“StoreHub” ธุรกิจดิจิทัล ขับเคลื่อนองค์กรด้วยคนรุ่นใหม่

ปัจจุบันมีบริษัทประเภทสตาร์ตอัพเกิดใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสิ่งสำคัญที่จะสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพให้ดำเนินไปได้ คือ ความคิดสร้างสรรค์ มีความแตกต่าง อีกทั้งคนยุคใหม่ยังสนใจทำงานกับองค์กรสตาร์ตอัพมากขึ้นอีกด้วย เพราะรูปแบบองค์กรตอบโจทย์ ทั้งยังเป็นที่รวมกลุ่มของคนมีไฟ มีแรงจูงใจในการทำสิ่งใหม่ ๆ

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างธุรกิจไอเดียดี ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญ และกำลังขยายองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้น “StoreHub” บริษัทที่สร้างเทคโนโลยีบริหารจัดการร้านค้า ที่สามารถใช้ได้ทุกที่ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ทั้งยังทำงานในแบบออนไลน์ และออฟไลน์

“วี โอภารัตน์” Country Manager บริษัท สโตร์ฮับ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงที่มาที่ไปของบริษัทว่า สโตร์ฮับ ก่อตั้งโดย “ไว ฮง ฟง” ชาวมาเลเซีย ที่มีพื้นฐานด้านธุรกิจค้าปลีกมาก่อน จึงทำให้มองเห็นปัญหา และสิ่งที่คนทำธุรกิจค้าขายต้องการใช้เพื่อช่วยงานหลังร้าน

“จึงออกแบบระบบ POS (point of sale) ที่เป็นการเก็บข้อมูลการขาย และข้อมูลการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เมื่อมีการขายสินค้า หรือบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ โดยสิ่งที่คุณไว ฮง ฟง ตั้งใจทำให้ POS แตกต่าง

จากของบริษัทอื่น ๆ คือ ระบบที่ไม่น่าเบื่อ เพราะในอดีตคนที่ทำงานเกี่ยวระบบคลังสินค้าจะรู้สึกว่า ระบบที่ใช้จัดการมักขาดสีสัน เต็มไปด้วยตัวเลข และใช้งานยาก เขาจึงสร้างจุดเด่นให้ StoreHub มีภาพสินค้าประกอบ และมีสีสันน่าใช้”

“โดยระบบ POS มีฟีเจอร์ในการทำงานมากกว่า 20 ส่วน เช่น ลดสต๊อกคงค้าง ดูว่ารายการสินค้าไหนที่ขายช้า เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของเงินสดภายในร้าน, การเตือนอัตโนมัติว่าสินค้าชิ้นไหนต้องสั่งเพิ่มหรือเติมเท่าไร, การบริหารจัดการซัพพลายเออร์ง่าย ๆ จากระบบส่งใบสั่งซื้อสินค้าจากหลังบ้านของสโตร์ฮับโดยตรง, ทั้งยังเป็นที่เก็บข้อมูลการจับจ่ายสินค้าของลูกค้า เพื่อเอามาวางแผนการขาย และสามารถใช้ดูการทำงานของพนักงานแต่ละคนอีกด้วย”

“ไว ฮง ฟง” ผู้ก่อตั้ง StoreHub มีมุมมองว่า ธุรกิจสตาร์ตอัพในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำธุรกิจอยู่ในประเทศมาเลเซียประเทศเดียวไม่ได้ เขาจึงขยายสำนักงานสาขาไปยังเมืองหลัก ๆ ในต่างประเทศ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน, มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และล่าสุดประเทศไทย เมื่อกลางปี 2017

ปัจจุบัน StoreHub เติบโต และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า 3,700 ร้าน ใน 15 ประเทศ รวมถึงยังสร้างโอกาสการเติบโตของ SMEs ทั้งยังช่วยให้ธุรกิจก้าวหน้าในอนาคต โดยมีทีมงานที่พร้อมจะทำงานกับลูกค้าได้ทุกวัน

