปัญหาความไม่สงบ

ประวัติศาสตร์-บาดแผลของชายแดนใต้ ลึกซึ้งเกินกว่าจะเยียวยาเพียงชั่วข้ามคืน แต่ในท่ามกลางควันปืน-เสียงระเบิด บังเกิดเสียงแห่งความปีติ-กลิ่นหอมของผลไม้ชนิดหนึ่ง ขจรไกลถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน, ยุโรป และอินเดีย

ด้วยการเชื่อมโยงระหว่าง “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ผสานการทำงานร่วมกับส่วนราชการ-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ต่อระบบการตลาด-ส่งออก กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ทอดสะพานให้ “ทุเรียนบันนังสตา” ในยุทธศาสตร์ “ยะลา ทุเรียนซิตี้” เก็บผลผลิตครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ส่งตรงไปถึงผู้บริโภคชาวจีน 15 ตัน (กิโลกรัมละ 80 บาท)

“สมาน มามะแตหะ” เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 12 ไร่ มาแล้วกว่า 30 ปี ที่บ้านป่าหวัง ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จ.ยะลา เคยมีรายได้จากการขายทุเรียนให้พ่อค้าแบบเหมาสวนปีละ 2 แสนบาท บอกว่า ปีนี้เขาเข้าร่วมการทำ “ทุเรียนคุณภาพ” กับ “ปิดทองหลังพระฯ” ตัดทุเรียนลอตแรกจาก 20 ต้น เกรด A-B ได้เงินทันที 1.3 แสนบาท ในกิโลกรัมละ 80 บาท

ถาม “ลุงสมาน” ว่า เป็นเกษตกรมาทั้งชีวิต ทำไมถึงเข้าร่วมโครงการ “ต้นแบบยุทธศาสตร์ ทุเรียนซิตี้” ทำไมไม่ทำตามวิถีของตัวเอง-ลุงสมานตอบว่า คนจากปิดทองฯ นายอำเภอมาให้ความรู้ การปลูก ดูแลอย่างเป็นระบบ และมีตัวแทนจาก ซี.พี. มายืนยันกับเรา 2-3 ครั้ง ว่าเขาจะซื้อเรา หากปลูกทุเรียนแบบเกษตรประณีต พร้อมกับแนะนำให้เราเลิกใช้สารเคมี ปลูกบำรุง ทำตามตารางขั้นตอนที่เขาบอก จะออกลูกสวย ลูกละ 3-4 กิโลกรัม…เมื่อก่อนไม่มีใครมาบอก เราไม่รู้เทคนิค ปลูกขายกันเอง ปีนี้คัดทุเรียนร่วมโครงการ 20 ต้น ตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 100 ต้นให้ได้

“ภูรี สอรอโส๊ะ” เกษตรกร 1 ใน 57 อาสาพัฒนาหมู่บ้านปิดทองหลังพระ ชาวสวนทุเรียนที่เข้าร่วมโครงการ บอกถึงรายได้ของผลผลิตทุเรียนปีนี้ว่า แต่ก่อนปกติทุเรียนจะขายได้กิโลกรัมละ 65-70 บาท พ่อค้ามาต่อรองราคาเหมาสวน แต่เมื่อเรามีการเชื่อมโยงกับราคาตลาด ทำให้ขายได้ราคาถึง80 บาทต่อกิโลกรัม

ภูรี-ชี้ต้นทุเรียนกลางสวนให้ผู้สื่อข่าวดูว่า เราต้องดูแลต้น บำรุงใบ ลดหนอน ตัดแต่งดอก โยงกิ่ง ให้ปุ๋ย ทำความสะอาดบริเวณโคนต้น เฝ้าระวังไม่ให้ลิง หรือสัตว์อื่น มารบกวนผลทุเรียน ไม่มีการชุบยาที่ขั้วตอนเก็บผล ติดสัญลักษณ์ที่โคนต้น หรือแท็ก (tag) ชัดเจนว่า ทุเรียนอายุเท่าไร ต้นที่เท่าไร ใช้เครื่องพ่นแรงดันสูง ปีนขึ้นต้นสูงราว 20 เมตร ไปพ่นสารชีวภัณฑ์ใส่ผลทุเรียน จึงจะได้ผลผลิตที่คุณภาพดีขึ้น

“พิชิต พนังคสิริ” ปลัดอำเภอบันนังสตา บอกความพิเศษของ “ทุเรียนบันนังสตา” ว่า ทุเรียนที่นี่ปลูกบนภูเขาที่สูงชัน ใต้ชั้นดินที่ปลูกมีดินที่คล้ายพลอย หรือเรียกว่า ดินพลอย จะได้เนื้อที่แน่น หอมกำลังดี หวาน อร่อย ทุเรียนบันนังสตาน่าจะแข่งได้กับทุเรียนภูเขาไฟที่ จ.ศรีสะเกษ

