เข้าอบรมสาย สร้างความเสียหายให้องค์กร

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ถามมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลต์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป

ผมเริ่มทำงานครั้งแรกที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เมื่อปี พ.ศ. 2531 ตอนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม ประจำศูนย์ฝึกอบรมของเครือ วัฒนธรรมการอบรมที่ปูนซิเมนต์ไทยเข้มงวดมาก การฝึกอบรมถือเป็นเวลาทำงาน พนักงานต้องเข้าอบรมก่อนเวลาอย่างน้อย 15 นาที ปกติการอบรมเริ่มต้น 08.30 น. เมื่อถึงเวลา ผู้บริหารระดับสูงจะมาพูดเปิดการอบรมทุกครั้ง และทันทีที่ผู้บริหารมาถึง ประตูห้องอบรมจะถูกปิดล็อกไม่ให้คนเข้าออก ใครมาสายกว่านั้นถือว่าชะตาขาด

การไม่เข้าอบรมหรือมาอบรมสาย ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำหนังสือขอลาอบรม เช่นเดียวกับการลางาน แต่ลำบากกว่านั้นนิดหน่อยคือ ต้องลาสองระดับขึ้นไป หมายความว่า ต้องทำจดหมายให้หัวหน้าโดยตรงเซ็น และส่งต่อให้หัวหน้าของหัวหน้าอีกขั้นลงนามด้วย

ดังนั้น วินัยในการเข้าอบรมจึงเป๊ะมาก ๆ เริ่มตรงเวลา เบรกตรงเวลา และที่สำคัญ เลิกตรงเวลา ผมทำงานอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมนี้ 2-3 ปี ก็ซึมซับวัฒนธรรมการตรงต่อเวลาไปอย่างเต็มที่

ไม่น่าเชื่อว่า 15 ปีให้หลัง จากเด็กที่เคยนั่งอยู่หลังห้อง กลายมาเป็นคนที่ยืนพูดอยู่หน้าห้อง ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาในฐานะวิทยากร ผมมีโอกาสบรรยายให้กับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 500 องค์กร มากกว่า 3,000 ครั้ง เจอคนมานับหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับกลาง ถึงระดับสูง ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ แต่ละองค์กรต่างมีวัฒนธรรมของความตรงต่อเวลาในการเข้าอบรมไม่เหมือนกัน บางองค์กรคนเรียนมาพร้อมก่อนเวลาอบรมจริงเกือบครึ่งชั่วโมง เช่น ตารางอบรมเริ่ม 08.30 น. ผู้เข้าอบรมซึ่งปกติมีประมาณ 20-25 คน มาพร้อมกัน 100% ตั้งแต่ 8 โมงเช้า เรียกได้ว่าถ้าวิทยากรพร้อมสอนคนเรียนพร้อมเรียนทันที

ขณะที่บางองค์กร เริ่มเรียน 08.30 น.เหมือนกัน แต่ 9 โมงแล้ว ผู้บริหารที่ต้องเข้าอบรมเพิ่งจะทยอยกันมาแค่ 2-3 คน กว่าจะเริ่มเรียนได้ ปาเข้าไปเกือบ 9 โมงครึ่ง ที่สำคัญ มาไม่ครบด้วย

ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปสอนองค์กรเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง คนลงทะเบียนเรียน 20 คน ปรากฏว่าเกือบ 11 โมงแล้ว มีคนเรียนมาแค่ 2 คน สุดท้ายต้องยกเลิกการสอนไปอย่างน่าเสียดาย

ผมเคยลองรวบรวมสถิติมาดูเล่น ๆ โดยเปรียบเทียบความมีวินัยในการเข้าอบรมของผู้บริหาร เทียบกับผลประกอบการขององค์กร เชื่อไหมว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไม่น่าเชื่อ คือ องค์กรที่ผู้บริหารมีวินัย เข้าอบรมตรงเวลา ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ องค์กรเหล่านั้นมักมีผลประกอบการดี ในทางกลับกัน องค์กรที่ผู้บริหารไม่มีวินัย มาอบรมไม่ตรงเวลา เข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างการอบรม ปรากฏว่าผลประกอบการขององค์กรเหล่านั้นก็แย่ตามไปด้วย

