ถอดโมเดล “พระเจ้าตาก” Reinvention ก่อนถูก Disruption

คำว่า “reinvention” อาจมีความหมายที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจากงานสัมมนา “The Reinvention พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจและธนาคารไทยพาณิชย์ หนึ่งในสปีกเกอร์ อย่าง “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks ได้แสดงมุมคิดถึงเรื่อง reinvention ไว้อย่างน่าสนใจ

ในช่วงแรกเขาฉายภาพว่า สิ่งที่เกิดก่อน reinvention คือ disruption ซึ่งสถานการณ์มักเกิดกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอายุยาวนาน แต่ไม่รู้จัก reinvention ตัวเองก่อน จึงถูก disrupt จากผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดที่ส่วนใหญ่รุกเข้ามาในตลาดล่างก่อน โดยใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า โมเดลธุรกิจที่ดีกว่า ต้นทุนที่ถูกกว่า แล้วนำเสนอสินค้าและบริการเข้าไปในตลาด ซึ่งมีคุณภาพดีและราคาถูก ทำให้ผู้บริโภคสมัยใหม่เลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้เล่นรายใหม่ เพราะมองว่าบริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้เทียบเท่า

“10 ปีที่ผ่านมาธุรกิจเก่าแก่จำนวนมากถูก disrupt ยกตัวอย่าง Nokia ที่ถูก disrupt จาก Apple, Samsung, Huawei รวมถึงอีกหลายแบรนด์จีนที่กำลังตามมา หรือการเกิดขึ้นของ Netflix ก็ได้ disrupt วงการฮอลลีวูดและทีวีเช่นกัน เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอัตราเร่ง เป็นผลพวงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ไม่ต้องรอเวลานาน 5-10 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงใน 1-3 ปี ก็สามารถทำให้ธุรกิจล้มลงได้ในพริบตาเดียว”

ไม่เพียงเท่านั้น “ภิญโญ” ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ผ่านกรอบแนวคิดของโมเดล disruption โดยเขาบอกว่า อยุธยามีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะ มีแม่น้ำหลายสาย และมีหัวเมืองเล็ก ๆ โอบล้อม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับธุรกิจก็เหมือนต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ ผู้ซื้อ ลูกค้า และกลุ่มอื่น ๆ

โดยอยุธยาอยู่มาถึง 417 ปี และคิดว่าตัวเองจะไม่ถูก disrupt หรืออาณาจักรจะล่มสลาย ดังนั้นจึงเกิดปัญหาคือไม่ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีภัยคุกคามเกิดขึ้นและไม่มีการคิดล่วงหน้าก่อนว่าหากเกิดแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งการยกทัพของพม่ามาบุกอยุธยาในครั้งที่ 2 นั้น พม่าได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดจากอดีต นำไปสู่การปรับยุทธวิธีจากเดิมที่มุ่งมาที่อยุธยาเลย ก็ได้บุกไปตีหัวเมืองของอยุธยาจากทิศเหนือและทิศใต้ โดยตีวงแคบเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงตัวเมืองอยุธยา ซึ่งหัวเมืองที่เห็นแสนยานุภาพของกองทัพพม่าก็เลือกที่จะไม่สู้รบ รวมถึงไม่ตัดเสบียงส่งให้อยุธยา แล้วรอเลือกข้างอยู่กับฝ่ายที่จะชนะ

“อยุธยาหวังเพียงว่าเมื่อถึงฤดูฝน น้ำหลากจากทิศเหนือจะสร้างความเดือดร้อน ทำให้กองทัพพม่าไม่สามารถอยู่ได้ คืออยุธยาหวังจะพึ่งแต่ดินฟ้าอากาศ โดยไม่ได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว สถานการณ์เช่นนั้นควรมองให้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือกำลังถูก disrupt หรือไม่ หากมองไม่เห็นก็จะประเมินไม่ถูก และไม่รู้จัก reinvention ตัวเอง ดังจะเห็นได้จากอยุธยาที่ปรับตัวไม่ทันจนอาณาจักรล่มสลาย”

