“ปลานิลเบตง” เลี้ยงด้วยน้ำจากเทือกเขาสันกาลาคีรี สร้างชีวิตหรูหรา รายได้ปีละล้าน

ชีวิตที่หรูหรา-มีคุณภาพครบถ้วนทั้งปัจจัย 4 ไม่ได้มีเฉพาะคนที่อยู่ในใจกลางเมือง ที่เต็มไปด้วยความเจริญทั้งด้านเทคโนโลยี แสงสี และความสมบูรณ์พร้อมด้านสาธารณูปโภค

หากว่า ชีวิตครอบครัวของ “สันติชัย จงเกียรติขจร” เกษตรกร ที่เชิงเขาสันกาลาคีรี อ.เบตง จ.ยะลา นั้นหรูหรา มีระดับ ที่คนในเมืองต้องอิจฉา

เขาตื่นมา “กดเงิน” จากต้นมังคุด ด้วยออเดอร์ทางโทรศัพท์ ได้เงินสดๆ ก่อนเที่ยงวัน 4,000 บาท

ตามด้วย “ตักเงิน” จากปลานิลในบ่อหลังบ้าน 100 กิโลกรัม รับเงินสดม้วนกลม-มัดด้วยหนังสติ๊ก อีก 9,500 บาท

ลูกๆ และภรรยาของ “สันติชัย” เชี่ยวชาญในการรับแขก ทั้งที่เป็นลูกค้า และข้าราชการ ที่มาดูงานอย่างต่อเนื่อง

อาหารเที่ยงที่ทำจากปลา ขนมหวาน และผลไม้ ที่ถูกจัดขึ้นโต๊ะรับแขกที่มาจาก หน้าบ้าน ทุกจาน-ทุกอย่าง “สด” จากสวนหลังบ้าน

“สันติชัย” เล่าอย่างถ่อมตนว่า เขามีหนี้เล็กน้อย ราว 2 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ขณะที่รายได้หลักของเขามาจาก “บ่อปลานิล” แทนอาชีพกรีดยางอันเป็นมรดกคลาสสิคจากรุ่นพ่อ ที่เขามุ่งมั่นทำมากกว่า 20 ปี

“เดิมกรีดยางมีรายได้ปีละกว่า 75,000 บาท แต่เลี้ยงปลานิล 2-3 บ่อ ในระยะเวลา 4-5 เดือนจับขายได้ ทำให้มีรายได้ประมาณ 450,000 บาท หากนับเงินหมุน ตามจำนวนปลา และรอบของการเลี้ยงปลา อาจกล่าวได้ว่ารายได้น่าจะแตะที่ 1.1 ล้านบาทต่อปี” สันติชัยกล่าวตัวเลขกลมๆ ที่ไม่นับรายได้เสริม จากผลิตผลรอบๆ บ้านอีกหลายชนิด

ผังฟาร์มของ “สันติชัย” ในเนื้อที่ 40 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่บ่อเลี้ยงปลา 3 ไร่, ยางพารา 18 ไร่, สวนผลไม้ 15 ไร่, พื้นที่ป่า 2 ไร่ และบ้านพัก 2 ไร่

เขาคำนวณคร่าวๆ ว่า การเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพหลัก บนพื้นที่ 2 ไร่ มีรายได้เท่ากับปลูกยางพาราในพื้นที่ 100 ไร่ เลยทีเดียว

ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งราคายางตกต่ำอย่างหนัก ทำให้ “สันติชัย” แทบจะลืมวิชากรีดยางไปเลย เขาใช้วิธีการจ้างเพื่อนบ้านทำแทน และ “ยาง” กลายเป็นอาชีพเสริมเพราะเขาบอกว่า “ในระยะหลัง ผมไม่สนใจราคายางพารามากนัก”

ขณะเดียวกัน เราได้สัมภาษณ์ “ชนธัญ นฤเศวตตานนท์” ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลบ้านบ่อน้ำร้อน อ.เบตง จ.ยะลา เขาบอกว่า “จุดแข็งของปลานิล เบตง คือ เลี้ยงในระบบน้ำไหลจากเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นวิธีทางธรรมชาติ ทำให้ปลาแข็งแรง และน้ำที่ไหลมามีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำบริเวณป่าต้นน้ำที่ใสสะอาด และมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ทำให้ปลานิลมีเนื้อที่ดี สมบูรณ์ ไม่มีกลิ่นสาบดิน หรือกลิ่นโคลน เหมือนกับปลาที่เลี้ยงในบ่อธรรมดา”

เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมในคณะเดินทาง ร่วมให้ข้อมูลว่า จุดเปลี่ยนของ “ปลานิล” ในอ.เบตง คือ เมื่อปี 2546 เกิดน้ำป่าในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสายพันธุ์ต่างๆ ในบ่อ รวมทั้งสวนยางพารา สวนผลไม้ ทุเรียน, มังคุด และเงาะ ได้รับความเสียหาย จึงคิดเริ่มต้นอาชีพใหม่ๆ

กลุ่มเกษตรกรจึงหันมาเลี้ยงปลานิล ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้แก่เกษตรกรเมื่อปี 2509 เพื่อเลี้ยงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย โดยเริ่มแรกมีการใช้บ่อเลี้ยงภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จากนั้นได้พระราชทานพันธุ์ปลานิล ให้กับกรมประมงเพาะขยายพันธุ์ แจกจ่ายให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ

สำหรับกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลานิล บ้านบ่อน้ำร้อน มีสมาชิก 11 ราย ส่งปลาขายตรงให้กับร้านอาหารใน อ.เบตง จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง ในราคากิโลกรัมละ 95 บาท ในแต่ละเดือนร้านหารต่างๆ ต้องการปลานิลประมาณ 400-500 กิโลกรัม เกษตรกรในกลุ่มมีรายได้รวมกันในปี 2560 ที่ผ่านมากว่า 10 ล้านบาท

ด้วยความพิเศษของปลานิล ในระบบน้ำไหลของ อ.เบตง ที่มีลักษณะแตกต่างจากปลานิลที่เลี้ยงในพื้นที่อื่นๆ ทางกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิล จึงปรึกษากับตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอให้ “ปลานิล-เบตง” ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อให้ปลานิลในพื้นที่เชิงเขาสันกาลาคีรี เป็นที่รู้จักในระดับโลกต่อไป