ผมอยากรู้มากว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

โชคดีที่นอกจากเป็นวิทยากรแล้ว ยังมีโอกาสทำงานเป็นที่ปรึกษา ทำให้ได้เข้าไปคลุกคลีกับผู้บริหาร และพนักงานขององค์กรเหล่านั้นบ้าง จึงลองสังเกตดูพบว่า การไม่เคารพเวลาของผู้บริหารไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องอบรมเท่านั้น แต่กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเลย เช่น การทำงานก็มาสาย, การประชุมก็สาย, ส่งงานก็ไม่ตรงเวลา, หัวหน้าก็เป็น ลูกน้องก็เป็น จึงไม่แปลกใจเลยว่า…ทำไมองค์กรจึงไม่ประสบความสำเร็จ

ผมเคยโพสต์เรื่องทำนองนี้ลงบนเฟซบุ๊ก เพราะอยากฟังความเห็นของคนอื่น ๆ บ้าง เชื่อไหมผู้บริหารบางองค์กรโทร.มาต่อว่าผม บ้างก็งอนไม่ยอมใช้บริการอีกต่อไป หาว่าผมไปต่อว่าองค์กรของเขา ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับองค์กรนั้นเลย

คงกินปูนร้อนท้องไปเอง

บางรายซ้ำร้ายกว่านั้น ให้ HR โทร.มาเชิญผมเข้าไปพูดคุย ขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ แล้วอธิบายว่า ผู้บริหารที่นี่ค่อนข้างยุ่ง มีประชุมด่วน เจ้านายเรียก ติดลูกค้า ฯลฯ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ทำหน้าเจี๋ยมเจี้ยม รับฟังไป จบแล้วก็ตอบว่า องค์กรอื่นที่มีวินัย ก็ไม่ได้ยุ่งน้อยไปกว่าผู้บริหารของท่าน บางแห่งใหญ่กว่าท่าน ยุ่งกว่าท่านด้วยซ้ำ ยังบริหารเวลาได้ อันที่จริงไม่ใช่เรื่องเวลาหรอกครับ… มันเป็นวัฒนธรรมขององค์กร

พอพูดไปแบบนี้ บางคนไม่เข้าใจ หาว่าให้ร้ายคนของเขา พานโกรธไปอีก…

อันที่จริง ผมไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแค่ยกกระจกเงาขึ้น ให้ท่านส่องดูตัวเองเท่านั้น พอเห็นรูปในกระจกไม่ถูกใจ กลับเตะกระจกแตกซะนี่…น่าเศร้าใจจริง

ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง ไม่มีเจตนาต่อว่าองค์กรใด ไม่ต้องคิดมาก เพียงแค่อยากจุดประกายให้ลองหันกลับมาใส่ใจเรื่องวินัยในการอบรมดูบ้าง แม้ฟังแล้วอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งนี้แหละ คือ จุดเริ่มต้นของความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่

ลองคิดง่าย ๆ นะครับ การอบรมสำหรับผู้บริหารหลักสูตรหนึ่ง ประมาณ 30,000 บาท/คน ซึ่งมีคนเรียนประมาณ 20 คน ตกประมาณ 600,000 บาท เรียน 2 วัน วันละ 8 ชั่วโมง เอามาหารกัน คิดเป็นเงิน 37,500 บาท/ชั่วโมง หรือนาทีละ 625 บาท

เริ่มต้นสาย 10 นาที เพราะคนมาไม่ครบ หมดไป 6,250 บาท พักกลางวัน 1 ชั่วโมง กว่าจะกลับมาได้ สายไปอีก 20 นาที หมดไปอีก 12,500 บาท น่าเสียดายไหมครับ… แม้จะไม่ใช่เงินของท่านเองก็ตาม ?

ผู้นำต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง องค์กรจะดีไหม ? วัฒนธรรมจะเป็นอย่างไร ? ให้ดูที่พฤติกรรมของผู้บริหาร เวลาปลาเน่า เริ่มต้นเน่าจากหัวทั้งนั้น มันไม่ได้เน่าจากหางขึ้นมาที่หัว ฉันใดก็ฉันนั้น องค์กรก็ไม่ต่างกัน ผู้นำดี องค์กรดี ผู้นำแย่ องค์กรแย่


สิ่งที่ทำดังกว่าสิ่งที่พูดเสมอครับ ?