อย่างไรก็ดี ยังมีคนที่เห็นว่าอยุธยากำลังถูก disrupt นั่นคือ “พระยาตาก” ซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ทัพหัวเมืองของอยุธยา โดยมองว่าหากให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป และยังอยู่ที่อยุธยาคงไม่สามารถกอบกู้เอกราชได้ พระยาตากจึงรวมพลทหารกว่า 500 นาย ที่วัดพิชัยสงคราม แล้วยกทัพไปจันทบุรี ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญที่สุดของไทย เพราะมิฉะนั้นก็ไม่มีการเกิดขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมาได้

“ก่อนที่จะยกทัพมาตีพม่า พระยาตากสั่งทหารทุกนายให้กินข้าวให้อิ่มและทุบหม้อข้าวทิ้ง เพื่อวันรุ่งขึ้นไปหาข้าวกินในเมือง นั่นหมายความว่า ถ้ายกทัพไปตีพม่าไม่สำเร็จ ทุกคนก็ต้องตาย จึงทำให้ทหารเกิดความฮึกเหิมในการกอบกู้เอกราชของประเทศในครั้งนี้”

“หากมองถึงการกระทำของพระเจ้าตากสิน ถือว่ามีสปิริตของการเป็นสตาร์ตอัพ รวมถึงมี reinvention เพราะมองการณ์ไกล รู้ว่าหวนกลับไปหาอดีตไม่ได้ ไม่ว่ากรุงศรีอยุธยาจะรุ่งเรืองแค่ไหนก็ตาม ซึ่งหากมองประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่ามีคนเพียงหยิบมือเดียวที่คิดได้ หรือรู้จัก reinvention ตัวเองขึ้นมาใหม่”

“การเป็นแม่ทัพที่คิดใหม่ในวันที่บ้านเมืองกำลังล่มสลาย อีกทั้งเป็นกองทัพขนาดเล็กที่สามารถเอาชนะกองทัพขนาดใหญ่ได้ เกิดขึ้นมาจากความกล้าหาญในการ disrupt เพื่อพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง โดยจากสถานการณ์บ้านเมืองในยุคนี้ เราต้องการสปิริตแบบพระเจ้าตากเป็นอย่างยิ่ง”

สถานการณ์บ้านเมืองที่ “ภิญโญ” กล่าวถึงคือ การสร้างวัฒนธรรมความกลัวและไม่กล้ารับความเสี่ยง กระนั้น เมื่อธุรกิจถูก disrupt จากทุกทิศทาง หากไม่มีการปลูกจิตสำนึกให้มีความกล้าหาญ แล้วจะใช้อะไรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและอนาคต

“หัวใจในการตั้งรับมือกับ disruption ต้องมองถึงจิตวิญญาณของการเกิด disruption ว่าคืออะไร ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เป็นอนิจจังในสปีดของแสง สิ่งที่ตามมาคือ หากยังยึดมั่นไว้ก็จะสร้างความทุกข์ใหญ่หลวง ดังนั้นต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้ายังยึดติดกับความสำเร็จเดิมก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงตนเอง”

“การก้าวสู่อนาคตได้ ไม่ใช่การติดกับของเก่า แต่เป็นการสร้างตัวตนใหม่ ธุรกิจใหม่ และบ้านเมืองใหม่ ถึงแม้สถานการณ์ในปัจจุบันอาจทำให้หลายอย่างเป็นเรื่องยาก แต่เราจะยอมจำนนต่อชะตากรรมฟ้าดินไม่ได้ หากเรายอมจำนน เราก็จะเป็นเหมือนอยุธยาที่ถูก disrupt จากปัจจัยรอบด้าน”

“ภิญโญ” บอกว่า ทางเลือกในการฝ่ากระแส disruption มี 2 ทาง คือไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เป็นชะตาของฟ้าดิน หรือลงมือทำอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้ทุกการกระทำมีความเสี่ยง แต่หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยก็ต้องลงมือทำ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยนั้นทุกคนสามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง และหากทุกคนสร้างขึ้นมาก็จะเป็นเหมือนทหารกล้าที่สร้างอนาคตของประเทศขึ้นมาใหม่

“มองไปข้างหน้าให้ไกล สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ สร้างความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย สิ่งเหล่านี้จะสามารถพาประเทศชาติเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตได้”