AP เล็งเปิด “คอนโดผู้สูงวัยรุ่นใหม่” ทำเลสาธร-ตากสิน ในปี’63

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ระหว่างการศึกษาดูงานทริป “AP Moving Forward to the Next Living Trend” ของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า เพื่อสอดรับกับเทรนด์โลกที่เข้าสู่สังคมสูงวัย บริษัทได้นำข้อได้เปรียบในการพัฒนาคอนโดมิเนียมของเอพี ทั้งเรื่องโลเคชั่น การออกแบบพื้นที่ และการส่งต่อองค์ความรู้จากบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ พันธมิตรทางธุรกิจ มาต่อยอดสู่การขยายพอร์ตสินค้าคอนโดมิเนียมไปยังตลาดกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยรุ่นใหม่ (The Young Old) อายุ 60 – 75 ปี ที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน

“กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มคนในยุค Baby Boom แต่คือกลุ่มคนเจนเนอเรชั่น เอ็กซ์ ในปัจจุบันที่มีอายุ 37 – 57 ปี หรือเกิดระหว่าง พ.ศ. 2504 – 2524 และกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยรุ่นใหม่”

การออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่นี้จะต้องปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมหลายอย่างจะถูกส่งต่อ เช่น พฤติกรรมคุ้นชินกับการใช้ชีวิตในเมือง, การเดินทางที่สะดวกสบาย, อยากอยู่ใกล้เพื่อน ลูกหลาน, การไม่กลัวเทคโนโลยี, ชอบเข้าสังคม และความพร้อมทางการเงินที่มีการวางแผนมาอย่างดี

คอนโดมิเนียมในเมืองสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด Intergeneration Living ที่ผสานความต่างของทุกเจนเนอเรชั่นเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว แต่ยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนของจำนวนห้องของแต่ละกลุ่ม

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเชิงลึก คาดว่าจะเปิดตัวในปี 2563 ในทำเลสาทร-ตากสิน ห่าง 5 นาทีจากรถไฟฟ้าสถานีวุฒากาศ โดยเป็นคอนโด 30 ชั้น พื้นที่ของห้องอยู่ที่ 35-40 ตร.ม.ขึ้นไป เป็นเพราะต้องมี facility ที่ออกแบบเฉพาะ อย่างประตูห้องที่กว้างขึ้น หรือห้องน้ำที่ต้องมีส่วนราวจับเพิ่มเติม เป็นต้น เป็นต้น ซึ่งวางไว้ว่าราคาขายอยู่ที่ตร.ม.ละ 90,000-100,000 กว่าบาท”

สำหรับทิศทางในการพัฒนาคอนโดมิเนียมตามแนวคิด Intergeneration Living ประกอบด้วย 3 ทางหลักคือ

1) Rethink Space การปรับวิธีคิดในการออกแบบพื้นที่ใหม่ทั้งหมด โดยนำหลัก Universal Design เข้ามาผสมผสานในการออกแบบพื้นที่เพื่อคนทุกเจนเนอเรชั่น

2) Redefine Living การสร้างนิยามใหม่ของการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่ ทั้งเรื่องของทำเลที่ตั้งที่อยู่ในเมือง (Location in Location) การเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่ส่วนกลางที่มากกว่าคอนโดมิเนียมทั่วไป รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในชีวิต

3) Remodeling Community การพัฒนาโมเดลที่ส่งเสริมความสุขในการอยู่อาศัย ทั้งด้านจิตใจ และคุณค่าต่อชุมชน

“ความยากของการจับตลาดกลุ่มผู้สูงวัยในไทยคือ คนไม่ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองแก่ แตกต่างจากคนญี่ปุ่นที่ยอมรับเรื่องนี้ จึงมีธุรกิจที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น nursing home, renovation residence เอพีจึงทดลองตลาดด้วยการนำร่องในกลุ่มคอนโดมิเนียมก่อนขยับไปยังที่อยู่ศัยประเภทอื่นต่อไป”