“วี” กล่าวเพิ่มเติมว่า เรายึดถือในคุณค่าองค์กรที่เราเรียกว่า THOMAS

T คือ trust first เราเชื่อว่าการให้ความเชื่อใจไม่ต้องได้สิ่งตอบแทน เราจึงให้ความเชื่อมั่นในคนก่อน เพราะความเชื่อใจสร้างให้เกิดสิ่งดี ๆ

H คือ humble and hungry เราจำเป็นต้องหิวในการเรียนรู้ เพื่อจะพาเราไปถึงเป้าหมาย แต่ต้องนอบน้อมถ่อมตัวด้วยเมื่อเราได้ชัยชนะมาแล้ว

O คือ obsess over the details ความแตกต่างของสินค้าดี กับสินค้ายอดเยี่ยม ต่างกันที่การใส่ใจในรายละเอียด นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กน้อย

M คือ make their day ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า หุ้นส่วน หรือเพื่อนร่วมงาน เราต้องการเป็นคนที่มอบความสุขให้พวกเขาในทุกวัน

A คือ authentic ความน่าเชื่อถือคือสิ่งที่เรามุ่งเน้น เราจึงตั้งใจทำจริงจังในทุก ๆ งาน เราพูดแล้วเราต้องทำให้ได้

Serve needs not just profits เราแบ่งปันสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของโลกได้ ไม่เกี่ยวกับว่าจะต้องทำในที่ที่เราได้ประโยชน์ การทำธุรกิจสตาร์ตอัพ สิ่งสำคัญคือต้องมี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ไอเดีย, ทีมงาน, วิธีการทำงาน และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพธุรกิจ ซึ่งบุคลากรที่ StoreHub อยากได้ คือ คนที่มีไฟ มีแรงผลักดันทำสิ่งใหม่ ๆ และไม่เหนื่อยกับการค้นหาคำตอบ

“โดยช่วงเริ่มต้นของการเปิดสาขาที่ไทย เรามีพนักงานเพียง 10 คน นั่งทำงานร่วมกันในโต๊ะโต๊ะเดียว หลังจากที่เราได้เงินทุนมาเพิ่ม เราจึงอยากขยายจำนวนลูกค้า ส่งผลให้เราต้องหาลูกค้ามากขึ้น จนตอนนี้มีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 25 คน ทั้งยังมีแผนจะเพิ่มอีกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยวางแผนว่าจะมีพนักงาน 50 คนภายในสิ้นปีนี้ เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะพนักงานของเราอายุเฉลี่ย 27-28 ปี”

“ข้อดีของการบริหารองค์กรสตาร์ตอัพ คือ การลองผิดลองถูก เพราะองค์กรมีความยืดหยุ่นสูง แต่ความท้าทายในเรื่องของพนักงานก็มีเช่นเดียวกัน เพราะคนรุ่นใหม่ มาไวไปไว ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลยุทธ์การดึงดูด และเราจะต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ด้วย เนื่องจากบริษัทของเราให้อิสระกับพนักงาน ไม่จำเป็นต้องตอกบัตร ทำงานนอกออฟฟิศได้ และมีกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น ปาร์ตี้ รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เป็นต้น”

“นอกจากนั้น ในส่วนของการส่งเสริมการเรียนรู้กับพนักงานไทย เราให้พวกเขาไปประชุมกับเพื่อนร่วมงานต่างประเทศ เพราะเราเชื่อว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จาก text book เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเรียนรู้จากการพูดคุยกับคนหลาย ๆ คน เพื่อให้เกิดมุมมอง และประสบการณ์”

จึงนับเป็นองค์กรขนาดเล็กที่สามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจ ด้วยการเปิดรับความคิดเห็น และแรงผลักดันของคนรุ่นใหม่ อันถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรในวันนี้