ถอดมุมคิด “คนบางจาก” ปรับพอร์ต-สร้างทีม-มุ่งสู่ DJSI

หลังจากเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร (restructure organization) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมขยายการลงทุนที่มากกว่าการกลั่นน้ำมัน และค้าปลีก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BCP” หันมาโฟกัสในการมุ่งเน้นพัฒนา “คน” มากยิ่งขึ้น

เพราะมองเห็นแล้วว่า “คน” จะเป็นผู้ขับเคลื่อนบางจากในสหัสวรรษใหม่ อีกประการอาจเป็นเพราะบางจากวางเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการนำพาองค์กรเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ภายใน 5 ปีข้างหน้า

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร ถึงแนวทางในการพัฒนาคน องค์กร และธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดของบางจากเพื่อให้สอดรับกับเส้นทางสู่ DJSI ในอนาคต

แต่จะเป็นอย่างไรบ้างนั้นต้องลองไปฟังดู ?

เพิ่มเป้าหมาย-พัฒนาคนสู่ธุรกิจใหม่

ในช่วงปี 2559-2560 ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง และวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่ “evolving greenovation” ด้วยการนำบางจากสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำของเอเชีย พร้อมกับไปปักธงลงทุนในต่างประเทศที่มีโอกาส เช่น การลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

“ยอดพจน์” ระบุว่า เราวางแผนสำหรับการเดินหน้าองค์กรใน 5 ปีนับจากนี้ (2561-2565) เพื่อทำ 2 เรื่องสำคัญ คือ

1) พัฒนาคนจากภายในที่มีอยู่ 2,400 คน ให้สามารถโอนย้ายไปทำงานในกลุ่มธุรกิจใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไฟฟ้า, ไบโอเคมีคอล และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และ 2) นำพาองค์กรเข้าสู่ DJSI

สำหรับการพัฒนาคน “ยอดพจน์” บอกว่า ต้องใช้เวลา 3 ปีนับจากนี้ คือ ปี 2561-2563 เพื่อปรับพนักงานให้มีความสามารถมากพอที่จะนำองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ ที่มีการเพิ่มสาระสำคัญของ core value ทั้งหมด 2 เรื่อง ประกอบด้วย I (innovation) สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และ AM (agility & mobility) ความพร้อมใจเปลี่ยนแปลง

“หลายอย่างเปลี่ยน ฉะนั้นต้อง diversify เป็นอย่างมาก เพราะมีบริษัทใหม่เพิ่ม จึงต้องทำให้พฤติกรรมของพนักงานเปลี่ยนไปด้วย เพื่อให้เขามีความสามารถมากพอที่จะนำพาองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ให้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า”

การลุกขึ้นมาพัฒนาคนครั้งนี้ “ยอดพจน์” ให้เหตุผลว่า คนบางจากยังไม่มีความพร้อมจะทำงานที่ยากขึ้น เพราะบางจากในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ธุรกิจโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมันเท่านั้น แต่เราขยับธุรกิจอื่นอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเสริม (nonoil) ที่นำแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต SPAR เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และร้านกาแฟอินทนิล รวมไปถึงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พูดง่าย ๆ เราขยับเรื่องธุรกิจมาก แต่คนยังไม่ขยับตาม”

“ยอดพจน์” ยังบอกอีกว่า คนของบางจากต้องมี employee journey experience ไม่ว่าคุณจะทำงานในบางจากนานหรือไม่ก็ตาม แต่ต่อจากนี้บางจากจะเข้มข้นในหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับพนักงานเก่า-ใหม่ โดยเริ่มสร้างคนให้เข้าใจธุรกิจบางจาก และคอร์สอบรมตามลำดับชั้นของตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้บริหารต่อไป

เสริมแกร่งด้วย 3S-เติมโอกาสให้ธุรกิจ

การเข้าไปในธุรกิจใด ๆ ก็ตาม บางจากจะยังคงยึด “กลยุทธ์ 3S” เริ่มที่ security วันนี้ของบางจากต้องเพิ่มเติมจากการเป็นแค่เพียง investor มาเป็น operator เพื่อความยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการบริหาร ที่เห็นภาพชัดคือการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ผ่านบริษัท NIDO Petroleum Limited ที่พยายามเพิ่มการถือหุ้นในระดับที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ กลยุทธ์ถัดมาคือ stability เสถียรภาพ นั่นคือธุรกิจนั้น ๆ ต้องทำรายได้สม่ำเสมอ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และธุรกิจผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่บางจากต้องใช้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแม้ธุรกิจจะเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีการเพิ่มคนรองรับภารกิจ และสำหรับคนทำงานในธุรกิจใหม่ ๆ บางจากจะเลือกคนในก่อนเป็นอันดับแรก “ยอดพจน์” ขยายความเรื่องนี้ว่า บางจากใช้วิสัยทัศน์เป็นธงในการเลือกคน และธุรกิจใหม่ที่ทำอยู่ และกำลังจะไป ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องหา เพราะบางจาก “ไม่ได้ต้องการคนเยอะ แต่ต้องการคนที่ใช่”