ปลัดอำเภอที่ร่วมทำงานกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิดให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีประมาณ 3,000 ราย เรามีเป้าหมายให้ชาวสวนทุเรียนเข้าร่วมโครงการให้ได้ 1,200 ราย ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในปีแรกมีผู้ร่วมโครงการ 26 ราย มีต้นทุเรียนคุณภาพ 437 ต้น เฉลี่ยเกษตรกรมีสวนรายละ 10 ไร่ ปีหน้าคาดว่าจะขยายผลเพิ่มอีก 1 เท่าตัว เพราะเกษตรกรที่ไม่ได้ร่วมโครงการปีนี้เห็นผลผลิตแล้ว อยากจะเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“ยะลา ทุเรียนซิตี้ โครงการนี้เป็นนโยบายการพัฒนาจังหวัดของผู้ว่าฯ เราขับเคลื่อนร่วมกับ 2 ส่วน คือ ปิดทองหลังพระฯ และเกษตรกรชาวสวนทุเรียน โดยสำนักงานจังหวัดช่วยทำแหล่งน้ำ เพราะหัวใจของพื้นที่นี้ คือ เป็นต้นน้ำเขาปกโย๊ะ เราต้องอนุรักษ์ต้นน้ำด้วย ทำฝาย แปลงทุเรียนคุณภาพ หากใช้สารเคมี คนที่ใช้น้ำทั้งหมู่บ้านก็จะมีปัญหา เราจึงต้องดูแลเรื่องนี้เคร่งครัด”

ปลัดอำเภอยังตั้งเป้าหมายว่า ปีหน้าจะพัฒนาแหล่งทุเรียนคุณภาพ พัฒนาพันธุ์ ขยายพื้นที่ เพิ่มจำนวนต้นเข้าโครงการ และคำว่า “ทุเรียนซิตี้” จะต้องเกิดผลเป็นรูปธรรม มีเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง เกษตรกรในพื้นที่นี้ เราจะไม่ขายผ่านล้ง เหมาสวนแบบเดิมอีกแล้ว

“ณัฏฐพล จิระสกุลไทย” ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เล่าความเป็นมาของโครงการส่งเสริมการปลูกทุเรียนคุณภาพว่า มีการเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 โดยคัดเลือกให้พื้นที่ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา เป็นพื้นที่ต้นแบบตามยุทธศาสตร์ “ทุเรียนซิตี้” ของจังหวัดยะลา

“เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนอยู่เดิม พัฒนาการปลูกทุเรียนให้มีคุณภาพ ตามปริมาณตามความต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติ ประกอบด้วย ขยัน มีวินัย มีความซื่อสัตย์ มีความรู้ในการปลูกทุเรียน สามารถวางแผนการผลิตได้ และได้รับการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ”

“ยะลาเป็นพื้นที่ขยายผลของสถาบันปิดทองหลังพระฯ หลังมีต้นแบบใน5 จังหวัด โดยนำทีมดี (ปิดทองหลังพระฯร่วมกับเอกชน 10 ราย ร่วมกันพัฒนา หาตลาดให้สินค้าเกษตร) ซึ่งทำงานหลักในการพัฒนาคน พัฒนาอาชีพ ทำระบบน้ำ พื้นที่ทุเรียนคุณภาพ มีเกษตรกรเข้าร่วม 100 ราย แต่ผ่านคุณภาพ 22 ราย” ตัวแทนจากสถาบันปิดทองหลังพระฯกล่าว

ณัฏฐพลบอกว่า โครงการนี้ใช้เครื่องมือทฤษฎีใหม่ ให้ครัวเรือนอยู่รอด ลดรายจ่าย มีรายได้ยั่งยืน มุ่งแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1.การตัดทุเรียนอ่อน ถูกกดราคา 2.ชาวบ้านชินกับการขายแบบเหมาสวน ซึ่งถูกเอาเปรียบเรื่องราคา 3.ผลผลิตทุเรียน 90% ที่ผ่านมาปลูกแบบรอฟ้ารอฝน

ทั้งนี้ สถาบันปิดทองหลังพระฯได้นำเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาไปศึกษาดูงานด้านการปลูกทุเรียนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการตลาด ที่แปลงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยอง และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี โดยสถาบันจัดหาตลาดทุเรียนคุณภาพเพื่อจำหน่ายผลผลิต และได้นำผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เกษตรอำเภอแกลง และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรเมื่อปลายปีที่แล้ว จนกระทั่งได้ผลผลิตในปีนี้

โดยมีการตั้งกองทุนเบื้องต้น 3 แสนบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องพ่นยา เมื่อเกษตรกรมีรายได้ ก็จะนำมาสมทบเป็นกองทุน ไว้ใช้จ่ายในโครงการสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป