Outward Mindset เปลี่ยนเลนส์เพื่อองค์กรก้าวไกล

“ดร.เทอรี่ วอร์เนอร์” อาจารย์นักวิจัยด้านจิตวิทยาผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่ามนุษย์เรามีการกำหนด mindset ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “inward mindset” หรือการมองที่เป้าหมายของตนเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นคุณค่า และความสามารถของคนอื่น เพราะคนอื่นเป็นเพียงส่วนประกอบในการทำงานของตนให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น

ขณะที่ “outward mindset” คือ การมองคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าตัวเรา โดยมองถึงเป้าหมายรวมของทีมเป็นสำคัญ ทุกคนต่างต้องปรับตัวเข้าหากันเพื่อทำให้งานสำเร็จลุล่วง จากการวิจัยจึงสรุปได้ว่า การปรับเปลี่ยน mindset เปรียบเสมือนการปรับเปลี่ยนเลนส์ในการมองโลก มองตัวเรา และมองคนอื่น ซึ่งจะนำมาสู่ความสมานฉันท์ ทั้งยังทำให้ตัวเราสามารถใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ และการทำงานได้อย่างเป็นสุข

“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง ได้นำหลักสูตร outward mindset เข้ามาในเมืองไทย โดยหลักสูตรนี้ได้รับการเผยแพร่มาแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน, เกาหลี, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, บราซิล และไทย เป็นต้น ทั้งยังมีบริษัทชั้นนำอย่าง แอปเปิล, ไอบีเอ็ม, กูเกิล, บ.ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน มอเตอร์, เนสท์เล่, อินเทล, โนเกีย, พานาโซนิค, ไนกี้, ยูนิลีเวอร์,ไมโครซอฟท์, เฟดเอ็กซ์, โบอิ้ง และเชลล์ ร่วมส่งบุคลากรเข้าอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนไมนด์เซตในการดำเนินงานตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

“โดยเฉพาะโลกเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในยุค disruptive world ที่ทุกธุรกิจมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ส่งผลให้แต่ละแบรนด์ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ยังคงบรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ ทั้งนั้นเพราะ outward mindset คือ การเปลี่ยนวิธีมอง จากที่เรามองโลกผ่านเลนส์ของตัวเองเท่านั้น มาเป็นการมองผ่านเลนส์ใหม่ มองในมุมของคนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เราเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหา เห็นเรื่องราวต่างไป แต่การเปลี่ยนเลนส์เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนให้เคยชิน และต้องใช้เวลาในการปรับตัว เหมือนกับการที่เราใส่แว่นตาเป็นครั้งแรกที่ต้องใช้เวลาปรับตัว”

“ในยุค 4.0 หรือ disruptive world การใช้ outward mindset จะช่วยให้องค์กรอยู่รอดได้ ทำงานได้อย่างมีความสุข บรรลุตามเป้าหมายได้ แต่จะต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารระดับสูง หรือผู้นำองค์กรที่ต้องเข้าใจ เพราะถ้าวันนี้ผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กรยังคิดแบบเดิม ยังใช้วิธีการมองแบบเดิม ๆ เราจะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ทั้ง ๆ ที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถ้ามีการปรับมุมมองใหม่ ๆ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรครั้งสำคัญ ส่งผลต่อบุคลากรทุกระดับ ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า”

“เพราะฉะนั้น ภาพขององค์กรจึงต้องพยายามมุ่งไปหาผลลัพธ์ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้เราไปถึงเป้าหมายช้า หรืออาจไปได้ไม่ถึง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางครั้งคนที่ลงมือขับเคลื่อน มุ่งหน้าทำอะไรบางอย่างเพื่อไปหาเป้าหมาย ไม่ได้มีใจอยากทำ เสมือนว่าเป็นการทำ เพราะต้องทำ หรือโดนบังคับ แต่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยเรื่องของไมนด์เซต หรือสิ่งที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ จะทำให้คนปรับมุมมอง เปลี่ยนวิธีการคิด ทำให้เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำ บทบาทหน้าที่ของเขา มีความสำคัญอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อทั้งตนเอง และคนรอบข้าง”

“ดร.สิรยา คงสมพงษ์” ที่ปรึกษาอาวุโส SEAC บอกว่า ข้อดีของ outward mindset คือ เป็นหลักสูตรที่ใช้ได้ทั้งในชีวิตส่วนตัว และการทำงาน โดยในชีวิตจริงเราสามารถใช้ outward mindset ได้ในทุก ๆ วัน ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดในชีวิตประจำวันอย่างเวลาเราขึ้นรถไฟฟ้า แล้วได้ที่นั่ง แต่เหลือบไปมองเห็นผู้สูงอายุ ในความตั้งใจแรกเราอาจจะลุกขึ้นให้นั่ง แต่ถ้าในวันนั้นเราไม่ลุกด้วยเหตุผล คือ เราเดินช็อปปิ้งเมื่อย นี่เป็นการคิดแบบ inward mindset คือมองเพียงตัวเอง มองโลกผ่านเลนส์ที่มีเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก ทำให้เรามองคนอื่นด้อยกว่า หรือเทียบเท่ากับวัตถุ หรืออาจเรียกได้ว่าคือ วิธีการมองโลกแบบที่ความต้องการ หรือเป้าหมายของตนเองสำคัญที่สุด

“แต่ถ้าเรามองแบบ outward mindset เราจะลุกให้ผู้สูงอายุนั่ง เพราะเราเชื่อว่าผู้สูงอายุอาจกำลังปวดขาอยู่เช่นกัน และเราสามารถยืนจนถึงจุดหมายเดียวกันได้ และนี่คือการมองคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าตนเอง เชื่อว่าเป้าหมายของคนอื่น ปัญหาของคนอื่นก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน”

“หรือกรณีการขึ้นลิฟต์ ถ้าวันนั้นเราตื่นสาย และรีบไปทำงานเพราะใกล้เวลาตอกบัตร จนกดปิดประตูลิฟต์อย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่มีเพื่อนเราอีกคนกำลังวิ่งมาเพื่อขอขึ้นลิฟต์โดยสารด้วย นั่นเป็นตัวอย่างการคิดแบบ inward mindset แต่ถ้าเรามองในมุม outward mindset จะคิดว่า เราสามารถรอเพื่อนได้ เพราะถ้าเพื่อนไม่ได้ขึ้นลิฟต์ตัวนี้ก็อาจจะเข้างานสายก็ได้ เป็นต้น”

ดังนั้น บทสรุปของ “outward mindset” จึงเป็นตัวกำหนดพื้นฐานระดับจุลภาค ที่ส่งแรงสะท้อนต่อระดับมหภาค กล่าวคือถ้าองค์กรใดสามารถปรับเลนส์ในการมองตั้งแต่ระดับผู้บริหารเรื่อยมาจนถึงพนักงานในองค์กรอย่างรวดเร็ว องค์กรนั้นจะสามารถหาทางอยู่รอดในการขับเคลื่อนยุค 4.0 ที่เศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้