ขณะที่บางธุรกิจที่งานยากขึ้น และต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม อย่างเช่น บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นั้น “ยอดพจน์” บอกว่า จากเดิมที่เน้นลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็กำลังจะ diversify ตัวเอง เพื่อลงไปสู่ธุรกิจซื้อ-ขายไฟฟ้ากันภายใน โดยที่ไม่ส่งไฟฟ้าเข้าระบบ ที่สำคัญเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้กำลังทำ business development เพื่อลงลึกไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าต้องหาคนทำงานเพิ่ม จากเดิมที่มี 90 คน ซึ่งบริษัทแม่จะเป็น center จัดหาคนให้ เพราะมีฐานข้อมูลพนักงานอยู่แล้ว สามารถออกแบบให้ matching กับบีซีพีจีได้ทันที

ส่งทีมส่องโอกาสใหม่ในซิลิคอนวัลเลย์

เมื่อซิลิคอนวัลเลย์ คือ เป้าหมายขององค์กรใหญ่ทั่วโลกในการแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ หนึ่งในนั้นรวมถึงบางจากด้วย โดยเรื่องนี้ “ยอดพจน์” เล่าถึงการส่งพนักงานที่มีความพร้อมเข้าไปอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ รุ่นแรก 3 คน โดยใช้เวลา 6 เดือน ในการควานหาโอกาสการลงทุนใน startup ที่มีการพูดถึงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไฟฟ้า, น้ำมัน และรถยนต์ ซึ่งหากมีข้อมูลที่น่าสนใจ ทีมดังกล่าวจะส่งข้อมูลกลับมา เพื่อให้ผู้บริหารพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุน

เร็ว ๆ นี้ทีมของบางจากเริ่ม pitching และนำมาใช้แล้วใน 3 ธุรกิจ โดยจะนำไปต่อยอดให้กับบริษัท บีซีพีจี และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งบางจากต้องให้ความสำคัญกับ 2 บริษัทในเครือ “ยอดพจน์” บอกว่า ตรงนี้จะเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับบางจากในระยะยาว ที่สำคัญ ยังได้ใช้ศักยภาพของประเทศที่มีจุดแข็งในเรื่องของเกษตรกรรมด้วย

เป้าหมายสู่ DJSI-ยั่งยืนและมีกำไร

เมื่อองค์กรมีความพร้อม และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง “ยอดพจน์” ระบุว่า จึงเป็นเป้าหมายสำคัญต่อไปในเรื่องที่ 2 คือ การพาบางจากขึ้นไปอยู่ในลิสต์ของ DJSI เนื่องจากเราต้องการ “ตัวชี้วัด” ที่ทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อใส่เงินลงไปแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดปกติ ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของบางจาก ที่ต้องทำให้ธุรกิจของบางจาก “ยั่งยืนและมีกำไร”

“สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เรามุ่งมั่นอย่างมาก ทั้งยังเป็นตัวตนของเรา นับแต่ก่อตั้งบางจากในการดูแลผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ด้วยการเน้นการทำธุรกิจสีเขียวเป็นหลัก จุดเริ่มต้นที่บางจากเดินมาอย่างไร ก็ยังเดินต่อไปแบบนั้น ส่วนเป้าหมายที่จะไปให้ถึง DJSI ภายใน 5 ปีข้างหน้า เราไม่ได้ฝืนทำ เพราะเราทำมาโดยตลอด แต่ยังไม่มากพอเท่านั้นเอง”

“ยอดพจน์” ยังย้ำในช่วงท้ายว่า การนำมาตรฐานของ DJSI เข้ามาชี้วัด นอกจากเพื่อความชัดเจนมากขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังบอกว่า บางจากไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการขยายตัวทางธุรกิจ หรือรายได้และผลกำไรเท่านั้น แต่การให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา เพื่อให้ทุกส่วนเติบโตไปพร้อม ๆ กัน

อันเป็น S (sustainability) ตัวสุดท้าย ภายใต้กลยุทธ์ 3S ในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของบางจากต่อไป