บริหาร “คน” บางจาก มุ่งสู่ DJSI-รางวัลสุดยอดนายจ้าง

ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร

ต้องยอมรับว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นสิ่งที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BCP” มุ่งมั่น และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตัวตนของบางจากมาตั้งแต่แรกในการดำเนินธุรกิจ

ทว่าเมื่อบริบทโลกเปลี่ยนแปลงไป ทั้งมุมมองต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสำคัญ และวิเคราะห์ถึงตัวองค์กร ขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จึงทำให้บางจากต้องปรับตัวเข้ากับมาตรฐานใหม่ ๆ โดยเฉพาะการวางเป้าหมายที่จะนำองค์กรเข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ในปี 2020

แต่การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว บางจากต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการภายในธุรกิจอย่างมากมาย โดยเฉพาะ “คน” อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ตามเป้าหมายที่วางไว้

“ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BCP” กล่าวว่า ที่ผ่านมาบางจากดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตัวตนตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท แต่เนื่องจากบริบทในปัจจุบันที่มุมมองของสังคม และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมีการวิเคราะห์ถึงตัวองค์กร ขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จึงทำให้ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ ๆ

“อย่างตัวชี้วัดของ DJSI ที่มองทั้งมิติสังคม สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการมีกำไรไปพร้อมกัน ทำให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ลงทุนในระดับสากลให้ความสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อใส่เงินเข้ามาลงทุนแล้ว จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดปกติ และมีความยั่งยืนมากกว่า เพราะวันนี้ธุรกิจของบางจากไม่ได้จำกัดอยู่แค่น้ำมัน และอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หากมีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น มีบริษัทในเครือมากขึ้น

ทั้งยังขยายไปในต่างประเทศ และการที่จะ diversify องค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ พนักงานทั้งหมดจะต้องมีพฤติกรรม และทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังมีความสามารถพอที่จะนำพาองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ได้ ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบางจากต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่ทันที”

“เพราะเมื่อคนคือคีย์ของความสำเร็จ ธุรกิจจะมีกำไร หรือขาดทุนล้วนขึ้นอยู่กับคนทั้งสิ้น ซึ่งบางจากถือว่ามีช่องว่างที่ต้องปรับปรุง พัฒนา แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีการกำหนด core value เป็น BCP คือ B (beyond expectation) การแสวงหาความเป็นเลิศ, C (continuous development) ก่อเกิดการพัฒนา และ P (pursuit of sustainability) นำพาสู่ความยั่งยืน”

แต่เมื่อเป้าหมายขององค์กรเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องของ DJSI และการมุ่งสู่ evolving greenovation ที่พร้อมจะเป็นผู้นำในเอเชีย จึงทำให้บางจากต้องเพิ่ม core value อีก 2 ตัว โดยในเรื่องนี้ “ยอดพจน์” บอกว่า สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ I (innovation) การร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และ AM (agility and mobility) เรื่องความพร้อมของใจและการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

“อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานองค์กรภายในใหม่ โดยมีการตั้ง chang department อันถือเป็นหน่วยงานใหม่เพื่อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์กร พฤติกรรมของพนักงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงสุดในการทำงาน โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้ของพนักงานให้มี employee journey experience ที่ดี ไม่ว่าพนักงานที่อยู่กับเรามานานแล้ว หรือว่าเพิ่งจะเข้ามาก็ตาม”

“พนักงานแต่ละคนจะต้องผ่านการอบรมในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับต้นไปจนถึงการเตรียมความพร้อมเป็นผู้บริหาร โดยเรามีโปรแกรมการเรียนรู้ตั้งแต่ certificate of individualprogram (COI) ที่จะเป็นความรู้ทางการบริหารธุรกิจ (พื้นฐาน), certificate of professional program (COP) ความรู้ทางการบริหารธุรกิจ (กลาง) จนไปถึง certificate of top executive program (COT) ความรู้ทางการบริหารธุรกิจ (โลก) ซึ่งแต่ละโปรแกรม พนักงานจะมีความรู้ ความสามารถที่แตกต่างกัน”

“ยอดพจน์” กล่าวอีกว่า ถ้าถามว่าทำไมบางจากต้องทำเรื่องเหล่านี้ คำตอบง่าย ๆ คือเนื่องจากอดีตที่ผ่านมา ช่องว่างของคนบางจากยังไม่มีความพร้อมพอที่จะก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้า แต่ตอนนี้ธุรกิจไม่ได้มีแค่โรงกลั่น กับมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น แต่องค์กรกำลังขยายธุรกิจหลากหลายมากขึ้น ทั้งที่เป็นธุรกิจเสริมอย่างร้าน SPAR, ร้านกาแฟอินทนิล, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, ธุรกิจเกี่ยวกับไบโอเบส เพราะเรามีหน่วยงานนวัตกรรมที่คอยสนับสนุน

“สำหรับกรอบการทำงานของพนักงาน เราเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเอออน ฮิววิท เข้ามาให้คำปรึกษา และวางโรดแมปให้เราไปสู่การพัฒนาคนที่เป็นระบบ จึงทำให้เรานำตัวชี้วัดรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น (The BestEmployee) มาเป็นกรอบในการดำเนินงานทั้งเรายังหวังว่าถ้าติด DJSI เมื่อไหร่ เรื่องคนของเราก็จะต้องได้ The Best Employee เช่นกัน”

“ฉะนั้น competency ของพนักงานจะต้องเปลี่ยน เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับเรื่องดิสรัปชั่น และเราก็มองเห็นธุรกิจที่จะต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง จึงทำให้วันนี้เราต้องทำให้ทุกคนมีวัฒนธรรมเดียวกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะบางจาก คอร์ปอเรชั่น แต่จะต้องเป็นบริษัทในกลุ่มทั้งหมดด้วย”

ถึงตรงนี้ “ยอดพจน์” บอกว่า การดำเนินงานช่วงแรกต้องยอมรับว่ามีปัญหานิดหน่อย เพราะมีคำถามหลาย ๆ อย่างตามมา เช่น ทำไมต้องมาอบรม ก่อนหน้านี้ไม่เห็นมีการอบรมแบบนี้ ซึ่งยอมรับว่าการสื่อสารตอนนั้นยังไม่ทั่วถึง ฉะนั้นโซ่ข้อกลางระหว่างพนักงานระดับบนกับระดับล่าง คือผู้จัดการ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น

“ดังนั้น ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในการโปรโมตคนตั้งแต่ตำแหน่งผู้จัดการขึ้นไปจนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นคนในองค์กร ส่วนอีก 20% เป็นคนนอก แต่ต่อไปเราจะพัฒนาคนของเราขึ้นมาเอง เพราะเราเชื่อแล้วว่าจะสามารถพัฒนาคนของเราขึ้นมาได้”

เพราะ “บางจาก” ตั้งความหวังว่า ในปี 2020 นอกจากองค์กรจะก้าวไปสู่ DJSI หากยังจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นด้วย